ขอกราบบูชาคุณพระรัตนตรัย
ในชีวิตประจำวันมีโลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นเป็นปกติ จึงขอรบกวนถามว่า
ระหว่าง โลภะ โทสะ โมหะ กิเลสตัวไหน... น่ากลัวที่สุดคะ?
ขอขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ
กิเลสทุกประเภทล้วนน่ากลัวทั้งสิ้น เพราะเป็นธรรมฝ่ายอกุศล มีโทษ ในติตถิยสูตร พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษของกิเลสทั้ง ๓ ประเภทนี้ว่า
ราคะมีโทษน้อย แต่คลายช้า โทสะมีโทษมาก แต่คลายเร็ว โมหะมีโทษมากด้วย คลายช้าด้วย
ถ้าพิจารณาจากติตถิยสูตรจะเห็นได้ว่า โมหะมีโทษมาก คลายช้า น่ากลัวที่สุด
โมหะมีโทษมาก เพราะความไม่รู้ จึงทำให้สัตว์ทั้งหลายจมอยู่ในวัฏฏะ ทำให้ลุ่มหลง ทำให้กุศลไม่เจริญ ทำให้ไม่เห็นอริยสัจ ๔ ฯลฯ
กิเลส เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต เมื่อกิเลสเกิดขึ้นย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง โลภะ เป็นสภาพที่ติดข้อง ผูกพัน ยินดีพอใจ ชอบใจ ในชีวิตประจำวัน เรามีโลภะเป็นปกติ โลภะมีทั้งระดับที่เกิดขึ้นพอใจชอบใจเป็นปกติ และมีทั้งระดับที่มีกำลังแรงกล้าถึงขั้นที่ล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรม ทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อน, โลภะเป็นอกุศลธรรม ต่างกันกับอโลภะ ซึ่งเป็นกุศลธรรม เราไม่สามารถบังคับไม่ให้โลภะเกิดขึ้นได้เพราะว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แต่ถ้าเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญปัญญา ก็สามารถรู้ลักษณะของโลภะเมื่อโลภะเกิดขึ้นปรากฏได้ ครับ
โทสะ เป็นสภาพที่ประทุษร้าย ขุ่นเคือง ไม่พอใจ โกรธ หงุดหงิด น้อยใจ เสียใจกลัว ทั้งหมดเป็นลักษณะของโทสะ โทสะมีหลายระดับขั้น ในชีวิตประจำวันโทสะก็สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ เช่นในขณะที่โกรธไม่พอใจบุคคลบางคนแล้ว กล่าวคำที่ไม่น่าฟังกับบุคคลนั้นออกไป ขณะนั้นก็รู้ได้ว่าเป็นโทสะ นอกจากนั้นแล้วขณะที่น้อยใจเสียใจ หรือกลัว ไม่ว่าจะเป็นกลัวภัยในชีวิต กลัวอันตรายต่างๆ กลัวความเจ็บป่วย เป็นต้น ก็เป็นกิเลสประเภทโทสะ เพราะเป็นลักษณะที่ไม่ชอบในอารมณ์ หนทางที่จะดับโทสะได้ คืออบรมเจริญปัญญาเท่านั้น จึงจะดับโทสะให้หมดสิ้นไปได้
โมหะเป็นความหลง เป็นความไม่รู้ ขณะที่โมหะเกิดขึ้นย่อมเป็นความมืดบอด เป็นความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่เข้าใจโลก ไม่เข้าใจตัวเอง ไม่เข้าใจกุศลไม่เข้าใจอกุศล ไม่เข้าใจกรรมและผลของกรรม ไม่เข้าใจหนทางที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลส พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าโมหะ (หรืออวิชชา) เป็นมูลรากของอกุศลธรรมทั้งหลาย
เมื่อกล่าวตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกิเลสประเภทใด ย่อมเป็นสิ่งที่น่ากลัวทั้งนั้น ผู้ที่มีปัญญา ท่านจะเป็นผู้ที่มีปกติเห็นภัยในกิเลส ในอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย ครับ
...ขออนุโมทนาครับ...
กิเลสกำลังเกิดในขณะนี้ แต่เราก็ไม่ได้เกิดความกลัวจริงๆ ด้วยความที่เรายังไม่รู้ว่าเป็นกิเลส เราเริ่มเข้าใจในขั้นการศึกษา เรารู้จักชื่อของกิเลสมากมาย แต่กิเลสตัวจริงนั้นทั้งลึก ทั้งกว้าง ทั้งเหนียว ทั้งหนา ฯลฯ น่ากลัวเกินกว่าที่จะคาดเดา กิเลสเกิดทีหนึ่งหมายถึง ความยืดยาวต่อไปของสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น ควรอบรมเจริญความรู้จักกิเลสที่ปรากฏในขณะนี้โดยความไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน (สติปัฏฐาน) และไม่ลืมที่จะเจริญกุศลทุกประการครับ
ในชีวิตประจำวันโดยปกติ เรามีโลภะ มีความติดข้อง ยินดีพอใจ มีโทสะ ความขุ่นเคืองใจ โกรธ ไม่พอใจ และมีโมหะ ความไม่รู้ แต่ถ้าเมื่อใดถึงขั้นที่จะต้องล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรม นั่นย่อมแสดงให้เห็นถึงกำลังของอกุศลว่า ขณะนั้นอกุศลมีกำลังมาก ครับ ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ...เครื่องวัดกำลังของกิเลส...
ขออนุโมทนาครับ
กว่าจะรู้น่ากลัว มันก็ผ่านไปแล้วทุกที เหมือนขับรถบนถนนหลวงในกทม เห็นป้ายบอกทาง กว่าจะรู้ว่าผิดเส้นทาง ก็หลงทางไปเรียบร้อยแล้วคะ
กิเลสน่ากลัว เพราะความไม่รู้จึงมีกิเลส
โมหะหรืออวิชชาเป็นหัวหน้าของอกุศลทั้งหมด
ไม่รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม
ไม่รู้ว่ากิเลสเป็นธรรม
ไม่รู้ว่าไม่รู้
รู้ว่ากิเลสน่ากลัวเพราะเป็นภัยด้วยปัญญากับรู้ว่ากิเลสน่ากลัวขั้นคิดนึกต่างกัน
ตราบใดยังไม่รู้ว่าเป็นธรรม ก็ไม่รู้จักกิเลสและไม่เห็นความน่ากลัวจริงๆ
บางแห่งกล่าวว่า อวิชชา ห่อหุ้มด้วย ตัณหา ครับ
ขออนุโมทนาค่ะ
คุณ khampan.a อายุยังน้อยทำไมมีความรู้มากจัง นับถือ นับถือ
ได้ความรู้จากความคิดเห็นที่ 3 ของหลานมากเลยค่ะ ขอบคุณ ขอบคุณ
คุณ นวล คะ
คุณหลงทางแค่เสียเวลา แต่ผู้ที่หลงอวิชชา เสียอนาคต ค่ะ
ขออณุญาตอ้างอิงนะคะ
กิเลส เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต เมื่อกิเลสเกิดขึ้นย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง โลภะ เป็นสภาพที่ติดข้อง ผูกพัน ยินดีพอใจ ชอบใจ ในชีวิตประจำวันเรามีโลภะเป็นปกติ โลภะมีทั้งระดับที่เกิดขึ้นพอใจชอบใจเป็นปกติ และมีทั้งระดับที่มีกำลังแรงกล้าถึงขั้นที่ล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรม ทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อน, โลภะเป็นอกุศล-ธรรม ต่างกันกับอโลภะ ซึ่งเป็นกุศลธรรม เราไม่สามารถบังคับไม่ให้โลภะเกิดขึ้นได้เพราะว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แต่ถ้าเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญปัญญา ก็สามารถรู้ลักษณะของโลภะเมื่อโลภะเกิดขึ้นปรากฏได้ ครับ
* * * * * * * * * * * * * * * * *
โดนใจและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งตลอดข้อความค่ะ คุณคำปั่น
แต่ด้วยว่าเป็นผู้มีปัญญาน้อยมาก ขณะนี้จึงมองเห็นชัดเพียงโทษของเพื่อนสองที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด คือ โลภะ หากโลภะของอินดี้ไปทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดเดือดร้อน ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวเข้าบ้างแล้ว
ก็ขอกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ก่อนเป็นอันดับแรกค่ะ
ส่วนโทสะและโมหะนั้นก็น่ากลัวไม่แพ้กันหรือยิ่งกว่า เพราะถึงกับทำให้หลงทางเสียเวลา หลงอวิชชาเสียอนาคตเสียประโยชน์แห่งการได้มาซึ่งอัตภาพมนุษย์นี้เป็นอย่างยิ่ง
จริงๆ ด้วยค่ะ คุณ C.pongsiri
กิเลสนั้นเป็นสิ่งที่น่ากลัว เป็นเรื่องจริง ผู้ไม่รู้เท่านั้นจึงมีความอยากจะเพิ่มกิเลสอยู่เสมอๆ ในทางกลับกันผู้เริ่มที่จะละความไม่รู้ก็ค่อยๆ คลายความยึดถือสภาพที่เป็นตัวตนละจากความติดข้องต่างๆ จึงเป็นหนทางที่ตรงกันข้ามอย่างมากค่ะ
ขออนุโมทนาทุกท่านที่มั่นคงในพระธรรม
ถ้าไม่รู้ลักษณะจริงๆ ของกิเลสแต่ละชนิด อาจจะกลัวเพียงชื่อ (กลัวเพราะโทสเจตสิก)
ถ้ารู้ลักษณะจริงๆ ของกิเลสแต่ละชนิด แล้วจึงกลัวกิเลส (กลัวเพราะโอตตัปปะเจตสิก)
รู้ว่า (น่าจะ) มี (กิเลส) แต่ไม่รู้ (ชัด) ลักษณะ (จริงๆ )
ขออนุโมทนาครับ
ราคะ มีโทษน้อย คลายช้า ราคะมีโทษ โดยโทษทั้ง ๒ สถาน คือด้วยสามารถแห่งโทษที่เป็นโลกวัชชะ (โทษในปัจจุบัน) บ้าง ด้วยสามารถแห่งโทษที่เป็นวิปากวัชชะ (โทษในอนาคต) บ้าง. ข้อนี้อย่างไร. คือมารดาบิดาให้พี่กับน้องเป็นต้น แต่งงานกัน ๑ ให้พวกลูกจัดแต่งงานให้กับพี่น้องของลูกเขา ๑. ราคะนี้มีโทษน้อย โดยที่เป็นโลกวัชชะเท่านี้ก่อน.
ส่วนราคะที่มีโทษน้อย โดยที่เป็นวิปากวัชชะอย่างนี้คือ ชื่อว่าปฏิสนธิในอบาย ที่มีสทารสันโดษ (ยินดีในภรรยาของตน) เป็นมูล หามีไม่. บทว่า ทนฺธวิราคี ความว่า ก็ราคะนี้เมื่อจะคลาย ก็จะค่อยๆ คลาย ไม่หลุดพ้นไปเร็ว จะติดตามอยู่นาน เหมือน (ผ้า) ที่ย้อมด้วยเขม่าเจือด้วยน้ำมัน ถึงจะไปสู่ภพอื่น ๒-๓ ภพ ก็ยังไม่จากไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทันธวิราคี (คลายออกช้าๆ )
โทสะ มีโทษมาก คลายเร็ว โทสะ ชื่อว่ามีโทษมาก ด้วยเหตุ ๒ สถาน คือ ด้วยอำนาจโลกวัชชะ ๑ ด้วยอำนาจ วิปากวัชชะ ๑. ข้อนี้เป็นอย่างไร. คือผู้อันโทสะประทุษร้ายแล้ว ย่อมประพฤติผิดในมารดาก็ได้ ในบิดาก็ได้ ในพี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาวก็ได้
ในบรรพชิตก็ได้ ในที่ทุกแห่งที่ผ่านไป เขาจะได้คำครหาอย่างใหญ่หลวงว่า ผู้นี้ประพฤติผิด แม้ในมารดาบิดา แม้ในพี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว แม้ใบรรพชิต. โทสะ ชื่อว่ามีโทษมากด้วยสามารถแห่งโทษที่เป็นโลกวัชชะ ดังพรรณนามานี้ก่อน แต่เขาจะได้เสวยผลในนรก ตลอดกัปด้วยอนันตริยกรรมที่ตนทำไว้ ด้วยอำนาจโทสะ. โทสะชื่อว่า มีโทษมาก ด้วยอำนาจแห่งโทษที่เป็นวิปากวัชชะ ดังพรรณนามานี้แล. บทว่า ขิปฺปวิราคี แปลว่า คลายเร็ว. อธิบายว่า ผู้ที่ถูกโทสะประทุษร้ายแล้วประพฤติผิดในมารดาบิดาบ้าง ในเจดีย์บ้าง ในโพธิพฤกษ์บ้าง ในบรรพชิตทั้งหลายบ้าง เขาขอลุแก่โทษว่า ท่านทั้งหลายจงอดโทษแก่ข้าพเจ้า. พร้อมด้วยการขอขมาของเขา กรรมนั้นจะกลับกลายเป็นปกติไปทันที.
โมหะ มีโทษมากด้วย คลายช้าด้วย โมหะชื่อว่า มีโทษมาก เพราะเหตุ ๒ สถานเหมือนกัน ข้อนี้ อย่างไร. คือ คนที่หลงแล้วเพราะโมหะ จะประพฤติผิดในมารดาบิดาบ้าง ในพระเจดีย์บ้างในโพธิพฤกษ์บ้าง ในบรรพชิตบ้าง แล้วได้รับการติเตียนในที่ๆ ตนไปแล้วๆ . โมหะชื่อว่ามีโทษมากด้วยสามารถแห่งโทษที่เป็นโลกวัชชะอย่างนี้ก่อน. แต่เขาจะต้องเสวยผลในนรกตลอดกัลป์ เพราะอนันตริยกรรมที่เขาทำไว้ด้วยอำนาจโมหะ. โมหะชื่อว่ามีโทษมาก แม้ด้วยสามารถแห่งโทษที่เป็นวิปากวัชชะ ดังพรรณนามานี้แล.
บทว่า ทนฺธวิราคี แปลว่า ค่อยๆ คลายไป อธิบายว่า กรรมที่ผู้หลงเพราะโมหะทำไว้ จะค่อยๆ พ้นไป. อุปมาเสมือนหนึ่งว่า หนังหมีที่เขาฟอกอยู่ถึง ๗ ครั้ง ก็ไม่ขาวฉันใด กรรมที่ผู้หลงแล้วเพราะโมหะทำแล้วก็ฉันนั้นเหมือนกัน จะไม่พ้นไปเร็ว คือจะค่อยๆ พ้นไปฉะนี้แล. (ข้อความจาก...อรรถกถา ติตถิยสูตร)
อื้ม... อ่านคำขยายความโดยละเอียดแล้วน่ากลัวทั้งหมดเลย
ขอบพระคุณมากค่ะ ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณในทุกความเห็น เป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านที่ได้อ่าน หากสังเกตความจริง จะเห็นความไม่มีตัวตนที่ว่า ผู้ที่ศึกษาได้รู้ว่า อกุศลคือ สิ่งที่ควรละ แต่ก็ยังไม่สามารถละได้ เพราะอะไร?
ก็เพราะความจริงคือ สภาพธรรมที่สะสมอกุศลมาแสนโกฏิกัปป์ เมื่อมีความเข้าใจถูกว่าทุกอย่างเป็นธรรม ก็จะค่อยๆ สะสมกุศลและละอกุศลทีละน้อยๆ ๆ ผู้ที่ไม่เข้าใจ ก็จะคิดว่า ผู้ที่ศึกษาธรรมต้องเป็นผู้ที่มีกิเลสน้อย หรือไม่มีกิเลส ซึ่งไม่เป็นเหตุเป็นผล เพราะยังมีอนุสัยกิเลสครบทั้ง 7 เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นได้ ครับ จึงควรมีความอาจหาญร่าเริงและมั่นคงในการศึกษาเพื่อให้เกิดความเห็นถูกต่อไปๆ ๆ ๆ ๆ
ขออนุโมทนาครับ