ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ปาปการี”
คำว่า ปาปการี เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ปา - ปะ - กา - รี] มาจากคำว่า ปาป (บาป ความชั่ว) กับคำว่า การี (บุคคลผู้ทำ) รวมกันเป็น ปาปการี แปลว่า บุคคลผู้ทำบาป บุคคลผู้ทำชั่ว เป็นคำที่แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ คือ อกุศลธรรมที่มีกำลังที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้นั้นมีการกระทำที่ไม่ดี เบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น จะเป็นทางกาย หรือทางวาจา ก็ตาม เมื่อสภาพธรรมที่ไม่ดีดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นไป ก็หมายรู้ว่าเป็นบุคคลผู้ทำบาป เป็นบุคคลผู้ทำชั่ว ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใดก็ตาม บุคคลผู้ที่ทำบาป นั้น เป็นผู้ทำเหตุที่ไม่ดี ที่จะเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนในภายหลัง ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ว่า
“ผู้มีปกติทำบาป ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ ละไปแล้วย่อมเดือดร้อน เขาย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง เขาย่อมเดือดร้อนว่า 'กรรมชั่ว เราทำแล้ว' ไปสู่ทุคติ ย่อมเดือดร้อนยิ่งขึ้น”
สำหรับเรื่องของภพภูมิต่างๆ นั้น ถ้าศึกษาในคำสอนทางพระพุทธศาสนาแล้ว ก็จะพบว่าไม่ใช่มีแต่เฉพาะมนุษย์กับสัตว์ดิรัจฉาน ที่เห็นกันอยู่เป็นปกติ เท่านั้น ยังมีภูมิอื่นอีกด้วย คือ นรก เปรต อสุรกาย สวรรค์ ๖ ชั้น เป็นต้น เมื่อเหตุที่จะให้ปฏิสนธิ มีอยู่ เป็นปัจจัยให้ผลเมื่อใดก็ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ต่อจากจุติจิตในชาตินี้ แล้วแต่ว่าจะปฏิสนธิในภูมิใด ตามควรแก่เหตุ เป็นที่น่าพิจารณาว่า ก่อนที่ทุกคนจะมาสู่ภูมิมนุษย์นี้ ก็ไม่ทราบว่าโลกนี้จะเป็นอย่างนี้ โลกนี้จะมีอะไรบ้าง ไม่เคยรู้ล่วงหน้าเลยแม้แต่นิดเดียว แต่ก็ได้เกิดขึ้นแล้วในโลกนี้ เพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา วันนี้เป็นอย่างนี้ พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร ไม่สามารถที่จะทราบได้เลย เพราะเหตุว่าพรุ่งนี้อาจจะเป็นโลกนี้อีก เห็นสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้อีก หรือ อาจจะเป็นสวรรค์ชั้นต่างๆ หรือแม้กระทั่งอาจจะเป็นนรกขุมต่างๆ ก็ได้ ไม่มีการทราบล่วงหน้าเลย แล้วแต่เหตุปัจจัยทั้งสิ้น ขอยกตัวอย่างบุคคลในสมัยพุทธกาล คือ พระเทวทัต ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระเทวทัตไม่ทราบมาก่อนว่าท่านจะเกิดในโลกนี้ และตลอดชีวิตของท่านที่ดำเนินไป ด้วยความริษยา ด้วยการกระทำอกุศลกรรมที่หนัก กล่าวคือ อนันตริยกรรม ท่านก็ไม่เคยรู้ล่วงหน้าเลยว่าท่านจะเป็นผู้ที่กระทำกรรมอย่างนั้น ต้องประสบพบเห็นกับเหตุการณ์ที่จะทำให้การสะสมที่มีอยู่ในใจของท่านเกิดความริษยา หรือการกระทำที่เป็นอกุศลกรรมถึงเพียงนั้นได้ และเมื่อจุติแล้ว (คือละจากโลกนี้ไปแล้ว) ท่านก็ไม่ทราบอีกเหมือนกันว่าจะไปเกิดในภพภูมิใด แต่ท่านก็ได้ไปแล้วสู่อเวจีนรก เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานเดือดร้อนอย่างหนัก ฉันใด ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ก่อนจะเกิดในโลกนี้ก็ไม่ทราบว่าจะพบอะไรบ้าง จะกระทำกรรมอะไรบ้าง และกรรมที่ได้กระทำแล้วนี้ จะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในวันใด ในที่ใด หลังจากจุติจากโลกนี้แล้ว ก็ไม่สามารถทราบได้ทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น การที่จะมีชีวิตดำเนินไปในแต่ละวันนั้น เป็นเรื่องที่ควรจะได้ทราบเหตุและผล แล้วสะสมความรู้ความเข้าใจในสภาพของชีวิตให้ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อละความไม่รู้ที่ทำให้กระทำกรรมต่างๆ ที่เป็นอกุศลกรรมซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสทีเดียว
เหตุการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก รวมถึงเรื่องของบุคคลที่กระทำอกุศลกรรม เช่น พระเทวทัต เป็นต้น ก็เป็นอนุสสติเตือนให้ทุกคนเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในชีวิต เพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) โลภะ ยังมี โทสะ ยังมี โมหะ ยังมี ความริษยา ยังมี อกุศลธรรมอย่างอื่นยังมี วันหนึ่งจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กระทำอกุศลกรรม ที่จะทำให้ไปสู่นรกขุมต่างๆ และได้รับความทุกข์ทรมาน ก็อาจเป็นไปได้ทั้งนั้น ซึ่งจะประมาทไม่ได้เลยทีเดียว ที่พึ่งที่แท้จริง คือ ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก อันเนื่องมาจากการได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ปัญญานี้แหละจะเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดี รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ แล้วน้อมประพฤติในสิ่งที่ควรทำเท่านั้น ไม่เป็นบุคคลผู้ทำบาป ไม่ทำในสิ่งที่ผิดที่จะเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนในภายหลัง ดังนั้น ประโยชน์สูงสุดตั้งแต่เกิดจนถึงวันที่จะละจากโลกนี้ไป คือ ความเข้าใจพระธรรม
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ
ขออนุโมทนาครับ