[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 150
พาลวรรคที่ ๕
ว่าด้วยคนพาลร้ายกว่าทุกอย่าง
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 41]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 150
คาถาธรรมบท
พาลวรรคที่ ๕ (๑)
ว่าด้วยคนพาลร้ายกว่าทุกอย่าง
[๑๕] ๑. ราตรีของคนผู้ตื่นอยู่ นาน โยชน์ของคนล้าแล้ว ไกล สงสารของคนพาลทั้งหลาย ผู้ไม่รู้อยู่ซึ่งสัทธรรม ย่อมยาว.
๒. ถ้าบุคคลเมื่อเที่ยวไป ไม่พึงประสบสหาย ผู้ประเสริฐกว่า ผู้เช่นกับ (ด้วยคุณ) ของตนไซร้ พึงทำความเที่ยวไปคนเดียวให้มั่น เพราะว่า คุณเครื่องเป็นสหาย ย่อมไม่มีในเพราะคนพาล.
๓. คนพาลย่อมเดือดร้อนว่า บุตรทั้งหลายของเรามีอยู่ ทรัพย์ (ของเรา) มีอยู่ ตนแลย่อมไม่มีแก่ตน บุตรทั้งหลายจักมีแต่ที่ไหน ทรัพย์จักมีแต่ที่ไหน.
๔. บุคคลใดโง่ ย่อมสำคัญความที่ตนเป็นคนโง่ บุคคลนั้นจะเป็นบัณฑิต เพราะเหตุนั้นได้บ้าง ส่วนบุคคลใดเป็นคนโง่ มีความสำคัญว่าตนเป็นบัณฑิต บุคคลนั้นแล เราเรียกว่าคนโง่.
๕. ถ้าคนพาล เข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตอยู่ แม้จนตลอดชีวิต เขาย่อมไม่รู้ธรรม เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกง ฉะนั้น.
(๑) วรรคนี้ มีอรรถกถา ๑๕ เรื่อง.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 151
๖. ถ้าวิญญูชน เข้าไปนั่งใกล้บัณฑิต แม้ครู่เดียว เขาย่อมรู้แจ้งธรรมได้ฉับพลัน เหมือนลิ้นรู้รสแกง ฉะนั้น.
๗. ชนพาลทั้งหลาย มีปัญญาทราม มีตนเป็นดังข้าศึก เที่ยวทำกรรมลามกซึ่งมีผลเผ็ดร้อนอยู่.
๘. บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง เป็นผู้มีหน้าชุ่มด้วยน้ำตา ร้องไห้เสวยผลของกรรมใดอยู่ กรรมนั้น อันบุคคลกระทำแล้วไม่ดีเลย.
๙. บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลังเป็นผู้เอิบอิ่ม มีใจดี ย่อมเสวยผลของกรรมใด กรรมนั้นแล อันบุคคลทำแล้วเป็นกรรมดี.
๑๐. คนพาล ย่อมสำคัญบาปประดุจน้ำผึ้ง ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล ก็เมื่อใดบาปให้ผล เมื่อนั้น คนพาลย่อมประสบทุกข์.
๑๑. คนพาล พึงบริโภคโภชนะด้วยปลายหญ้าคาทุกๆ เดือน เขาย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งท่านผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว.
๑๒. ก็กรรมชั่วอันบุคคลทำแล้วยังไม่ให้ผล เหมือนน้ำนมที่รีดในขณะนั้นยังไม่แปรไป ฉะนั้น บาปกรรมย่อมตามเผาคนพาล เหมือนไฟอันเถ้ากลบไว้ ฉะนั้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 152
๑๓. ความรู้ย่อมเกิดแก่คนพาล เพียงเพื่อความฉิบหายเท่านั้น ความรู้นั้นยังหัวคิดของเขาให้ตกไป ย่อมฆ่าส่วนสุกกธรรมของคนพาลเสีย.
๑๔. ภิกษุผู้พาล พึงปรารถนาความยกย่องอันไม่มีอยู่ ความแวดล้อมในภิกษุทั้งหลาย ความเป็นใหญ่ในอาวาส และการบูชาในตระกูลแห่งชนอื่น ความดำริย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้พาลว่า คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งสองจงสำคัญกรรมอันเขาทำเสร็จแล้ว เพราะอาศัยเราผู้เดียว จงเป็นไปในอำนาจของเราเท่านั้น ในกิจน้อยใหญ่กิจไรๆ ริษยาและมานะย่อมเจริญ (แก่เธอ).
๑๕. ก็ข้อปฏิบัติอันเข้าไปอาศัยลาภ เป็นอย่างอื่น ข้อปฏิบัติอันยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน เป็นอย่างอื่น (คนละอย่าง) ภิกษุผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าทราบเนื้อความนั้นอย่างนี้แล้ว ไม่พึงเพลิดเพลินสักการะ พึงตามเจริญวิเวก.
จบพาลวรรคที่ ๕.