๓. เหรัญญกานิเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระเหรัญญกานิเถระ
โดย บ้านธัมมะ  19 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 40537

[เล่มที่ 51] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 59

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๒

๓. เหรัญญกานิเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระเหรัญญกานิเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 51]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 59

๓. เหรัญญกานิเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระเหรัญญกานิเถระ

[๒๗๐] ได้ยินว่า พระเหรัญญกานิเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า

วันและคืนย่อมล่วงไปๆ ชีวิตย่อมดับไป อายุของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมสิ้นไป เหมือนน้ำในแม่น้ำน้อย ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น คนพาลทำบาปกรรมอยู่ ย่อมไม่รู้สึกตัว ต่อภายหลัง เขาจึงได้รับทุกข์อันเผ็ดร้อน เพราะบาปกรรมนั้นมีวิบากเลวทราม.

อรรถกถาเหรัญญกานิเถรคาถา

คาถาของท่านพระเหรัญญกานิเถระ เริ่มต้นว่า อจฺจยนฺติ อโหรตฺตาว เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

ได้ยินว่า พระเถระนี้เกิดในเรือนแห่งตระกูล พระนครหงสาวดี ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ บรรลุนิติภาวะแล้ว รับจ้างผู้อื่นเลี้ยงชีพ วันหนึ่ง บริจาคผ้าครึ่งผืน ถวายสาวกของพระศาสดา นามว่า สุชาตะ ผู้กำลังแสวงหาผ้าบังสุกุลอยู่.

ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านบังเกิดในดาวดึงส์พิภพท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดเป็นบุตรของนายโจรโวสาสกะ ผู้เป็นนายบ้านของพระเจ้าโกศลในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่า เหรัญญกานิ.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 60

เขาเจริญวัยแล้ว พอบิดาล่วงลับไป ก็ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งนายบ้าน เห็นพุทธานุภาพ ในคราวที่ทรงรับพระเชตวันมหาวิหาร ได้เป็นผู้มีจิตศรัทธา มอบตำแหน่งนั้นให้แก่น้องชายของตน ทูลลาพระราชาบวชแล้ว เริ่มตั้งวิปัสสนา แล้วบรรลุพระอรหัต ต่อกาลไม่นานนัก. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่าน กล่าวไว้ในอปทานว่า

ครั้งนั้น สาวกชื่อว่า สุชาตะ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ แสวงหาผ้าบังสุกุล อยู่ที่กองหยากเยื่อ ใกล้ทางรก เราเป็นลูกจ้างของคนอื่นอยู่ในพระนครหงสาวดี ได้ถวายผ้าครึ่งผืนแล้ว อภิวาทด้วยเศียรเกล้า ด้วยกรรมที่ทำไว้ดีแล้วนั้นและด้วยการตั้งเจตน์จำนงไว้ เราละร่างมนุษย์ได้ไปสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ เราเป็นจอมเทวดาเสวยราชสมบัติในเทวโลก ๓๑ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๗ ครั้ง และได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ โดยคณนานับมิได้ เพราะถวายผ้าครึ่งผืนเป็นทาน เราเป็นผู้ไม่มี ภัยแต่ที่ไหนๆ เบิกบานอยู่ ทุกวันนี้เราปรารถนาก็พึงเอาผ้าเปลือกไม้คลุมแผ่นดินนี้ พร้อมทั้งป่าและภูเขาได้ นี้เป็นผลแห่งผ้าครึ่งผืน ในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้ เราได้ให้ทานใด ในกาลนั้น ด้วยทานนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งผ้าครึ่งผืน.เราเผากิเลสทั้งหลาย แล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 61

ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว มีความประสงค์จะให้น้องชายของตน เลิกจากการประกอบการงานนั้น เมื่อจะตักเตือนน้องชาย เพราะเห็นเขายินดีอยู่แต่ในการงานนั้นแหละ จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า

วันและคืนย่อมล่วงไปๆ ชีวิตย่อมดับไป อายุของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมสิ้นไปเหมือนน้ำในแม่น้ำน้อย ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น คนพาลทำบาปกรรมอยู่ ย่อมไม่รู้สึกตัว ต่อภายหลัง เขาจึงได้รับทุกข์อันเผ็ดร้อน เพราะบาปกรรมนั้น มีวิบากเลวทราม ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อจฺจยนฺติ แปลว่า ก้าวล่วงไป อธิบายว่า กำลังจากไปอย่างรวดเร็ว.

บทว่า อโหรตฺตา แปลว่า ทั้งกลางคืนและกลางวัน.

บทว่า ชีวิตํ อุปรุชฺฌติ ความว่า ก็ชีวิตินทรีย์ ย่อมดับด้วยสามารถแห่งการดับไปทุกๆ ขณะ สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ดูก่อนภิกษุ เธอ ย่อมแก่ ย่อมเจ็บ ย่อมตาย ย่อมจุติ และอุปบัติ ทุกๆ ขณะดังนี้.

บทว่า อายุ ขียติ มจฺจานํ ความว่า อายุของสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ ที่ได้นามว่า มัจจะ เพราะมีอันจะต้องตายเป็นสภาพ ได้แก่ อายุที่กำหนดเวลาอย่างสูงไว้ว่า สัตว์ใดมีชีวิตอยู่ได้นาน สัตว์นั้นก็อยู่ได้แค่ร้อยปี น้อยหรือ มากไปบ้าง ย่อมสิ้นไป คือถึงความสิ้นไปและความแตกดับ เหมือนอะไร? เหมือนน้ำในแม่น้ำน้อย ฉะนั้น ธรรมดาน้ำของแม่น้ำน้อย คือแม่น้ำเล็กๆ ที่ไหลมาจากภูเขา ย่อมตั้งอยู่ได้ไม่นาน แห้งไปอย่างรวดเร็ว คือพอไหลมาเท่านั้น ก็ขาดแห้งไป ฉันใด อายุของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ย่อมสิ้นไป เร็วกว่า คือ ถึงความสิ้นไป ก็น้ำนั่นแล ในคาถานี้ ท่านเรียกว่า โอทกัง เหมือนอย่างใจนั่นแล ท่านเรียกว่า มานัส.


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 62

บทว่า อถ ปาปานิ กมฺมานิ กรํ พาโล น พุชฺฌติ ความว่า เมื่อสงสารแม้เป็นของไม่เที่ยง มีอยู่อย่างนี้ คนพาลทำกรรมอันลามก ด้วย สามารถแห่งความโลภหรือด้วยสามารถแห่งความโกรธ แม้เมื่อกระทำก็ไม่รู้ตัว และกำลังกระทำความชั่วอยู่ จะไม่รู้ว่า เราทำชั่วอยู่ ย่อมไม่มี แต่เพราะไม่รู้ว่า กรรมนี้ มีทุกข์เป็นวิบากเห็นปานนี้ ดังนี้ ท่านจึงกล่าวว่า น พุชฺฌติ ย่อมไม่รู้ตัว ดังนี้.

บทว่า ปจฺฉาสฺส กฏุกํ โหติ ความว่า แม้ถ้าในขณะที่สั่งสม กรรมอันลามกนั้น จะไม่รู้ว่า กรรมนี้มีผลอย่างนี้ แต่ภายหลังจากนั้น ทุกข์ อันเผ็ดร้อน ไม่น่าปรารถนานั่นแหละ จะมีแก่คนพาลนั้น ผู้บังเกิดในอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น.

เพราะบาปกรรมนั้น มีผลเลวทราม คือ เพราะขึ้นชื่อว่ากรรมอันลามกนั้น มีผลลามก เลวทราม ไม่น่าปรารถนานั่นเอง ก็น้องชายของพระเถระครั้นฟังโอวาทนี้แล้ว ทูลลาพระราชา บวชแล้ว ยังประโยชน์ตนให้ สำเร็จแล้ว ต่อกาลไม่นานนัก.

จบอรรถกถาเหรัญญกานิเถรคาถา