ยังไม่ใช่การเจริญสติ นั่นเป็นพียงแต่การคิดนึก
โดย chatchai.k  11 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43781

ถ. อย่างสิ่งที่เราเห็น แต่ไม่อยากจะดู เป็นการกดธรรมไว้ใช่ไหม บังคับไว้ใช่ไหม เป็นตัวตนใช่ไหม

สุ. กำลังเห็น เห็นแล้ว บังคับได้ไหม ไม่ให้เห็นได้ไหม กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ก็คือเห็นแล้ว บังคับไม่ได้ เจริญสติระลึกได้ไหม ว่าสภาพที่กำลังเห็นนี้ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ระลึกอย่างนี้ได้ไหม การระลึกรู้อย่างนี้เป็นสติ แล้วปัญญาก็รู้ว่า ที่กำลังเห็นนี้ก็เป็นแต่เพียงสภาพรู้เท่านั้น เป็นการค่อยๆ คลาย ค่อยๆ ละทีละน้อย น้อยมาก แต่ว่าเป็นปัญญา รู้อย่างนี้เป็นปัญญาในขณะที่มีสติระลึกได้ ไม่ใช่เป็นปัญญาที่คิด แต่เป็นปัญญาในขณะที่กำลังเห็น แล้วก็มีการระลึกรู้ว่า เป็นสภาพที่รู้ทางตา หรือว่าเป็นสภาพรู้อย่างหนึ่งเท่านั้น ทีละเล็กทีละน้อยเพื่อละความไม่รู้ ไม่ใช่ทำอย่างอื่นเลย จนกว่าจะรู้ชัด และการรู้ชัดนี้รู้ไม่คลาดเคลื่อนจากปกติ

ถ. (ไม่ได้ยิน)

สุ. ยังไม่ใช่การเจริญสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป นั่นเป็นพียงแต่การคิดนึก

ถ. (ไม่ได้ยิน)

สุ. ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน เป็นการนึกไปในเรื่องของธรรมเท่านั้นเอง เพราะเหตุว่าการที่จะรู้ถูกตามความเป็นจริง ทางตากำลังมี ความจริงคืออะไร ในขณะนี้มีลักษณะอย่างไร เห็นเป็นของที่มีจริง ต้องรู้ว่าสภาพที่กำลังเห็น ที่กำลังเห็นปกติเป็นสภาพรู้ ส่วนสีสันวรรณะต่างๆ ก็เป็นของจริง ไม่ใช่ไม่จริง เพราะฉะนั้น เวลาที่มีสติระลึกก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง หมดไปแล้ว รถยนต์สวยก็ผ่านไปแล้ว คนเมื่อกี้นั่งอยู่กันมากมายก็หมดไปแล้ว เพราะเหตุว่าจิตระลึกถึงสิ่งใด หรือว่าสิ่งใดกำลังเกิดต่อ ก็หมายความว่า สภาพเมื่อครู่นี้ต้องหมดไป ดับไปเสียก่อน

ถ. (ไม่ได้ยิน)

สุ. ในขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ นั่นเป็นการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่การพิจารณาว่า ธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง โดยที่ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏ และกำลังไม่เที่ยง ทางตาก็กำลังไม่เที่ยง ทางหูก็กำลังไม่เที่ยง ทางจมูกก็กำลังไม่เที่ยง ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็กำลังไม่เที่ยง แต่ว่าผู้เจริญสติมีการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทีละอย่าง แล้วก็ไม่จำกัด ไม่เจาะจง เพราะเหตุว่าจะต้องรอบรู้ รู้ทั่ว จึงจะละความไม่รู้ได้

ถ. (ไม่ได้ยิน)

สุ. แน่นอนค่ะ ถ้าปัญญาไม่รู้ อะไรจะละ ไม่มีตัวตนที่ไปละ แต่ว่าปัญญามีกิจละ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง เข้าใจถูกต้องก็ละความเห็นผิดที่เกิดจากการไม่เคยได้ฟัง หรือว่าเคยเข้าใจผิดได้

ถ. (ไม่ได้ยิน)

สุ. อายตนะทั้ง ๖ ที่กำลังเห็นนี้ ระลึกรู้กำลังเห็น ไม่ใช่นึกถึงชื่ออายตนะ

ถ. (ไม่ได้ยิน)

สุ. ละทุกขณะที่รู้ ละไปทีละน้อยๆ เพิ่มความสมบูรณ์ขึ้นเป็นขั้นๆ

ถ. (ไม่ได้ยิน)

สุ. อย่างนั้นยาวเหลือเกิน ลักษณะของนามและรูปก็ดับไปทุกๆ ขณะ โดยที่ไม่ได้รู้ชัด เพราะว่ากำลังคิด ให้รู้ที่ลักษณะที่กำลังปรากฏ ถ้าลักษณะนั้นเป็นสภาพเย็น ก็รู้ว่าเป็นเพียงสภาพเย็นเท่านั้น ต่อไปเย็นอีกก็ระลึกรู้ วันหนึ่งๆ ก็มีเย็นบ้าง ร้อนบ้าง เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง

ถ. (ไม่ได้ยิน)

สุ. ทุกท่านมักจะคิดว่า ห้ามคิด ห้ามไม่ได้เลย พอเห็นก็คิด เย็นกระทบรู้สึกตัวก็คิดต่อไป ไม่ได้ห้ามไม่ให้คิด แต่ให้ทราบว่า การคิดก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ลักษณะที่รู้เย็น ไม่ใช่ลักษณะที่ได้ยิน ถ้าวันหนึ่งๆ ได้ยิน แล้วก็ระลึกได้ พิจารณารู้ลักษณะของได้ยินหรือเสียง เห็นตามความเป็นจริงว่า ทั้ง ๒ อย่างนั้นมีลักษณะต่างกัน ในขณะที่ระลึกได้ อาจจะคิดละ ไม่ห้าม เพราะเหตุว่าความคิดก็เกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย แต่ผู้ที่เจริญสติต้องละเอียดที่จะต้องรู้ว่า ขณะที่คิด ไม่ใช่ได้ยิน

ลักษณะที่ได้ยินก็อย่างหนึ่ง ลักษณะที่คิดเรื่องที่ได้ยินก็อีกอย่างหนึ่ง คิดก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน แต่คิดไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์

ถ. (ไม่ได้ยิน)

สุ. ถ้าคิดว่าเป็นปัจจัย ก็เป็นตัวตนที่กำลังคิด ไม่ได้รู้ลักษณะจริงๆ ของแต่ละอย่าง

ถ. (ไม่ได้ยิน)

สุ. มีหลายอย่าง คือฟังเข้าใจ แต่เวลาเจริญสติจริงๆ งง เพราะว่าความเป็นตัวตนมากมายทีเดียว ผู้ที่เจริญสติเป็นปกติ ไม่หวั่นไหวในอารมณ์ที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การละการคลายก็มีมากขึ้น แต่ว่าอารมณ์ที่กำลังปรากฏไม่ผิดปกติ อารมณ์เป็นปกติเหมือนทุกๆ วัน แต่ปัญญาที่รู้ชัดก็เพิ่มแล้วก็คลายการที่เคยไปยึดถือการที่จะไปจับจ้องจดจ้อง ในขณะนั้นเป็นลักษณะของความต้องการ เมื่อไม่จับจ้องไม่จดจ้อง สภาพของนามรูปแต่ละชนิดก็ปรากฏอย่างรวดเร็วตามสภาพของนามและรูปนั้นๆ และปัญญานั้นก็รู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของนามและรูปแต่ละขณะ ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน จึงจะเป็นการคลายมากขึ้น

ถ. สติถ้าไม่เจริญ จะเกิดได้ไหม

สุ. สติเป็นตัวตนหรือเปล่า มีเหตุปัจจัยให้สติเกิดไหม คนที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังเลย บรรดาเดียรถีย์ปริพาชกในครั้งพุทธกาลที่ไม่เคยได้ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาค กับบรรดาสาวกที่ได้ฟัง บุคคลใดเจริญสติ บุคคลใดไม่เจริญสติ ถ้าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ไม่มีอะไรเป็นเครื่องกั้น แล้วสติที่เป็นสัมมาสติก็จะเกิด


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 49