ถ้าจิตรู้สี แล้วเจตสิกที่เหลือทำงานต่อเนื่องร่วมกันกับจิตอย่างไร
โดย lokiya  17 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 40397

แล้วเจตสิกทั้งหมดที่เกิดกับจิตรู้สี จะมุ่งตรงต่อสีที่ปรากฏทั้งหมดเลยใช่ไหมครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 18 พ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องมีความเข้าใจในความเป็นจริงของจิต ว่า จิต เป็นธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม จิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิต ไม่ว่าจะเป็นจิตที่เกิดขึ้นทางทวารใด หรือ เกิดโดยไม่อาศัยทวารใดเลย มีลักษณะเดียวคือ มีการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์เป็นลักษณะ ที่จิตมีความหลากหลายแตกต่างกันไป นั้นเพราะเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย เพราะอารมณ์ต่างกันเป็นต้น จะเห็นได้ว่า ชีวิตประจำวัน ไม่เคยขาดจิตเลยแม้แต่ขณะเดียว มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันทีเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงกาละที่อบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้งพระนิพพานดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ถึงความเป็นพระอรหันต์ เมื่อดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีการเกิดอีก ไม่มีจิตเกิดขึ้นอีกเลย เพราะได้ดับเหตุคือกิเลสที่จะเป็นเหตุให้มีการเกิดได้แล้ว

จิต มีลักษณะเพียงรู้แจ้งซึ่งอารมณ์เท่านั้น กระทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไป จิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จิตเป็นสังขารธรรมที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ เมื่อจิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกประการต่างๆ เกิดร่วมด้วย และมีอารมณ์ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ

เจตสิก หมายถึงสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และสำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต เจตสิกมีมากมายถึง ๕๒ ประเภท มีผัสสะ เวทนา สัญญา เป็นต้น เป็นจริงแต่ละหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะของตนๆ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไป เจตสิกย่อมเกิดขึ้นกับจิตตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ

สิ่งที่มีจริงคือเจตสิก จึงหมายถึง สภาพธรรมที่ประกอบกับจิต คือเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน เกิดที่เดียวกัน และรู้อารมณ์เดียวกันกับจิต จึงเป็นสัมปยุตตธรรมซึ่งกันและกัน เพราะเป็นนามธรรมที่สามารถกลมกลืนกันได้อย่างสนิท เจตสิกมี ๕๒ ดวง (ประเภท)

เจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมจิต และ รู้อารมณ์เดียวกับจิต เป็นธาตุรู้ เพราะเป็นธาตุรู้ จึงเป็นนามธรรมด้วย ครับ ทั้งจิต และ เจตสิก ครับ

ดังนั้นจิตเห็นที่รู้สี เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็รู้อารมณ์เดียวกับจิต คือ สี เช่นกัน ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย lokiya  วันที่ 18 พ.ย. 2564

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย chatchai.k  วันที่ 18 พ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย khampan.a  วันที่ 18 พ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนก่อนต้องเข้าใจก่อนว่า เจตสิก คือ อะไร เจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ประกอบพร้อมกับจิต โดยไม่แยกจากกันกับจิตเลย ตามข้อความใน[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๐๒ ดังนี้
"สภาพธรรมที่ประกอบกับจิต โดยไม่พรากจากกัน ชื่อว่า เจตสิก"

ธรรมที่เป็นเจตสิก เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว มีดังนี้ .-

ธรรมเป็นเจตสิก เป็นไฉน?

เวทนาขันธ์ (ความรู้สึก) สัญญาขันธ์ (ความจำ) สังขารขันธ์ (สภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิต มีผัสสะ สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์ เจตนา ความจงใจ เป็นต้น) สภาพธรรมเหล่านี้ ชื่อว่า ธรรมเป็นเจตสิก.


เมื่อจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ (อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้) รู้อารมณ์ใด เจตสิกที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต ก็รู้อารมณ์เดียวกันกับจิตนั้น ซึ่งเป็นการรู้โดยกิจหน้าที่ของตนๆ เช่น ผัสสะ รู้อารมณ์โดยการกระทบอารมณ์ เวทนา รู้อารมณ์โดยการรู้สึกในอารมณ์นั้น สัญญา รู้อารมณ์โดยการจำหมายในอารมณ์ นั้น เป็นต้น ทั้งหมด เป็นธรรม ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่เรา ครับ
...ยินดีในความดีอของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 5    โดย lokiya  วันที่ 18 พ.ย. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ