[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 453
๑๒. เรื่องนางกิสาโคตมี [๒๗๕]
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 453
๑๒. เรื่องนางกิสาโคตมี [๒๗๕]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ทรงปรารภนางกิสาโคตมี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ปํสุกูลธรํ" เป็นต้น.
นางโคตมีเห็นท้าวสักกะ
ได้ยินว่า ในกาลนั้นท้าวสักกะเข้าไปเฝ้าพระศาสดา พร้อมกับเทวบริษัท ในที่สุดแห่งปฐมยาม ถวายบังคมแล้วประทับนั่ง ทรงสดับธรรมกถาอันเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงอยู่ ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง.
ในขณะนั้น นางกิสาโคตมีคิดว่า "เราจักเฝ้าพระศาสดา" เหาะมาทางอากาศแล้ว เห็นท้าวสักกะ จึงกลับไปเสีย (๑) ท้าวเธอทอดพระเนตร เห็นนางผู้ถวายบังคมแล้ว กลับไปอยู่ ทูลถามพระศาสดาว่า "พระเจ้าข้า ภิกษุณีนั่นชื่อไร พอมาเห็นพระองค์แล้วก็กลับ."
นางกิสาโคตมีเลิศทางทรงผ้าบังสุกุล
พระศาสดาตรัสว่า "มหาบพิตร ภิกษุณีนั่น ชื่อกิสาโคตมี เป็นธิดาของตถาคต เป็นยอดแห่งพระเถรีผู้ทรงผ้าบังสุกุลทั้งหลาย" ดังนี้ ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
๑๒. ปํสุกูลธรํ ชนฺตุํ กิสนฺธมนิสนฺถตํ เอกํ วนสฺมิํ ฌายนฺตํ ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ.
"เราเรียกชนผู้ทรงผ้าบังสุกุล ผู้ผอมสะพรั่ง ด้วยเอ็น ผู้เพ่งอยู่ผู้เดียวในป่านั้นว่า เป็นพราหมณ์."
(๑) การเที่ยวไปกลางคืนเสมอๆ ภิกษุณีมิได้ประพฤติ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 454
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กิสํ ความว่า ก็ชนทั้งหลายผู้ทรงผ้าบังสุกุล บำเพ็ญข้อปฏิบัติอันสมควรแก่ตน ย่อมเป็นผู้มีเนื้อและโลหิตน้อย และเป็นผู้มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็น. เหตุนั้น พระศาสดาจึงตรัสอย่างนั้น.
สองบทว่า เอกํ วนสฺมิํ ความว่า เราย่อมเรียกบุคคลผู้เพ่งอยู่ผู้เดียวในที่สงัดนั้นว่า เป็นพราหมณ์.
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
เรื่องนางกิสาโคตมี จบ.