ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
การลงประชามติหรือในการลงความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งในทางโลกนั้น ก็ด้วยการพิจารณาในเหตุผล ด้วยความเข้าใจตามข้อมูลที่ได้รับทราบ ซึ่งไม่ใช่ปัญญาในพระพุทธศาสนา ส่วนในการคิดหรือลงความเห็นด้วยปัญญาในพระพุทธศาสนา ย่อมแตกต่าง เพราะไม่ได้ยึดถือจำนวนเป็นเครื่องตัดสินว่าสิ่งนี้ถูกหรือผิด แต่ธรรมหรือความจริงนั้น เป็นสิ่งที่จริงโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าขาดความเข้าใจ (ปัญญา) ที่จะไปรู้ความจริงนั้นต่างหากครับ
ความจริงในพระพุทธศาสนานั้น มีอยู่ในขณะนี้และก็ไม่พ้นไปจากตัวเรา เห็นเป็นความจริงไหม เป็นความจริงเพราะเป็นสิ่งที่มีจริง ได้ยินมีจริงไหม เสียงมีจริงไหม โกรธมีจริงไหม ซึ่งความจริงนั้นก็ไม่พ้นไปจากทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
รู้ความจริงได้อย่างไร ความจริงที่มีอยู่ แต่ผู้ไม่มีปัญญา ย่อมสำคัญในความจริงคลาดเคลื่อนไปคือ สำคัญความจริงที่มีอยู่ว่า เที่ยง เป็นสุข เป็นเรา เป็นสัตว์บุคคล และงาม เป็นต้น ดังในชีวิตประจำวันที่สำคัญว่า เป็นเราที่เห็น เป็นเราที่ได้ยิน เป็นเราที่โกรธ อย่างนี้ไม่ชื่อว่ารู้ความจริง การจะรู้ความจริงต้องอบรมปัญญาขั้นการฟังว่า ความจริงหรือธรรมคืออะไร ความจริงอยู่ในขณะนี้ ไม่ต้องไปหาที่อื่น บังคับให้รู้ความจริงไม่ได้ เพราะสภาพธรรมที่รู้ความจริง (สติและปัญญา) เป็นอนัตตา และเมื่อฟังจนเข้าใจ เหตุปัจจัยพร้อม ก็สามารถรู้ความจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ก็คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิดนั่นเองอันเริ่มมาจากการฟังให้เข้าใจ
การลงประชามติ (ความเห็น) ในทางพระพุทธศาสนาจึงเกิดจากปัญญา ความเห็นถูก ไม่ได้อยู่ที่จำนวน หนทางมีหลายหนทางให้ท่านเลือก หนทางถูกมีหนทางเดียว ขึ้นอยู่กับปัญญาของแต่ละท่านแล้วละว่า จะเลือกหนทางไหน คือ หนทางที่ระลึกสภาพธัมมะที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรม หรือหนทางอื่น เพราะถ้าเลือกผิด ท่านก็จะได้ผู้ปกครองที่ไม่ดีตลอดไปคือกิเลสนั่นเอง เลือก เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ละครับ สำหรับหนทาง การระลึกสภาพธัมมะที่มีในขณะนี้ ว่าเป็นธรรม โดยเริ่มจากการฟังให้เข้าใจเสียก่อน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเห็นถูกนั่นเองในการเลือกครั้งนี้
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
เห็นด้วยค่ะ กับหนทางที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา
ขออนุโมทนาค่ะ
ดิฉันก็ไปลงประชามติ โดยใคร่ควรตามเหตุผล ข้อดี ข้อเสีย ผลออกมาตามที่คาดคะเน คือผ่านความเห็นชอบของประชาชน ซึ่งก็คงไม่ถูกใจทุกคน ผู้ที่เสียผลประโยชน์ก็คงไม่ถูกใจ ผู้ที่ได้ผลประโยชน์ ก็คงถูกใจ เป็นของธรรมดา คงไม่มีใครทำได้ดีเลิศหมดทุกเรื่อง
ไม่เห็นด้วยครับ ...
ไม่เห็นด้วย ...
ไม่เห็น ในขณะนี้ ...
แต่จะเห็น ในขณะไหน
จะเห็นในชาติไหน
ถ้าไม่รู้หนทาง ก็ไม่มีโอกาสได้เห็น
(" เห็น " ในที่นี้ หมายถึง " ประจักษ์แจ้ง " พระนิพพาน)
การลงประชามติในทางการเมืองมีแค่เพียง ๒ ความเห็น คือ เห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วยซึ่งจะลงประชามติฝั่งไหนก็เป็นเพียง "โลกของบัญญัติ" เท่านั้น แต่การลงประชามติในทางพระพุทธศาสนาเป็น "โลกของปรมัตถ์" ประกอบด้วย ความเห็นด้วยในความเห็นผิด (ไม่เห็นด้วยในความเห็นถูก) หรือประกอบด้วย ความเห็นด้วยในความเห็นถูก (ไม่เห็นด้วยในความเห็นผิด) เพราะมีความพอใจ (ฉันทะ) ในความเห็นด้วยจากเหตุที่ไม่เห็นด้วยนั้นๆ จึงพอใจที่จะ "เห็นด้วยกับเหตุให้เกิดอกุศลจิต" (ไม่เห็นด้วยกับเหตุให้เกิด กุศล) หรือพอใจที่จะ "เห็นด้วยกับเหตุให้เกิดโสภณจิต" (ไม่เห็นด้วยกับเหตุให้เกิด อกุศล) จะพอใจในความเห็นด้วยแบบไหน ก็ไม่มี "เรา" ที่จะเลือกเอาตามใจชอบแต่เป็น "ธรรม" ที่มีสิทธิเลือก ซึ่งธรรมที่มีสิทธิลงประชามติในทางพระพุทธศาสนาได้แก่ "อวิชชา" และ "ปัญญา" ครับ
หากเห็นด้วยในความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เป็นสิ่งที่ "อวิชชา" เลือก คือ
เลือกที่จะใคร่ ชอบพอ ติดข้อง พอใจอย่างมาก ก็ยังเป็น โลภะเหตุ
เลือกที่จะเศร้าหมอง ขุ่นเคือง ไม่พอใจ เร่าร้อน ก็ยังเป็น โทสะเหตุ
เลือกที่จะยังสับสน ไม่รู้ในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ยังเป็น โมหะเหตุ
แต่ หากเห็นด้วยในความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ) เป็นสิ่งที่ "ปัญญา" เลือก คือ
เลือกที่จะละคลายในความติดข้อง น้อมไปเพื่อการสละ ก็จะเป็น อโลภะเหตุ
เลือกที่จะไม่โกรธ มีเมตตาจิต มีความเป็นมิตร ก็จะเป็น อโทสะเหตุ
เลือกที่จะคลายความสับสนไม่รู้ ในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็จะเป็น อโมหะเหตุ
ซึ่งในท้ายที่สุด ไม่มีใครสามารถจะสรุปผลคะแนนแพ้ ชนะได้เพราะอวิชชาปิดบังไม่ให้ใครรู้ผลคะแนนนี้ นอกจากปัญญาจากการเจริญสติปัฏฐานเท่านั้นที่จะรู้ได้เฉพาะตนว่า คะแนนลงประชามติในจิตของท่านเป็นเอกฉันท์ทางฝ่ายไหนและความเป็นกลางในธรรมจะนับคะแนนจากความเป็นผู้ตรงของท่านเองครับ
ขออนุโมทนา
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ยินดีในกุศลจิตค่ะ