กฎเกณฑ์การบวชเป็นภิกษุณี
โดย นาวาเอกทองย้อย  28 พ.ค. 2554
หัวข้อหมายเลข 18442

กฎเกณฑ์ข้อหนึ่งในการบวชเป็นภิกษุณีที่ทราบกัน คือ สตรีที่จะบวชจะต้องถือศีล ๖ ข้อ (คือเว้นปาณาติบาต อทินนาทาน อพรหมจรรย์ มุสาวาท สุราปาน และวิกาลโภชน์) เป็นเวลาติดต่อกัน ๒ ปี ถ้าละเมิดข้อใดข้อหนึ่ง ต้องเริ่มนับเวลาใหม่ เมื่อถือครบกำหนดแล้วจึงบวชเป็นภิกษุณีได้

ขอทราบเป็นความรู้ว่า กฎเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นนั้นกำหนดไว้ตั้งแต่มีภิกษุณีองค์แรก หรือว่าเพิ่งกำหนดขึ้นในภายหลังเมื่อมีภิกษุณีสงฆ์แพร่หลายแล้ว

ที่ตั้งคำถามนี้เพราะสงสัยกรณีมารดาของพระกุมารกัสสปเถระที่ตามเรื่องระบุว่าคลอดบุตร (คือพระกุมารกัสสปเถระ) ในระหว่างที่เป็นภิกษุณีเนื่องจากตั้งครรภ์มาแล้วก่อนบวช

ถ้ากฎเกณฑ์ข้อนั้นกำหนดไว้ตั้งแต่แรก กรณีมารดาของพระกุมารกัสสปเถระจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

แต่ถ้ากำหนดขึ้นในภายหลัง มีหลักฐานระบุไว้บ้างหรือไม่ว่ากำหนดขึ้นในระยะไหนในช่วงเวลา ๔๕ พรรษาของพระพุทธองค์ และด้วยเหตุผลอะไร

ขอได้โปรดให้ความรู้เป็นวิทยาทาน ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 28 พ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

กฎเกณฑ์ในการบวชเป็นพระภิกษุณี มีหลายประการดังนี้ครับ

- ต้องบวชกับคณะสงฆ์ ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายภิกษุสงฆ์ ๑ ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ ๑

- ต้องถือครุธรรม ๘ ประการตลอดชีวิต

- สำหรับสตรีที่จะไปขอบวช ต้องเป็นนางสิกขมานา รักษาศีล ๖ ข้อ ไม่ขาดเลย ๒ ปี จึงจะบวชเป็นพระภิกษุณีได้ ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่งต้องเริ่มนับใหม่ให้ได้ ๒ ปี จึงจะบวชได้ครับ

ศีล ๖ ข้อที่ต้องถือห้ามขาด ตลอด ๒ ปี คือ

๑. งดเว้นจากปาณาติบาต

๒. งดเว้นจากอทินนาทาน

๓. งดเว้นจากอพรหมจรรย์ อันมีการเสพเมถุน เป็นต้น

๔. งดเว้นจากมุสาวาท

๕. งดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย

๖. งดเว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาลคือหลังเที่ยง

ซึ่งหลักเกณฑ์การบวชภิกษุณี ตามที่กล่าวมา มีเรื่องให้ถือศีล ๖ ข้อ ตลอด ๒ ปีนั้น ก็ มีพระบัญญัติตั้งแต่ต้นแล้วครับ ตั้งแต่ครั้งพระนางมหาปชาบดีขอบวช พระองค์ก็ทรงให้ภิกษุณีถือครุธรรม ๘ ประการ ซึ่งข้อหนึ่ง ก็คือ ผู้หญิงที่จะบวชจะต้องถือศีล ๖ ข้อ ตลอด ๒ ปี ห้ามขาด ถึงจะบวชเป็นภิกษุณีได้ครับ ดังนั้น พระบัญญัติแสดงไว้ตั้งแต่ครั้งแรก ตั้งแต่ต้นแล้วครับ


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 28 พ.ค. 2554

ประเด็นที่สงสัย คือ ศีล ข้อ ๓ คือ การงดเว้นจากการเสพเมถุน ซึ่งเรื่องที่ได้ยกตัวอย่างที่ทำให้สงสัย คือเรื่องมารดาของพระกุมารกัสสปะ ซึ่งเรื่องราวขอเล่าโดยย่อเพื่อประโยชน์กับผู้อ่านท่านอื่นครับ เรื่องก็เป็นดังนี้

มีธิดาเศรษฐีผู้หนึ่งมีศรัทธา ได้ฟังพระธรรม อยากจะบวชตั้งแต่ยังเด็กแต่ไม่ได้บวช เมื่อโตขึ้นก็ไปสู่เรือนสามี ต่อมานางตั้งครรภ์โดยไม่รู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ ตั้งครรภ์ตอนเป็นคฤหัสถ์ นางขออนุญาตสามีบวช สามีก็ให้บวช นางไปบวชในสำนักภิกษุณีที่เป็นฝักฝ่ายพระเทวทัต ต่อมาไม่นานอาการของคนท้องก็ปรากฏ พวกภิกษุณีก็รีบไปบอกพระเทวทัต พระเทวทัตก็กลัวเสียชื่อเสียง จึงบอกให้นางสึก แต่นางกล่าวว่าเราไม่ได้ล่วงศีล ขอให้เราได้พบพระศาสดา พระพุทธเจ้าจึงให้ตั้งการวินิจฉัยเรื่องนี้ โดยมีนางวิสาขามหาอุบาสิกา ตรวจดูระยะเวลาตั้งครรภ์และให้พระอุบาลีวินิจฉัยคดี ผลปรากฏว่า นางตั้งครรภ์ก่อนเป็นบวช คือตั้งครรภ์ตอนเป็นคฤหัสถ์ ไม่ใช่ล่วงศีลข้อ ๓ ตอนที่บวชแล้วครับ ดังนั้น จึงไม่ต้องสึก ต่อมานางก็คลอดบุตรเป็นพระกุมารกัสปปเถระนั่นเองครับ


ความคิดเห็น 3    โดย paderm  วันที่ 28 พ.ค. 2554

ประเด็นที่สงสัย คือในเมื่อบวชแล้ว และศีลนี้ต้องรักษาอย่างน้อย ๒ ปีจึงจะบวชได้ แต่ขอเรียนครับว่า ที่นางบวชได้เพราะตอนบวชเข้าไปยังเป็นนางสิกขมานา คือยังรักษาศีล ๖ ประการ ยังไม่ได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีครับ เพียงแต่เป็นนางสิกขมานารักษาศีล ๖ อยู่ในขณะนั้นครับ ดังนั้น นางประพฤติกรรมที่เป็นการเสพเมถุนที่เป็นของชาวบ้านเมื่อคราวเป็นคฤหัสถ์ แต่เมื่อบวชในที่นี้คือให้มารักษาศีล ๖ ข้อ เมื่อท่านคลอดแล้ว ท่านก็รักษาศีลจนครบ ๒ ปีแล้วจึงได้บวชเป็นภิกษุณีครับ ไม่ใช่ว่าพอได้บวชก็เป็นภิกษุณีเลย ทำให้สงสัยว่าถ้าเป็นภิกษุณีเลย ต้องนับเวลาถอยหลังไป ๒ ปีที่รักษาศีล มีข้อ ๓ ที่งดเว้นจากการเสพเมถุน ในเมื่อท่านท้องท่านก็ต้องล่วงศีล แต่ประเด็นคือเมื่อให้บวช ไม่ใช่เป็นพระภิกษุณีทันที แต่เมื่อบวชก็รักษาศีล ๖ ข้ออยู่ครับ

ดังนั้น เมื่อท่านตั้งครรภ์ก่อนคือยังเป็นคฤหัสถ์ ท่านจึงรักษาศีล ๖ ต่อไปได้ เพราะท่านไม่ล่วงศีลตอนเป็นนางสิกขมานาและรักษาครบ ๒ ปี ก็ได้อุปสมบทครับ

ส่วนหลักฐานในพระบัญญัติเรื่องสิกขาบท ๖ ข้อ ของการจะบวชเป็นพระภิกษุณีที่บัญญัติตั้งแต่ต้นแล้ว

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ... ครุธรรม ๘ ประการ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 4    โดย khampan.a  วันที่ 29 พ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การศึกษาพระธรรมวินัย ความเป็นผู้ละเอียด เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะว่าต้องมีการไตร่ตรองพิจารณาตามข้อความหรือพยัญชนะที่ปรากฏให้ละเอียดจริงๆ พร้อมกับศึกษาจากหลักฐานที่ปรากฏในส่วนอื่นๆ ประกอบกัน ก็จะทำให้มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น และความสงสัยก็จะลดน้อยลง ประโยชน์จริงๆ ก็เพื่อเข้าใจ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพิจารณาเห็นว่าธรรมดาแล้ว สตรีเป็นเพศที่โลเล จะบำเพ็ญสิกขาบทให้บริบูรณ์ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก
เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะได้เป็นพระภิกษุณี จะต้องเป็นสิกขมานา ศึกษาและดำรงมั่นอยู่ในธรรม ๖ ประการ (ตามที่กล่าวถึง) เป็นเวลา ๒ ปี ก่อน ซึ่งเมื่อได้ศึกษาแล้ว จักไม่ลำบากในภายหลัง คือจักสามารถรักษาสิกขาบทข้อต่างๆ ให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้นได้ เมื่อครบ ๒ ปี จึงจะสามารถบวชเป็นภิกษุณี จากสงฆ์ ๒ ฝ่ายได้ และจะมีสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ได้ว่า "ภิกษุณีใด ยังสิกขมานา ผู้ยังมิได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการ ตลอดสองฝน (สองปี) ให้บวช เป็นปาจิตตีย์" ดังนั้น ก่อนที่จะได้เป็นพระภิกษุณี จึงต้องศึกษาและตั้งมั่นอยู่ในธรรม ๖ ประการ เป็นเวลา ๒ ปี ก่อนครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ. ทองย้อย, คุณผเดิมและทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 5    โดย นาวาเอกทองย้อย  วันที่ 29 พ.ค. 2554

ขอขอบพระคุณท่านที่มีเมตตาให้ความรู้ เป็นอย่างสูง

ขอย้ำประเด็น เพื่อจะได้ถามและตอบด้วยความเข้าใจตรงกัน ดังนี้ครับ

๑. สตรีจะบวชเป็นภิกษุณีต้องรักษาศีล ๖ ข้อ (เข้าใจตรงกันนะครับว่าข้อไหนบ้าง) อย่างเคร่งครัด เป็นเวลา ๒ ปี ประเด็นนี้กระผมสงสัยว่าเป็นกฎเกณฑที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรกมีภิกษุณี หรือเพิ่งมากำหนดขึ้นในภายหลังเมื่อมีภิกษุณีแพร่หลายแล้ว

ท่าน paderm กรุณาตอบว่า เป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น เป็นอันว่าตอบตรงกับที่ถาม

๒. กระผมสงสัยว่า ถ้าเป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น กรณีมารดาของพระกุมารกัสสปเถระจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะในระยะ ๒ ปี ก่อนที่จะบวชเป็นภิกษุณีนางย่อมจะไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับสามี ตามศีลข้อ ๓ แต่ตามเรื่องราวปรากฏว่า นางตั้งท้องมาก่อนที่จะบวช กระผมจึงสงสัยว่าจะตั้งท้องได้อย่างไรในเมื่อกำลังอยู่ในระยะรักษาศีล ๖ ข้อก่อนบวช สมมติว่าตั้งท้องวันนี้ แล้วพรุ่งนี้เข้าไปเริ่มรักษาศีล นางก็จะต้องคลอดบุตรภายในระยะเวลา ๒ ปีที่กำลังเป็น สิกขมานา อยู่นั่นเอง

ท่าน paderm ตอบว่า ภายใน ๒ ปีนั้นนางยังไม่ได้บวชเป็นภิกษุณี เป็นอันได้คำตอบที่กระผมไม่ได้ถาม คือกระผมไม่ได้ถามว่าในระยะที่เป็นสิกขมานานั้นถือว่า "บวช" แล้วหรือยัง แต่ก็เป็นอันได้ความรู้ ว่า อาจมีสตรีตั้งท้องและคลอดบุตรในระหว่างถือศีลเป็นนางสิกขมานาได้ ไม่ใช่เรื่องที่ควรสงสัย เพราะสตรีผู้นั้นอาจตั้งท้องมาก่อนที่จะเข้ามาเป็นสิกขมานา แต่คำตอบที่สำคัญก็คือ ในระหว่างเป็นสิกขมานานั้นถือว่า "ยังไม่ได้บวช" คือยังไม่ได้เป็นภิกษุณี

เมื่อท่านได้กรุณาให้คำตอบอันเป็นความรู้มาดังนี้ ก็เลยเป็นเหตุให้สงสัยต่อไปว่า

๑. ถ้า "ยังไม่ได้บวช" ทำไมพระเทวทัตจึง "บอกให้นางสึก" (ตามคำของท่าน paderm) ถ้าไม่ได้บวช แล้วจะสึกกันอย่างไร หรือว่าเป็นคำพูดที่ละไว้ฐานเข้าใจ หมายความเพียงแค่ว่าบอกให้พ้นไปจากสถานภาพสิกขมานา (ตอนนั้นนางยังเป็นสิกขมานาอยู่) แต่ใช้ภาษาคลุมๆ ไปว่า "สึก"

๒. ตามเรื่องในคัมภีร์ ทุกแห่งที่เล่า "เหตุการณ์ตอนนี้" ไว้ ท่านใช้คำว่า "ภิกษุณี" สำหรับมารดาของพระกุมารกัสสปเถระ ไม่ได้เรียกว่า "สิกขมานา" เลย และไม่มีข้อความใดที่ระบุว่าตอนนั้นนางยังเป็นสิกขมานาอยู่ ใจความของเรื่องระบุชัดว่าขณะนั้นนางเป็นภิกษุณีอยู่แล้ว ประเด็นนี้ขอได้โปรดตรวจสอบด้วยครับ กระผมอาจเข้าใจสำนวนภาษาในคัมภีร์ผิดไปก็ได้

ถ้ามีหลักฐานว่า กฎเกณฑ์ที่ต้องเป็นสิกขมานา ๒ ปีก่อน นี้ เป็นข้อที่กำหนดขึ้นในภายหลัง กระผมก็จะไม่สงสัย เพราะอาจมีคำตอบว่ากรณีมารดาของพระกุมารกัสสปเถระนี้ เกิดขึ้นก่อนที่จะมีหลักเกณฑ์ข้อนี้ หมายความว่าก่อนหน้านี้สตรีที่จะบวชเป็นภิกษุณี สามารถบวชเป็นภิกษุณีได้ทันที จึงย่อมเป็นไปได้ที่จะมีภิกษุณีที่ตั้งท้องก่อนบวช แต่ท่านผู้รู้ก็ยืนยันแล้วว่า กฎเกณฑ์ข้อนี้มีมาตั้งแต่แรกมีภิกษุณี

จึงยังคงเหลือข้อสงสัยที่ว่า มารดาของพระกุมารกัสสปเถระคลอดบุตรในระหว่างที่ยังเป็นนางสิกขมานา หรือว่าตอนนั้นนางเป็นภิกษุณีโดยสมบูรณ์แล้ว

ท่าน paderm ยืนยันว่า ตอนนั้นนางยังไม่ได้เป็นภิกษุณี แต่คัมภีร์ระบุว่านางเป็นภิกษุณีอยู่แล้ว กระผมขอความกระจ่างในเรื่องนี้ด้วยครับ

ขออนุโมทนาต่อทุกท่านที่มีเมตตาให้ปัญญาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย paderm  วันที่ 29 พ.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

จริงอย่างที่ท่านกล่าวครับ เมื่อกลับไปอ่านแล้ว ก็ใช้คำว่าภิกษุณี เป็นอันว่ามารดาของท่านพระกุมารกัสสปะ ท่านตั้งครรภ์ก่อนบวชเป็นภิกษุณี ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าสมัยนั้นยังไม่มีพระบัญญัติเรื่องการให้ถือศีล ๖ ข้อก่อนบวชครับ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องไปอ่านเพิ่มเติมในส่วนต่างๆ ของพระไตรปิฎกอีกครั้งครับ ว่า เป็นอย่างนั้นหรือไม่ครับ ยังไงต้องขอบคุณ นาวาเอกทองย้อยครับ ที่ร่วมสนทนาในประเด็นนี้

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย สัมภเวสี  วันที่ 30 พ.ค. 2554

น่าสงสัยครับว่า ทำไมสิกขมานาต้องถือสิกขาบทเพียง ๖ ข้อ หมายถึงยังสามารถตกแต่ง ประดับทัดทรงได้ ยังนอนที่นอนสูงได้หรือ

อีกประการหนึ่ง คือ สตรีที่บรรลุพระอรหัตแล้วประสงค์จะบวช เช่น พระนางเขมาเถรี เป็นต้น จะต้องประพฤติเป็นสิกขมานาสองปีก่อนแล้วจึงอุปสมบทอย่างนั้นหรือไม่ ซึ่งไม่มีแสดงตรงจุดนี้ ครุธรรม ๘ ประการมีแสดงไว้ในพระวินัยปิฎก จุลวรรค เล่มที่ ๙ ฉบับมหามกุฏฯ ซึ่งคิดว่า ผมคงจะต้องค้นคว้าในอรรถกถาสมันตปาสาทิกาและสารัตถทีปนีฎีกา ต่อไปครับ

คำถามนี้ ยากทีเดียวเพราะเราเกิดกันในยุคที่ภิกษุณีหมดไปจากพระศาสนาแล้ว แต่ก็ต้องอนุโมทนาสาธุกับทุกท่านด้วยครับ เนื่องจากทำให้พระปริยัติสัทธรรมในส่วนของพระวินัยยังดำรงอยู่


ความคิดเห็น 8    โดย paderm  วันที่ 30 พ.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 5 และ 7 อีกครั้งครับ

เมื่อกลับไปอ่านหลายพระสูตรในพระวินัยและพระสูตร รวมทั้งเรียนปรึกษาอาจารย์ประเชิญผู้สอนพระวินัยแล้ว ก็ทำให้เข้าใจขึ้นครับ ขอเรียนอธิบายใหม่อีกครั้งครับ

ประเด็นที่ 1 ซึ่งหลักเกณฑ์การบวชภิกษุณี ตามที่กล่าวมา มีเรื่องให้ถือศีล ๖ ข้อ ตลอด ๒ ปีนั้น ก็มีพระบัญญัติตั้งแต่ต้นแล้วครับ เมื่อตรวจสอบหลักฐานแล้ว ตามครุธรรม ๘ ประการ ก็ยืนยันครับ ว่า เป็นพระบัญญัติตั้งแต่ต้นแล้วครับ ซึ่งพระมหาปชาบดีโคตมีท่านเป็นต้นพระบัญญัติ ท่านจึงไม่ต้องรักษาศีล ๖ ข้อ แล้วจึงอุปสมบทครับ ซึ่งท่านอุปสมบทเมื่อรับครุธรรม ๘ ประการนั้น แต่เว้นพระมหาปชาบดีโคตมีแล้ว ต้องรักษาศีล ๖ เป็นสิกขมานาก่อน ๒ ปี จึงจะบวชเป็นภิกษุณีได้ ตามครุธรรม ๘ ประการครับ ซึ่งคำว่า บวช ใช้กับการบวชเป็นสิขมานาก็ได้ครับ และการบรรลุธรรมก็สามารถบรรลุตอนเป็นนางสิกขมานาได้ครับเพราะปัญญาสามารถเกิดได้ ไม่ว่าเพศใด ซึ่งผมจะแสดงหลักฐานในพระไตรปิฎกที่แสดงว่าผู้ที่จะบวชเป็นภิกษุณี เว้นพระมหาปชาบดี ที่เป็นต้นพระบัญญัติแล้วต้องรักษาศีล ๖ เป็นสิกขมานา ในความเห็นตอนท้ายครับ

ประเด็นที่ 2 ที่กล่าวเรื่องมารดาพระกุมารกัสสปะ ท่านตั้งครรภ์ก่อนบวชเป็นพระภิกษุณี โดยนัยนี้เมื่อต้องรักษาศีล ๖ เป็นนางสิกขมานา (รักษาศีล ๖) ทุกรูปแล้ว แม้มารดาพระกุมารกัสสปะท่านก็ต้องรักษาศีล ๖ ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ท่านจะมีการเสพเมถุนตอนเป็นางสิกขมานาไม่ไ่ด้ เพราะจะทำให้ท่านผิดศีล ข้อ ๓ คือการงดเว้นจากอพรหมจรรย์นั่นเอง ดังนั้น ท่านตั้งครรภ์ตอนเป็นคฤหัสถ์ ก่อนที่ท่านจะบวชเป็นนางสิกขมานาครับ

ส่วนประเด็นเรื่องใช้คำว่าภิกษุณี ไม่ใช้คำว่านางสิกขมานานั้น ในมารดาของพระกุมารกัสสปะ เมื่อสอบถามจากอาจารย์ประเชิญ และได้พิจารณาแล้ว เป็นการแสดงโดยนัยพระสูตรที่ท่านกล่าวรวมโดยใช้คำว่าภิกษุณี แต่อย่างไรก็ดี มารดาของท่านพระกุมารกัสสปะ จะต้องรักษาศีล ๖ ก่อนบวชเป็นนางสิกขมานาก่อนครับ เพราะพระบัญญัติมีตั้งแต่ต้นที่พระมหาปชาบดีขอบวชที่เป็นครุธรรมแล้วครับ

ส่วนพระเถรีรูปอื่น ไม่ว่าใครยกเว้นพระนางมหาปชาบดีโคตมีก็ต้องรักษาศีล ๖ เป็นนางสิกขมานา เพียงแต่ท่านไม่ได้กล่าวไว้ในพระเถรีบางรูปเท่านั้นเองครับ

ส่วนในความเห็นที่ 7 ที่กล่าวมา ทำไมรักษาศีลแค่ ๖ ข้อ แต่ยังทัดทรงดอกไม้ นอนที่นอนสูงอะไรได้ นั่นเป็นพระปัญญาของพระพุทธเจ้าครับที่ทรงรู้ว่าเหมาะควรอย่างไรที่จะให้รักษาศีลกี่ข้อ ที่สำคัญ หากเป็นผู้ขัดเกลาแล้ว ผู้เป็นนางสิกขมานาท่านก็รักษาศีล ๖ แต่ก็ไม่ได้ความว่าท่านจะต้องมาประดับตกแต่งของหอมให้เหมือนคฤหัสถ์ แม้จะไม่ได้รักษาศีล ข้อนั้นเพราะท่านถือเพศเพื่อขัดเกลา เพื่อจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุณีครับ

ซึ่งจะขอแสดงหลักฐานที่แสดงว่าต้องมีการรักษาศีล ๖ เป็นางสิกขมานาตั้งแต่ต้นแล้วครับ ในความเห็นที่ 9 ครับ


ความคิดเห็น 9    โดย paderm  วันที่ 30 พ.ค. 2554

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 17

๔. ติสสาเถรีคาถา

[๔๐๕] ดูก่อนติสสา เธอจงศึกษาในไตรสิกขา โยคะกิเลสเครื่องประกอบทั้งหลายอย่าได้ครอบงำเธอ เธอจงพรากจากโยคะทั้งหมด เป็นผู้ไม่มีอาสวะเที่ยวไปในโลก.

๔. อรรถกถาติสสาเถรีคาถา

คาถาว่า ติสฺเส สิกฺขสฺสุ สิกฺขาย เป็นต้น เป็นคาถาสำหรับนางสิกขมานาชื่อติสสา.

นางสิกขมานาชื่อติสสาแม้นี้ ก็สร้างสมบุญบารมีไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมกุศลที่เป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้นๆ เพราะกุศลที่ได้รวบรวมไว้เป็นปัจจัย จึงบังเกิดในศากยราชตระกูลกรุงกบิลพัสดุ์ในพุทธุปปาทกาลนี้ เจริญวัยแล้วเป็นสนมของพระโพธิสัตว์ ภายหลังได้ออกบวชพร้อมกับพระมหาปชาบดีโคตมี เจริญวิปัสสนา พระศาสดาทรงเปล่งพระรัศมีตามนัยที่กล่าวแล้วในหนหลัง ได้ภาษิตพระคาถาแก่พระเถรีนั้นว่า

ดูก่อนติสสา เธอจงศึกษาในไตรสิขา โยคะกิเลสเครื่องประกอบทั้งหลายอย่าได้ครอบงำ เธอจงพรากจากโยคะทั้งหมด เป็นผู้ไม่มีอาสวะเที่ยวไปในโลก

นัยมีอาทิว่า พระเถรีนั้นฟังคาถานั้นแล้วเจริญวิปัสสนาบรรลุพระอรหัต ดังนี้ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.

จบ อรรถกถาติสสาเถรีคาถา

จากพระสูตร ของพระเถรีรูปนี้นะครับ จะเห็นว่าท่านบวชพร้อมกับพระนางมหาปชาบดีโคตมี แม้บวชพร้อมกันแต่พระมหาปชาบดีโคตมี ท่านเป็นต้นพระบัญญัติ ท่านจึงไม่ต้องรักษาศีล ๖ เป็นสิกขมานา แต่พระติสสาเถรีแม้บวชพร้อมกัน ในเมื่อไม่ใช่ต้นพระบัญญัติ และต้องรับครุธรรม ๘ ประการ ซึ่งในครุธรรมจะต้องรักษาศีล ๖ ดังนั้น ท่านจึงต้องรักษาศีล ๖ เป็นนางสิกขมานา ๒ ปีครับถึงจะบวชเป็นภิกษุณีได้ครับ จะเห็นได้ว่าแม้ตั้งแต่สมัยแรก คือบวชพร้อมกับพระนางมหาปชาบดีโคตมี แต่ก็ต้องรักษาศีล ๖ เป็นางสิกขมานาแล้ว ไม่ต้องกล่าวถึงพระเถรีรูปหลังๆ มีพระเขมาเถรี มารดาของพระกุมารกัสสปะ และพระเถรีรูปอื่นๆ ที่ไม่ใช่พระมหาปชาบดีโคตมี ท่านก็ต้องรักษาศีล ๖ เป็นนางสิกขมานาครับ เพียงแต่ว่าจะกล่าวไว้ในพระสูตรไหน ในพระเถรีรูปใด ว่าท่านเป็นนางสิกขมานาครับ ดังความเห็นที่ 1, 2, และ 3 ที่กล่าวไปแล้วครับ ดังนั้น พระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติแล้วย่อมเป็นสัจจะ เป็นไปตามนั้นครับ
ขอขอบพระคุณอาจารย์ประเชิญที่ช่วยให้ความรู้ และผู้ร่วมสนทนาทุกท่านที่ช่วยกันทำให้มีความเข้าใจให้ถูกต้องครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 10    โดย นาวาเอกทองย้อย  วันที่ 30 พ.ค. 2554

ขอบพระคุณอย่างจริงใจต่อทุกท่านที่ช่วยกันให้ความรู้แก่กันและกันครับ

ประเด็นที่ว่า สตรีที่จะบวชเป็นภิกษุณีต้องรักษาศีล ๖ ข้อ (เป็นสิกขมานา) เป็นเวลา ๒ ปี เป็นข้อกำหนดที่มีมาตั้งแต่แรกมีภิกษุณี เป็นอันว่าชัดเจนแน่นอนแล้วตามหลักฐาน และประเด็นที่ว่า มารดาของพระกุมารกัสสปเถระก็ต้องรักษาศีล ๖ ข้อ เป็นสิกขมานาอยู่ ๒ ปีเหมือนภิกษุณีทั่วไป นี่ก็ไม่สงสัย เป็นอันยุติได้

แต่ประเด็นที่ว่า มารดาของพระกุมารกัสสปเถระคลอดบุตรในระหว่างที่เป็นภิกษุณีเพราะมีครรภ์มาก่อนบวช ยังมีข้อขัดแย้งอยู่ ประเด็นขัดแย้ง คือ ถ้ามีครรภ์มาก่อนบวช ก็ควรจะคลอดในระหว่างที่เป็นสิกขมานา เพราะคงไม่มีสตรีธรรมดาคนไหนตั้งครรภ์อยู่ได้ถึง ๒ ปี (ยกเว้นกรณีมารดาของพระสีวลี ซึ่งต้องถือว่าไม่ใช่สตรีธรรมดา) แต่นี่ท่านระบุชัดเจนว่าคลอดในระหว่างที่เป็นภิกษุณีแล้ว จึงจะต้องมีคำตอบว่า แล้วนางตั้งครรภ์ตอนไหน?

แน่นอน นางจะต้องตั้งครรภ์ก่อนบวช แต่ถามว่า ก่อนบวชเป็นภิกษุณีก็กำลังเป็นสิกขมานาอยู่ ระหว่างเป็นสิกขมานาจะมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ เมื่อมีไม่ได้ก็ไม่สารมารถจะ "เริ่ม" ตั้งครรภ์ตอนเป็นสิกขมานาได้ แต่ถ้าตั้งครรภ์มาก่อนที่จะเข้ามาเป็นสิกขมานา ก็จะต้องคลอดบุตรในระหว่างที่เป็นสิกขมานานั่นเอง จะตั้งครรภ์อยู่ถึง ๒ ปีเพื่อไปคลอดตอนเป็นภิกษุณีได้อย่างไร

ต้องแก้ประเด็นนี้ให้หลุด ประเด็นอื่นไม่ต้องพูดถึงเพราะชัดเจนหมดแล้ว คงเหลือแต่ประเด็นนี้ที่จะต้องรอท่านผู้รู้มาช่วยไข

คำอธิบายที่ว่า การระบุว่าคลอดบุตรขณะเป็นภิกษุณี "เป็นการแสดงโดยนัยพระสูตร" นั้นสำคัญมาก เพราะถ้าอธิบายอย่างนี้จะเกิดเป็นปัญหาใหม่ขึ้นมาทันที คือ จะต้องอธิบายอีกว่า ที่ท่านยืนยันกันว่า "พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม ทั้ง ๓ ปิฎก จะต้องลงกันสมกัน" นั้นจะว่าประการใด?

เพราะฉะนั้น ต้องมีคำอธิบายที่ "ลงกันสมกัน" ครับ

อาจจะมีบางท่านรำคาญ และบอกว่า ถึงจะได้คำอธิบายที่ลงกันสมกันมาแล้ว ก็ไม่ได้ช่วยให้ใครบรรลุมรรคผลเร็วขึ้นหรือช่วยขัดเกลากิเลสให้เบาบางลงไปได้ จะมาเสียเวลาคิดเรื่องแบบนี้ทำไมกัน

เหตุผลของกระผม คือ ทุกเรื่องทุกประเด็นที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องสำคัญทั้งสิ้น บรรพบุรุษของเราท่านจึงอุตส่าห์ทรงจำและนำส่งจนมาถึงมือเรา พวกรุ่นเราจึงจำต้องศึกษาตรวจสอบให้กระจ่างแจ้งเท่าที่สติปัญญาของเราจะพึงมี ก่อนที่จะส่งมอบให้ลูกหลานรุ่นต่อไป และภารกิจนี้ควรต้องทำพร้อมๆ ไปกับการอบรมเจริญสติปัญญาจนกว่าบรรลุถึงความพ้นทุกข์ คือพระนิพพาน

ขอให้เรามีกำลังใจที่จะทำความดีในท่ามกลางกระแสสังคมและบุคคลรอบข้างที่ล้วนแต่คอยบั่นทอนกำลังใจอยู่ตลอดเวลา

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 11    โดย wannee.s  วันที่ 31 พ.ค. 2554

ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ

ผู้หญิงสามารถบวชเป็นภิกษุณีได้หรือไม่


ความคิดเห็น 12    โดย paderm  วันที่ 31 พ.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 10 ครับ

พระธรรมวินัยของพรพุทธเจ้าไม่เปลี่ยน รวมทั้งพระวินัย ไม่มีใครที่จะบัญญัติพระวินัยได้นอกจากพระพุทธองค์ ดังนั้น ก็ยึดในพระวินัยเป็นหลัก ว่า เว้นพระนางมหาปชาบดีโคตมีแล้วจะต้องรักษาศีล ๖ เป็นนางสิกขมานา ซึ่งในพระไตรปิฎก ในส่วนเรื่องมารดาพระกุมารกัสสปะ ในคาถาธรรมบท ก็แสดงว่า เมื่อมารดาท่านบวชในสำนักภิกษุณีของพระเทวทัต ก็ใช้คำว่านางภิกษุณี แม้ความจริงจะเป็นสิกขมานาอยู่ แต่ผู้อ่านก็ต้องเข้าใจแล้วว่าเป็นางสิกขมานา เพราะจะต้องรักษาศีล ๖ เป็นเวลา ๒ ปี พระวินัยเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพียงแต่พระสูตรท่านกล่าวเรื่องราวโดยรวมครับ

ซึ่งข้อความพระไตรปิฎกก็แสดงไว้ในเรื่องตั้งครรภ์ตอนเป็นคฤหัสถ์ นางวิสาขานั้นให้คนล้อมเครื่องล้อมคือม่าน ตรวจดูมือ เท้า สะดือ และที่สุดแห่งท้องของนางภิกษุณีนั้นภายในม่าน แล้วนับเดือนและวันดู ทราบว่า "นางได้มีครรภ์ในเวลาเป็นคฤหัสถ์"

จากพระบัญญัติที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือต้องรักษาศีล ๖ เป็นเวลา ๒ ปี เป็นนางสิกขมานา รวมทั้งข้อความก็กล่าวว่านางตั้งครรภ์ตอนเป็นคฤหัสถ์ เป็นอันสรุปได้ว่า มารดาของพระกุมารกัสสปะ ท่านตั้งท้องตอนเป็นคฤหัสถ์และคลอดบุตรเมื่อคราวเป็นนางสิกขมานา หากจะคลอดบุตรตอนเป็นภิกษุณีก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่า ก็จะต้องตั้งท้องตอนเป็นนางสิกขมานา เพราะต้องรักษาศีล ๖ เป็นเวลา ๒ ปี และทำให้ต้องล่วงศีลข้อ ๓ คิดงดเว้นจากการเสพเมถุนธรรม นั่นก็เป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้น ข้อความจากพระไตรปิฎกจึงแสดงชัดเจนว่านางตั้งครรภ์ตอนเป็นคฤหัสถ์ มีนางวิสาขาตรวจดู ไม่ได้แสดงเลยว่านางตั้งครรภ์เมื่อนางบวชแล้วเป็นนางสิกขมานาอยู่ครับ เพราะฉะนั้น เมื่อนางคลอดก็คลอดตอนเป็นนางสิกขมานา แต่ที่ใช้คำว่าภิกษุณี เพราะท่านกล่าวโดยรวมเพราะท่านกำลังบวชเป็นภิกษุณีนั่นเองครับ ดังนั้น จึงไม่ใช่ติดที่คำ แต่นำพระวินัยที่เป็นพระบัญญัติเปลี่ยนแปลงไม่ได้มีการต้องรักษาศีล ๖ เวลา ๒ ปี และเทียบกับเรื่องในพระสูตรที่นางวิสาขาตรวจแล้ว นางตั้งครรภ์ตอนเป็นคฤหัสถ์ไม่ใช่ตอนบวช ก็เป็นอันว่านางคลอดบุตรตอนเป็นางสิกขมานาครับ ซึ่งคำที่ใช้ในคำว่าภิกษุณี แม้ตอนเป็นนางสิกขมานาในเรื่องมารดาพระกุมารกัสสปะ ท่านก็ใช้คำว่าภิกษุณี แม้ขณะนั้นเป็นนางสิกขมานา เพราะท่านกล่าวโดยรวมเพราะกำลังจะเป็นเพศภิกษุณี บวชเพื่อความเป็นพระภิกษุณีนั่นเองครับ จึงใช้คำว่าภิกษุณี แต่เมื่อเราศึกษาหลายๆ ส่วนก็เข้าใจตรงกันครับ แม้คำว่าสามเณรจุนทะ ท่านก็ไม่ใช่ว่าท่านจะเป็นสามเณร แต่เพราะเรียกติดปากกัน ก็เป็นอันเข้าใจว่าท่านเป็นพระ ไม่ใช่สามเณร แม้กล่าวว่าเป็นภิกษุณี เพราะท่านมุ่งหมายที่จะบวชเพื่อความเป็นพระภิกษุณี ไม่ใช่เป็นอย่างอื่นครับ

ดังนั้น เมื่อมีเหตุการณ์ที่มีคนถามในเรื่องนี้ เราก็สามารถอธิบายได้ จากเทียบเคียงพระวินัย ในพระบัญญัติและเรื่องราวในพระสูตรที่ตั้งครรภ์ตอนเป็นคฤหัสถ์ครับ ก็สามารถอธิบายได้ตรงตามพระธรรมวินัย

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 13    โดย นาวาเอกทองย้อย  วันที่ 31 พ.ค. 2554

คำอธิบายของความเห็นที่ 12 อย่างนี้แหละครับที่เราต้องการ เพื่อยืนยันในกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยในปัญหาต่างๆ ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาอย่างสูงยิ่ง

ขอให้เรามาช่วยกันอุดช่องโหว่ในลักษณะนี้ซึ่งมีอีกมาก เหตุผลที่เราควรจะต้องช่วยกันก็คือ "ต้องมีคำตอบที่สมเหตุสมผลในทุกเรื่องที่เราศรัทธา"

เมื่อเป็นเด็ก กระผมเคยอ่านหนังสือที่มีผู้พิมพ์เผยแพร่ พบข้อความตอนหนึ่งว่า โลกหรือจักรวาลเรานี้ผู้วิเศษเป็นผู้สร้างขึ้น ท่านสร้างแสงสว่างก่อน แล้วจึงสร้างดวงอาทิตย์ขึ้นที่หลัง

ตอนนั้นไม่ได้สงสัยอะไรเพราะยังเด็ก แต่ตอนนี้ถ้าจะให้กระผมศรัทธาเรื่องนี้ ก็จะต้องมีคำอธิบายที่สมเหตุสมผล ถ้าไม่มี หรือมี แต่ไม่สมเหตุสมผล เราก็ควรจะไปแสวงหาความจริงจากที่อื่น ที่มีเหตุผลดีกว่า คือสมเหตุสมผลมากกว่า

ในพระพุทธศาสนาของเรา ถ้าใครสงสัยเรื่องอะไร แล้วหาคำตอบที่สมเหตุสมผลไม่ได้ ก็ย่อมจะถูกมองเหมือนเรื่องสร้างแสงสว่างก่อนสร้างดวงอาทิตย์นั่นเอง

กระผมเชื่อมั่นว่า พระพุทธศาสนานั้นยิ่งถูกตั้งข้อสงสัยมากเท่าไร โอกาสที่จะได้พบคำตอบที่เป็นสัจธรรมก็จะยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

ขอให้ทุกท่านมีกำลังใจที่จะศึกษาและอบรมเจริญสติปัญญาให้ยิ่งๆ ขึ้น

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 14    โดย aditap  วันที่ 31 พ.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 15    โดย kitt3535  วันที่ 25 ก.ย. 2557

สาธุ...อนุโมทนาบุญด้วยนะครับ


ความคิดเห็น 17    โดย Komsan  วันที่ 15 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 18    โดย Witt  วันที่ 5 ก.พ. 2566

ขออนุโมทนาครับ