อยากสอบถามครับ 5 มาสกนี่มันเท่าไรกันเเน่ครับ
โดย ต้น1234  2 พ.ค. 2557
หัวข้อหมายเลข 24794

เท่าที่อ่านมา บางทีก็บอกว่า 5 มาสกเท่ากับ 1 บาทไทย บางทีก็ 300 บาท บางทีก็ 600 บาท เอ๊ะมันยังไงกันแน่ รบกวนช่วยตอบให้ละเอียดๆ หน่อยครับว่า จริงๆ แล้วมันเท่าไรกันแน่ มีข้อมูลจากพระไตรปิฎกมั้ยครับ ช่วยตอบให้ผมหายข้องใจหน่อยสิครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 2 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิกขาบทปาราชิกที่ ๒ ภิกษุถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นด้วยอาการแห่งขโมย ด้วยมูลค่าของทรัพย์ ๕ มาสก จึงเป็นที่ตั้งของอาบัติปาราชิก ถ้าต่ำกว่านั้นไม่ถึงอาบัติปาราชิก แต่เป็นอาบัติรองลงมา คือ อาบัติถุลลัจจัย และทุกกฏ การกำหนดโทษที่หนัก คือ ขาดจากความเป็นพระภิกษุ (ปาราชิก) ต้องมีมูลค่าสูง

คือ ยุคนั้น ทางบ้านเมืองกำหนดโทษของผู้ที่ขโมยของผู้อื่น สิ่งของนั้นจะต้องมีมูลค่า ๕ มาสกขึ้นไป สำหรับทางธรรมก็เช่นกัน จะต้องโทษหนัก วัตถุที่ขโมยต้องมีมูลค่า ๕ มาสก จึงเป็นวัตถุแห่งปาราชิก สำหรับการเทียบราคาในปัจจุบัน มีการวินิจฉัยที่แตกต่างกันตามยุคสมัย แต่ที่ถือเป็นมาตรฐานทุกยุค คือ น้ำหนักทองคำกับข้าวเปลือก ๒๐ เมล็ด คือ เอาข้าวเปลือก ๒๐ เมล็ดมาชั่ง ได้น้ำหนักเท่าไหร่ น้ำหนักทองคำเท่านั้นตีเป็นเงินออกมา

ในพระวินัยปิฎก อทินนาทานสิกขาบท ทรงปรับอาบัติปาราชิก แก่พระภิกษุที่ขโมยสิ่งของมูลค่า ตั้งแต่ 5 มาสกขึ้นไป ซึ่งคำว่า 5 มาสกในยุดนั้น มีมูลค่าเท่าไหร่ ก็เป็นปัญหาของพระวินัยธร ที่ยากจะวินิฉัยว่าเป็นเงินกี่บาทในยุคนี้ ซึ่งในอรรถกถาและฎีกา ท่านก็มีหลักเทียบดังนี้ มูลค่าทองคำ น้ำหนักเท่ากับ 20 เมล็ดข้าวเปลือก ซึ่งมูลค่าของทองคำในแต่ละยุคย่อมเปลี่ยนไปตามราคาตลาดที่เขาซื้อขายกัน ณ ปัจจุบัน (2 พ.ค. 57) ทองคำบริสุทธิ์ 99.99% ราคากรัมละ 1,306.666บาท ข้าวเปลือก 20 เมล็ด มีน้ำหนัก 0.56 กรัม ทองคำ0.56 กรัม มีมูลค่า 731.732 บาท ดังนั้นมูลค่าเงิน 5 มาสกในยุคนี้อันเป็นวัตถุแห่งอาบัติปาราชิก เป็นจำนวนเงิน 731.732 บาท การตีความดังกล่าวนี้อาศัยหลักของอรรถกถาและฎีกา ที่ท่านสืบทอดพระวินัยมาตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาลครับ


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 2 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นคฤหัสถ์ ลักทรัพย์ ผิดศีลข้อ ๒ เป็นการกระทำอกุศลกรรมบถ ยิ่งถ้าเป็นบรรพชิตอันเป็นเพศที่สูงยิ่งกว่าเพศคฤหัสถ์แล้ว ยิ่งจะต้องขัดเกลายิ่งขึ้น ถ้าประพฤติผิด ลักทรัพย์เมื่อใด ต้องอาบัติเมื่อนั้น ตามราคาค่าวัตถุสิ่งของนั้น ถ้ามีราคาตั้งแต่ ๕ มาสกขึ้นไป ต้องขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที และเป็นการกระทำอกุศลกรรมบถ ด้วย เป็นโทษโดยส่วนเดียว เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง

สำคัญที่สุด คือ การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แล้วน้อมประพฤติในสิ่งที่พระองค์ทรงอนุญาต และไม่ประพฤติในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม ความเดือดร้อนใจในภายหลังที่เกิดขึ้น ก็เป็นเพราะไม่ได้คล้อยตามพระพุทธพจน์ ถ้าได้สำรวมตามสิกขาบทต่างๆ ที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ การต้องอาบัติน้อยใหญ่ ก็จะไม่เกิดขึ้น ก็จะไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อนใจในภายหลัง

ถ้าไม่เห็นประโยชน์ของการบวชว่า บวชเพื่ออะไร ก็จะทำให้ละเลยถึงกิจที่ตนเองควรทำให้สมกับเพศที่สูงยิ่งกว่าคฤหัสถ์ คือ ละเลยในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ให้เข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะไม่สามารถรู้ได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด การประพฤติปฏิบัติก็ย่อมจะผิดไปด้วย ทำให้มีความย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ต้องอาบัติด้วยความไม่ละอาย โดยที่ไม่เคยรู้เลยว่าเป็นโทษเป็นภัยอย่างไร เป็นไปตามการสะสมของแต่ละคนแต่ละท่านจริงๆ ตามความเป็นจริงแล้ว ความเป็นบรรพชิตเป็นเพศที่สูงยิ่ง ถ้ารักษาไม่ดี ก็ย่อมมีแต่จะทำให้เกิดโทษแก่ตนเองโดยส่วนเดียว คร่าไปสู่อบายภูมิได้เลยทีเดียว ถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์สูงสุดของการบวช ก็จะเป็นผู้ศึกษาพระธรรมและน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมด้วยความจริงใจ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เป็นสำคัญ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 2 พ.ค. 2557

ลักทรัพย์ เกิน 5 มาสก อาบัติปาราชิก ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย monk007  วันที่ 23 ส.ค. 2557

แล้วถ้าพระหยิบของมูลค่า ชิ้นละ ไม่เกิน 300 บาท 2 ครั้ง ภายในวันเดียว แต่คนละเวลา จะนำมารวมกันไหมครับ หรือแยกครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 5    โดย winlawfirm  วันที่ 13 ก.พ. 2559

ขอบคุณคุณผเดิมมากครับ (ความเห็นที่ 1) ที่ให้ความกระจ่าง


ความคิดเห็น 6    โดย chatchai.k  วันที่ 7 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย ธีรพันธ์  วันที่ 2 ก.ย. 2566

ภิกษุถือเอาสิ่งของที่เจ้าของหวงแหนมิได้ให้ มีราคาตั้งแต่ ๕ มาสกขึ้นไป (มิใช่เกิน ๕ มาสกขึ้นไป) ต้องอาบัติปาราชิก (อาบัติคือโทษที่ล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติ เมื่ออาบัติปาราชิกแล้วหมายถึงขาดจากความเป็นภิกษุ จะกลับเข้ามาบวชอีกไม่ได้อีกต่อไป)