[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 248
ทุติยวรรคที่ ๒
๑. อิจฉานังคลสูตร
ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 248
ทุติยวรรคที่ ๒
๑. อิจฉานังคลสูตร
ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะ
[๑๓๖๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์ชื่อ อิจฉานังคละ ใกล้อิจฉานังคลนคร ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกเร้นอยู่สักสามเดือน ใครๆ ไม่พึงเข้ามาหาเรา เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตรูปเดียว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ใครๆ ไม่เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตรูปเดียว.
[๑๓๖๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้นโดยล่วงสามเดือนนั้นแล้ว ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงถามเธอทั้งหลายอย่างนี้ว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมอยู่จำพรรษาด้วยวิหารธรรมข้อไหนมาก เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงตอบพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกนั้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่จำพรรษาด้วยสมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติมาก.
[๑๓๖๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรามีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น ย่อมรู้ชัดว่า เราจักกำหนดรู้กองลมหายใจ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 249
ทั้งปวงหายใจออก... ย่อมรู้ชัดว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ย่อมรู้ชัดว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า.
[๑๓๖๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเมื่อจะกล่าวถึงสิ่งใดโดยชอบ พึงกล่าวถึงสิ่งนั้นว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหมบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระตถาคตบ้าง ดังนี้ พึงกล่าวถึงสมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหมบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระตถาคตบ้าง ภิกษุเหล่าใดเป็นเสขะยังไม่บรรลุอรหัตตผล ย่อมปรารถนาความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเหล่านั้นเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ.
[๑๓๖๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสังโยชน์เครื่องนำไปสู่ภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเหล่านั้นเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะ.
[๑๓๖๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเมื่อจะกล่าวถึงสิ่งใดโดยชอบ พึงกล่าวถึงสิ่งนั้นว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหมบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระตถาคตบ้าง ดังนี้ พึงกล่าวถึงสมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหมบ้าง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระตถาคตบ้าง.
จบอิจฉานังคลสูตรที่ ๑
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 250
ทุติยวรรควรรณนาที่ ๒
อรรถกถาอิจฉานังคลสูตร
ทุติยวรรคที่ ๒ อิจฉานังคลสูตรที่ ๑.
ถามว่า ทำไมพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสบอกวิหารสมาบัติ (การเข้าถึงธรรมเครื่องอยู่) ของพระองค์ว่า พวกเธอพึงตอบอย่างนี้เล่า.
ตอบว่า เพื่อเปลื้องความติเตียน.
จริงอยู่ ถ้าหากพวกภิกษุเหล่านั้นพึงกล่าวว่า พวกเราไม่ทราบ ทีนั้น พวกเดียรถีย์ก็จะพึงยกข้อตำหนิขึ้นแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า พวกท่านย่อมไม่ทราบว่า ศาสดาของพวกเราอยู่แล้วตลอดสามเดือน ด้วยสมาบัติชื่อโน้น แล้วก็ทำไม พวกท่านจึงยอมรับใช้ท่านอยู่เล่า เพราะเหตุนั้น จึงตรัสอย่างนั้น เพื่อปลดเปลื้อง.
ถามว่า เมื่อเป็นอย่างนั้น ทำไมในที่นี้จึงไม่ตรัสเหมือนที่ตรัส วาอักษร ในที่อื่นว่า มีสติเทียว ย่อมหายใจออก หรือ เมื่อกำลังหายใจออกยาวด้วยเล่า.
ตอบว่า เพราะความเป็นธรรมสงบอย่างยิ่ง.
จริงอยู่ ลมหายใจออกหรือลมหายใจเข้าเป็นสิ่งที่ปรากฏแก่คนเหล่าอื่น สิ่งทั้งสองอย่างนี้ เป็นสิ่งที่ปรากฏแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า. เพราะความที่ทรงมีพระสติที่ทรงเข้าไปตั้งไว้เป็นนิจ เหตุนี้จึงไม่ตรัสไว้ เพราะความเป็นธรรมสงบอย่างยิ่ง.
และเมื่อเป็นอย่างนั้น ทำไมจึงไม่ตรัสว่า สิกฺขามิ (เราย่อมศึกษา) ตรัสแต่เพียงว่า อสฺสสามิ (เราย่อมหายใจออก) เท่านี้เล่า.
เพราะไม่มีสิ่งที่จะต้องศึกษา.
จริงอยู่ พระเสกขะ ๗ จำพวก ชื่อว่า เป็นผู้ศึกษา เพราะยังมีสิ่งที่จะต้องศึกษา พระขีณาสพ ชื่อว่า อเสกขะ (ผู้ไม่ต้องศึกษา) เพราะไม่มีสิ่งที่จะต้องศึกษา.
พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ต้องศึกษา จึงชื่อว่า อเสกขะ.
กิจที่จะต้องศึกษาของพระอเสกขะเหล่านั้นไม่มี เหตุนี้ จึงไม่ตรัสไว้ เพราะไม่มีกิจที่จะต้องศึกษา.
จบอรรถกถาอิจฉานังคลสูตรที่ ๑