อเหตุกเหตุ กับ นเหตุ มีความต่างกันอย่างไรครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนอื่นต้องมีความเข้าใจก่อนว่า ธรรมที่เป็นเหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ ประเภท เท่านั้นได้แก่ โลภเจตสิก , โทสเจตสิก, โมหเจตสิก, อโลภเจตสิก, อโทสเจตสิกและ อโมหะ คือ ปัญญาเจตสิก เจตสิก ๖ ประเภทนี้ เรียกว่า ธรรมที่เป็นเหตุ,ธรรมที่เหลือนอกจากนี้ ได้แก่ จิตทั้งหมด เจตสิก ๔๖ ที่เหลือจากเจตสิก ๖ , รูปทั้งหมด และ นิพพาน เป็น นเหตุ (คือ ไม่ใช่เหตุ) สำหรับ คำว่า อเหตุกะ หมายถึง ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย มีนัยที่กว้างขวางมาก แต่ก็สามารถที่จะพิจารณาตามได้ว่า จิตและเจตสิกใดก็ตาม ที่ไม่เกิดร่วมกับธรรมที่เป็นเหตุเลย จิต นั้น เรียกว่า อเหตุกจิต (จิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย) และ เจตสิก นั้น เรียกว่าอเหตุกเจตสิก (เจตสิกที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย) ยกตัวอย่างเช่น จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ประเภทเท่านั้น จิตเห็น เป็น อเหตุกจิต และ เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตเห็น ก็เป็นอเหตุกเจตสิก , และอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ โมหเจตสิก ที่เกิดร่วมกับโมหมูลจิต เฉพาะโมหเจตสิก เท่านั้น ที่เป็นเหตุ แต่เขาไม่มีเหตุอื่นเกิดร่วมด้วยเพราะฉะนั้น โมหเจตสิก ในโมหมูลจิต เป็นอเหตุกะ คือ ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย แต่โมห-มูลจิต เป็นจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย คือ มีโมหเหตุเกิดร่วมด้วย จึงเป็น สเหตุกะ ไม่ใช่-อเหตุกะ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก จึงต้องค่อยๆ ศึกษา สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ครับ ในพระอภิธรรมปิฎก แสดงไว้ละเอียดไปถึงว่า รูปธรรม และ นิพพาน ก็เป็นอเหตุกะ ด้วย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาพิจารณาร่วมกัน ขอยกข้อความจากพระไตรปิฎกมาประกอบ ดังนี้ ครับ พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๙๘ ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า เหมือนอย่างว่า ธรรมทั้งหลายที่ไม่ใช่เหตุ ย่อมมีเหตุประกอบบ้าง ไม่มีเหตุประกอบบ้าง ฉันใดนั่นแหละ ธรรมทั้งหลายที่เป็นเหตุ ก็ย่อมมีเหตุประกอบบ้าง ไม่มีเหตุประกอบบ้าง ฉันนั้น, ก็เหตุธรรม เป็นสเหตุกะบ้าง เป็นอเหตุกะบ้าง ฉันใด ธรรมที่เป็นนเหตุธรรม ก็เป็นเหตุสัมปยุตตะบ้าง เป็นเหตุ-วิปปยุตตะบ้าง ฉันนั้น. จากคำถามข้อที่ ๑ ที่ว่า อเหตุกเหตุ พยัญชนะตรงๆ ยังไม่ชัดเจน แต่ถ้าเทียบเคียงจากพระไตรปิฎกที่ยกมา สามารถเข้าใจได้ว่า หมายถึง เหตุ ที่ไม่มีเหตุอื่นเกิดร่วมด้วย ก็ได้แก่ โมหเหตุ ในโมหมูลจิต นั่นเอง ครับ
ส่วนคำถามข้อที่ ๒ นั้น สภาพธรรมที่เป็นเหตุ จะไม่ใช่เหตุ ไม่มี, แต่ ธรรมที่เป็นเหตุ ซึ่งไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย มี ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขออนุโมทนาครับ
สิ่งที่เรียนมา ศึกษามาใดๆ ในโลก ก็ไม่ประเสริฐเท่ากับการเรียนพระพุทธพจน์
ซึ่งก็คือ พระธรรมวินัย การศึกษาพระธรรมควรศึกษาให้เข้าถึงตัวจริงของธรรม
พระธรรมเป็นของละเอียด ลึกซึ้งมาก ควรค่อยๆ อบรมความเข้าใจไปทีละน้อยๆ
ไม่ควรคิดเองหรือสรุปเองง่ายๆ พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญบารมีถึงสี่อสงไขยแสนกัปป์
ทรงแสดงธรรมถึง ๔๕ พรรษา จึงควรเป็นผู้ละเอียดในการศึกษา
พระสัจธรรม...พระพุทธองค์ทรงเป็นพระศาสดาเท่านั้น
ไม่ใช่บุคคลอื่น ท่านอื่น หรืออาจารย์อื่นใดทั้งสิ้น
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ