"แต่สำหรับ "อารัมมณปัจจัย" คือ สภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น รู้สภาพธรรมนั้นโดยสภาพธรรมนั้นเอง เป็นอารัมมณปัจจัยคือเป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้นอารัมมณปัจจัย ... เป็นปัจจัย โดยการเป็นอารมณ์ของจิตขณะหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นเพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นอารัมมณปัจจัยทำให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น "
ข้อความนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อความที่คุณพุทธรักษากรุณานำมาเผยแพร่ในธรรมบรรณาการในเรื่องปัจจัย
ขอเรียนถามว่า ... กรณีที่ "เราคิดถึงใครสักคนหนึ่งนั้น" หมายความว่า "ตัวบุคคลนั้น" (ซึ่งเป็นบัญญัติธรรม) เป็นอารัมณปัจจัย เป็นปัจจัยให้จิตทางมโนทวารและเจตสิกที่กระทำกิจ "คิดถึง" (วิตก) เกิดขึ้น ใช่หรือไม่คะ หากไม่ใช่ ขอความกรุณาช่วยอธิบายเรื่องนี้โดยนัยของความเป็นปัจจัยให้ด้วยค่ะ
ขอขอบคุณค่ะ
ถ้าใช้คำว่า "เราคิดถึงใครสักคนหนึ่ง" เป็นคำรวมทั้ง ชื่อ ความหมายและรูปธรรม และนามธรรม เพราะเขามีรูป และนาม จึงมีชื่อ มีบัญญัติ เช่น ชอบคนที่มีรูปสวย มีเสียงดี มีกลิ่นหอม มีสัมผัสดี มีจิตใจดี เป็นต้น อารมณปัจจัยไม่ใช่เพียงชื่อ หรือเรื่องราวเท่านั้น แต่มี สี เสียง กลิ่น ... ด้วยครับ
หมายความว่า สิ่งทั้งหลายที่เราติดข้องในตัวบุคคลนั้นเป็นอารัมณปัจจัย ใช่ไหมคะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอร่วมสนทนาด้วยนะคะ
ตามความเข้าใจของข้าพเจ้า อารัมมณปัจจัย หมายถึง ปัจจัย ที่ทำให้จิต เจตสิกเกิดขึ้น รู้ อารมณ์ โดย "เป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิก" และ เมื่อมีความสงสัยว่า
>> หมายความว่า สิ่งทั้งหลายที่เราติดข้องในตัวบุคคลนั้นเป็นอารัมณปัจจัย ใช่ไหมคะ
ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ใช่แต่ สิ่งทั้งหลาย ในที่นี้ ต้องหมายถึง สิ่งที่เป็นอารมณ์ของจิตได้ซึ่งนำกลับมาที่ความเข้าใจจากพระอภิธรรม ที่ว่า จิต เจตสิก เมื่อเกิดขึ้น ก็ต้องมีอารมณ์และ อารมณ์ คือสิ่งที่จิตรู้ จิตเกิดขึ้น โดยไม่มีอารมณ์ไม่ได้ และ สิ่งทั้งหลาย จะเป็นอารมณ์ของจิตได้เมื่อ สิ่งนั้นปรากฏกับจิตจิต และ อารมณ์ของจิต จึงเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันจิตและเจตสิก รู้ได้ ทั้งปรมัตถธรรม และ บัญญัติ
ดังนั้น ควรเข้าใจว่า สิ่งใดเป็นปรมัตถธรรม (นาม-รูป) สิ่งใด ไม่ใช่ปรมัตถธรรม (บัญญัติ) ดังเช่น ความเห็นที่ ๑ ที่กล่าวว่า เพราะมีนามและรูป จึงมีบัญญัติและ อารัมมณปัจจัย จึงไม่ใช่เพียงชื่อ (บัญญัติ) เท่านั้น แต่หมายถึงสภาพธรรมที่มีจริงด้วย เช่น สี กลิ่น รส ฯ ตัวอย่างเช่น เมื่อตากระทบรูป หรือ หูได้ยินเสียง เป็นต้นมีอารมณ์ทางปัญจทวารวิถีจิต ปรากฏทางตา ทางหู ฯเมื่อวิถีจิตทางปัญจทวารวาระหนึ่งดับ ภวังคจิตเกิดคั่นหลายขณะและ มโนทวารวิถีจิตเกิดสืบต่อทันที-รู้อารมณ์เดียวกันกับที่ปัญจทวารวิถีจิตรู้ วิถีจิตทางมโนทวาร รู้ รูปร่าง-สัณฐาน หรือ เรื่องราว (บัญญัติ) ซึ่งจิต เจตสิกคิดนึกถึง ขณะที่ "ยึดถือ" ว่า เป็น ตัวตน สัตว์ บุคคลต่างๆ เพราะขณะนั้น ไม่มีสติสัมปชัญญะ (สติเจตสิกและปัญญาเจตสิก) เกิดร่วมด้วย-รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง (สติปัฏฐานไม่เกิด) ซึ่งเป็นปกติ
ขอขอบคุณในความเมตตา กรุณาค่ะ ได้ความกระจ่างชัดเจน และลึกซึ้งมากค่ะ
ขออนุโมทนา อ.ประเชิญ และ คุณพุทธรักษา ค่ะ รวมถึงกุศลจิตของผู้อ่านทุกท่าน
ขอถามต่ออีกนะคะว่า หากเมื่อขณะที่คิดถึงนั้นได้ล่วงเลยไปแล้ว เราหวนระลึกถึงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น และเข้าใจว่าเป็นโลภะ เป็นความยึดถือว่าเป็นตัวตนและบุคคล เป็นความเห็นผิด อย่างนี้เรียกได้ว่าเป็น "สติ" ที่ระลึกได้ใช่ไหมคะ
ถ้าระลึกได้ก็เป็นลักษณะของสติ และเพราะเป็นกุศลจึงมีสติเกิดร่วมด้วย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นความคิดตามที่ศึกษามาครับ
ขอร่วมสนทนาด้วยคนนะคะ
คุณสมสุดาต้องมีความเข้าใจว่าขณะที่สติเกิดขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่เป็นไปในทาน ศีล และภาวนา เป็นต้นว่าขณะให้สิ่งของเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นขณะจิตนั้นปราศจากกิเลสเป็นกุศลจิตที่ผ่องใส หรือขณะที่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ทำร้ายสัตว์ งดเว้นจากการพูดเท็จเป็นต้น หรือขณะที่เป็นไปในการเจริญ สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา นอกจากที่กล่าวมานี้แล้วก็เป็นอกุศลจิตซึ่งไม่มีสติ เกิดร่วมด้วย
แม้สติก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย เป็นอนัตตา ไม่มีใคร หรือตัวตนทำให้สติเกิดขึ้น หรือไม่ให้เกิดขึ้นได้เลย แต่การฟังพระธรรมให้เข้าใจนั้น ความเข้าใจที่มั่นคงในสภาพธรรมแต่ละทวารนั้นก็ไม่พ้นไปจากนามธรรม และรูปธรรม (เช่น ทางตา จิตเห็นเป็นสภาพรู้เป็นนามธรรม ส่วนสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปธรรม เพราะเป็นสภาพที่ไม่รู้อารมณ์ได้เลย) เมื่อมีความเข้าใจที่มั่นคงก็จะเป็นปัจจัยให้สติ เกิดขึ้นระลึกรู้สภาพนามธรรมและรูปธรรม แม้จิตที่คิด สติก็เกิดระลึกรู้จิตที่คิดได้ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมเป็นนามธรรมที่คิด (ไม่มีเราที่ไปคิด)
ไม่ทราบว่าคุณสมสุดาพอเข้าใจไหมค่ะ จากที่กล่าวว่า " ... เราหวนระลึกถึงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น " ไม่มีเราที่หวนระลึก มีแต่เพียงจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเกิดขึ้นเป็นไปค่ะ
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาคุณสมสุดาค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ
และขอถามต่ออีกหน่อยค่ะว่า แม้เป็นเพียงความคิดที่ศึกษามา แต่หากคิดเช่นนี้ (ถือว่าคิดเป็นกุศลใช่ไหมค่ะ) ได้บ่อยๆ จะช่วยเกื้อกูลให้สติเกิดบ้างไหมคะ
แม้เพียงความคิด ที่คิดพิจารณาเรื่องสภาพธรรมที่ศึกษามาแล้ว เข้าใจถูกตรง ตามพระธรรม ขณะนั้น จิตเป็นกุศลค่ะ จิตที่คิดก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรา ขณะนั้นมีสติเกิดร่วมด้วย
เมื่อคิดพิจารณาพระธรรมแล้ว น้อมเข้าใจลักษณะ สภาพธรรมบ่อยๆ เนืองๆ เป็นการอบรมเจริญปัญญาจะช่วยเกื้อกูล ให้สติปัฏฐาน เกิดรู้ตรงลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริงค่ะ แต่ก็เป็นการอบรมที่ ยาวนานมากค่ะ ไม่ต้องหวัง ไม่ต้องรีบ (ถ้าหวัง หรือรีบ ขณะนั้นจิตเป็นอกุศลค่ะ) แต่เป็นการค่อยๆ อบรมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย จิรกาลภาวนาค่ะ
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธา น้องสมสุดาค่ะ
ขอขอบคุณพี่เมตตามากมากค่ะ จะพยายามศึกษาธรรมะที่ปรากฎในขณะนี้ต่อไป เพื่อลดความเป็น "เรา" ให้น้อยลงๆ แม้จะอีกนานแสนนานแค่ไหน ก็คงไม่ท้อ เพราะมีพี่ๆ ที่เมตตาช่วยสอนช่วยเตือนให้เดินถูกทาง
ขออนุโมทนาค่ะพี่
ขออนุโมทนาครับ
ความเป็นปัจจัย ของความคิดถึงบุคคล
แม้ความคิด (จิตที่คิด) ก็เป็นอนัตตา เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครได้ ไม่มีใครบังคับ ให้จิตเกิดขึ้นคิดหรือไม่ให้คิดไม่ได้
ปกติในชีวิตประจำวันส่วนมากคิดไปในทางอกุศล ถ้าสติเกิดก็ระลึกเป็นไปในทาน ศีล ภาวนา เช่น อาศัยการฟังธรรมบ่อยๆ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติเกิดบ่อยๆ ค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ คุณ wannee.s
จะหมั่นฟังธรรมและคำแนะนำจากพี่ๆ (ทางธรรม) ทุกคนต่อไปค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ