สติปัฏฐาน ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน
โดย chatchai.k  16 ต.ค. 2565
หัวข้อหมายเลข 44765

ข้อความใน มหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค ใน อุทเทสวารกถา มีว่า

หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้

พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑

พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑

พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑

พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑

เป็นการพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ที่กายจะมีลักษณะอะไรปรากฏก็ตาม ถ้าไม่เพียรพิจารณาสภาพที่เป็นกายนั้นเนืองๆ บ่อยๆ ก็ไม่สามารถประจักษ์ว่า เป็นแต่เพียงสภาวะลักษณะที่เกิดปรากฏแล้วหมดไป

และข้อความนี้สอดคล้องกับสติปัฏฐานอื่นที่ว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

เวทนา คือ ความรู้สึก ทุกท่านระลึกรู้ความรู้สึกของท่านได้ เฉยๆ หรือบางครั้งบางขณะดีใจ บางครั้งบางขณะเสียใจ สภาพความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นเป็นแต่เพียงธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ที่จะละการยึดถือว่าเป็นเราได้ ก็เพราะเหตุว่ามีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ

สำหรับในเรื่องของจิต ก็เช่นเดียวกัน มีข้อความว่า

พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่

จิตไม่ใช่รูป เป็นสภาพรู้ทางตา ทางหู ขณะใดที่กำลังได้กลิ่น เป็นลักษณะของนามธรรมที่รู้ เป็นลักษณะของจิต แต่ก็ยังคงเป็นเราอยู่ ถ้าไม่มีความเพียรที่จะพิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ ก็ไม่สามารถที่จะละคลายการยึดถือจิตได้

สำหรับธรรมทั้งหลาย ก็โดยนัยเดียวกัน

นี่เป็นข้อความใน อุทเทสวารกถา ของ มหาสติปัฏฐานสูตร


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 172