ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สาสน”
คำว่า สาสน เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า สา - สะ - นะ] แปลว่า คำสอน, เป็นคำกว้างๆ ขึ้นอยู่กับว่า จะเป็นคำสอนของใคร ถ้าเป็นคำสอนของผู้ไม่รู้ความจริง สอนให้ติดข้อง สอนให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความเห็นผิด ด้วยความไม่รู้ สอนให้ยึดถือในบุคคลต่างๆ นั่นไม่ใช่คำสอนที่จะทำให้เข้าใจความจริง ผู้ที่สอนในทางที่ผิดอย่างนี้ เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ทั้งผู้ที่ได้ฟังคำสอนของเขา ก็ไม่บริสุทธิ์เพราะเชื่อและยึดถือในสิ่งที่ผิด ผู้ที่สอนในทางที่ผิด ไม่ได้แสดงความจริง ไร้การปฏิบัติชอบ ย่อมไม่บริสุทธิ์ ไม่สามารถพ้นจากสังสารวัฏฏ์ไปได้ เพราะคำสอนไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ แต่ถ้าเป็นคำสอนของบุคคลผู้ทรงตรัสรู้ความจริง คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ย่อมเป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก แต่ละคำๆ มีค่าเป็นอย่างมาก แสดงถึงความจริงโดยตลอด ควรค่าแก่การศึกษาให้เข้าใจเป็นอย่างยิ่ง ในกาลสมัยนี้ พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงยังดำรงอยู่ เป็นศาสดาแทนพระองค์ ดังข้อความจากพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ว่า
“ธรรมก็ดี วินัยก็ดี อันใด อันเรา (ตถาคต) แสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัย อันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ เมื่อเป็นความจริง ก็ย่อมจะพิสูจน์ได้ทุกกาลสมัย ธรรมเป็นความจริงที่จะไม่แปรเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีที่ทรงแสดงความจริงเป็นอย่างไร ก่อนหน้านั้นหรือว่าต่อไปในภายหน้าอีกนานแสนนาน ความจริงนี้ก็ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น นี้คือความหมายของธรรม คือ สิ่งที่มีจริงทั้งหมด และผู้ที่ทรงแสดงสภาพธรรมได้โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง ก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมตลอด ๔๕ พรรษา ด้วยพระหฤทัยที่ประกอบด้วยพระมหากรุณาที่มีต่อสัตว์โลก ให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก พ้นจากกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง มีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง มากมาย นับไม่ถ้วน แล้วพระธรรมคำสอนก็มีการทรงจำสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันเป็นพระไตรปิฎก (คำสอน ๓ หมวดหมู่) คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งทั้งสามปิฎกนั้นมีคุณค่ามากมายหาอะไรเปรียบไม่ได้เลย ถ้าได้ศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ
พระวินัยปิฎก ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของความประพฤติทางกาย ทางวาจา สำหรับเพศบรรพชิต, บรรพชิต แตกต่างจากคฤหัสถ์มาก ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องนุ่งห่มเท่านั้นที่แสดงถึงความเป็นบรรพชิต แต่ต้องเป็นใจที่สามารถสละ ละความติดข้องในการอยู่ครองเรือน ละทรัพย์สมบัติทุกอย่างทุกประการ มุ่งสู่เพศบรรพชิตเพื่อที่จะอบรมเจริญปัญญา ตามหนทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จนถึงสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ สูงสุด คือ ถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่การอบรมเจริญปัญญาก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะเพศบรรพชิตเท่านั้น คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนก็สามารถอบรมเจริญปัญญาได้เช่นเดียวกัน จึงสำคัญที่ปัญญา ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีพระอริยบุคคลมากมายที่เป็นคฤหัสถ์โดยที่ไม่ได้ออกบวชเป็นบรรพชิต เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นต้น
พระสุตตันตปิฎก เป็นพระธรรมเทศนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ณ สถานที่ต่าง ๆ ทรงปรารภบุคคลต่างๆ มีความหลากหลาย ตามอัธยาศัยของผู้ฟัง
พระอภิธรรมปิฎก ไม่มีชื่อของสัตว์ บุคคล แต่เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง
เพราะฉะนั้น ความต่างกันของ ๓ ปิฎก คือ พระวินัยปิฎก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของบรรพชิต พระสุตตันตปิฎก เป็นข้อความธรรมที่มีการกล่าวถึงบุคคลต่างๆ เช่น ท่านพระสารีบุตร ท่านพระอานนท์ พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นต้น แต่เมื่อถึงพระอภิธรรมปิฎก ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงโดยไม่ต้องมีชื่อของสัตว์บุคคลใดๆ เลยทั้งสิ้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้มีพระคุณต่อสัตว์โลกเป็นอย่างยิ่ง ทรงเป็นผู้ประกอบด้วยพระบริสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาคุณ ถ้าพุทธบริษัทไม่ศึกษาพระธรรมคำสอนที่พระองค์ทรงแสดง ก็จะไม่ทราบถึงพระคุณเหล่านี้ของพระองค์ได้เลย
เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงพระธรรมโปรดสัตว์โลกตลอด ๔๕ พรรษา ซึ่งวันหนึ่งๆ พระองค์ทรงพักผ่อนน้อยมาก ทรงพิจารณาถึงบุคคผู้ที่พระองค์จะเสด็จไปโปรด เพื่อจะให้บุคคลนั้นได้เข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่มีจริง อะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าวันนั้นเขาจะยังไม่สามารถเข้าใจธรรมได้โดยตลอดทั้งหมด แต่เมื่อได้ฟังครั้งหนึ่งแล้ว ต่อไปเขาคงได้ฟังอีก แล้วก็คงจะเข้าใจอีก เพราะว่าแต่ละบุคคลต้องมีการเริ่มต้น ถ้าไม่เริ่มต้นที่จะฟัง ที่จะศึกษาเลย ก็จะไม่สามารถเข้าใจพระธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งได้
เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมซึ่งเป็นคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง คือ พระพุทธศาสนา นั้น ก็จะต้องเริ่มจากครั้งที่หนึ่ง ไปครั้งที่สอง ไปครั้งที่สาม ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสามารถเข้าใจตามความเป็นจริงได้ ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง เมื่อเข้าใจธรรมมากขึ้น ก็จะทำให้เห็นถึงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้น จึงสำคัญอยู่ที่การมีโอกาสได้ฟังคำของพระองค์ คือ พระธรรมคำสอนอันเกิดจากการทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ
ขออนุโมทนาครับ