จากคำบรรยาย "แนวทางเจริญวิปัสสนา" ครั้งที่ 665 - 668 ท่านอาจารย์เล่าเรื่องที่ได้รับเชิญไปสัมมนาทางพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ปี ๒๕๒๐ ได้สนุกและมีประโยชน์น่าติดตามมากค่ะ
... ขอเล่าเรื่องไปสัมมนาพระพุทธศาสนาที่ประเทศศรีลังกา ที่ได้รับเชิญจากสำนักข่าวสารพระพุทธศาสนา ประเทศศรีลังกา ให้ไปร่วมสัมมนาธรรม ทั้งหมดเป็นเวลา ๕ อาทิตย์ ตั้งแต่วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๒๐ จนกระทั่งถึงวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๐
คนไทยก็ใช้เครื่องบินสายการบินไทย ซึ่งออกเดินทางจากกรุงเทพไปโคลัมโบอาทิตย์ละครั้งเดียวเท่านั้น คือวันพุธ เพราะฉะนั้น ไปก็ต้องไปวันพุธ กลับก็ต้องกลับวันพุธ ในวันพุธที่ ๓๐ มีนาคม เครื่องบินออกจากสนามบินตรงเวลา ถึงสนามบินโคลัมโบประมาณ ๑๑ นาฬิกา
ท่านผู้ฟังทุกท่านคงจะเคยได้อ่านหนังสือที่คุณนีน่า วัน กอร์คอมเป็นผู้เขียน เรื่อง “ธรรมทัศนะในชีวิตประจำวัน” และ “ธรรมปฏิบัติในชีวิตประจำวัน” ตามปกติคุณนีน่าก็จะเดินทางมาที่ประเทศอินเดียบ้าง หรือมาที่เมืองไทยบ้าง ๒ ปี ต่อ ๑ ครั้ง หลังจากที่ออกจากเมืองไทยแล้ว เมื่อ ๒ ปีก่อนก็ได้พบกันที่ประเทศอินเดีย แล้วก็ได้นมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย แล้วก็ตั้งใจว่าอีก ๒ ปีจะพบกันอีกครั้งหนึ่ง จะได้สนทนาธรรมกันที่ประเทศอินเดีย แต่เนื่องจากได้ไปประเทศศรีลังกา และเห็นว่าประเทศศรีลังกาเป็นประเทศที่น่าจะได้ไปนมัสการสถานที่ที่สำคัญต่างๆ เพราะเหตุว่าประเทศศรีลังการับพระพุทธศาสนาโดยตรงจากประเทศอินเดีย และมีพระพุทธศาสนาที่รุ่งเรืองมาก เพราะฉะนั้น ก็ขอให้คุณนีน่ามาที่ประเทศศรีลังกาแทนประเทศอินเดีย ซึ่งเครื่องบินของคุณนีน่าก็ถึงในวันเดียวกัน คือ วันพุธที่ ๓๐ มีนาคม แต่ว่าถึงก่อน คุณนีน่าก็รออยู่ที่สนามบิน ทางศรีลังกาได้จัดสัมมนาครั้งนี้เป็นครั้งแรก ไม่เคยมีมาก่อนเลย เพราะว่าเป็นเรื่องของธรรมจริงๆ แต่ก่อนนั้นก็อาจจะมีชาวต่างประเทศที่ไปพบปะ หรือไปนมัสการสถานที่สำคัญในประเทศ แต่ยังไม่เคยมีการจัดสัมมนาในเรื่องของธรรมะ
เพราะฉะนั้น ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรก ซึ่งผู้จัดคือ Capt. Siva Perera เพิ่งเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาได้ประมาณ ๑๒ – ๑๓ ปี และสำนักข่าวสารพระพุทธศาสนาที่ตั้งขึ้นนี้เพิ่งตั้งขึ้นประมาณ ๕ ปีเท่านั้น นับว่าตั้งขึ้นอายุไม่นานเท่ากับสมาคมพุทธศาสนาอื่นๆ แต่ก็สามารถที่จะจัดการเชิญในการสัมมนาครั้งนี้เป็นที่เรียบร้อยอย่างดียิ่ง ด้วยความร่วมมือของพุทธสมาคมต่างๆ ของประเทศศรีลังกา ความตั้งใจเดิมของ Capt. Siva Perera ของสำนักข่าวสารพระพุทธศาสนาที่ขอเชิญนี้ก็ตั้งใจที่จะเชิญถึง ๒ เดือน แต่เห็นว่าเวลา ๒ เดือนเป็นเวลาที่นานมาก ก็เลยตอบรับว่า ขอไปเพียง ๓ อาทิตย์ ซึ่งทางโน้นก็ต่อรองมาเป็น ๕ อาทิตย์ ก็เป็นอันตกลงว่า ใน ๕ อาทิตย์นี้จะไปที่โคลัมโบ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศศรีลังกา และก็ไปที่เมืองอนุราธปุระ ซึ่งเป็นเมืองหลวงเมืองแรกของศรีลังกา และเป็นเมืองที่พระมหินทร์ โอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อบวชเป็นพระมหินทรเถระแล้ว ก็ได้มาเผยแพร่ที่ประเทศศรีลังกา และได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาครั้งแรกที่เมืองอนุราธปุระ และอีกเมืองหนึ่ง คือ เมืองแคนดี้ ซึ่งเป็นเมืองหลวงสุดท้าย ก่อนจะเสียประเทศแก่รัฐบาลอังกฤษ
เพราะฉะนั้น ในการไปคราวนี้ก็ไปที่เมืองโคลัมโบ อนุราธปุระ และแคนดี้ ทางสำนักข่าวสารพระพุทธศาสนาที่ Capt. Perera เป็นผู้จัด ก็ได้ให้ช่างภาพมาถ่ายรูปที่สนามบิน ความจริงวันนี้ตั้งใจจะเอารูปมาให้ดูด้วย แต่ก็ลืม แต่ก็คงไม่สำคัญ แต่ว่าการสัมมนาคราวนี้นับว่าเป็นข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งของประเทศศรีลังกา เพราะเหตุว่าในวันแรกที่ไปมีหนังสือพิมพ์ถ่ายรูปและลงเรื่อง และทุกวันก็มีข่าวในหนังสือพิมพ์ที่ว่าคณะสัมมนาไปทำอะไร ที่ไหน ในการไปครั้งนี้ได้พักกับครอบครัวของชาวศรีลังกา บ้านพักที่โคลัมโบ เป็นบ้านของมิสซิสพุชชา เทวาดิกาเร ชื่อของชาวศรีลังกาจะต้องเป็น เอ อา เสมอ
สำหรับมิสซิสพุชชา เทวาดิกาเร แต่งงานกับหลานของท่านอนาคาริกะธัมมปาละ ซึ่งทุกท่านก็คงจะชินหู ท่านเป็นผู้ที่ต่อสู้อย่างมากเพื่อที่จะให้มีพุทธสถานที่ประเทศอินเดีย แล้วก็เพื่อจะให้พระพุทธศาสนาตั้งมั่นคง
มิสซิสพุชชาเป็นผู้หญิงที่จิตใจโอบอ้อมอารี และมีความศรัทธามั่นคง ในพระพุทธศาสนา เมื่อได้ทราบข่าวว่า จะมีพวกเราเป็นผู้หญิงไปเผยแพร่ธรรม เพราะฉะนั้น ก็ติดต่อขอให้สำนักข่าวสารพระพุทธศาสนาจัดให้เราได้พักที่บ้าน ซึ่งเขาต้อนรับอย่างดี เป็นเวลาถึง ๑๖ วัน ตั้งแต่วันพุธที่ ๓๐ มีนาคม จนถึงวันที่ออกเดินทางไปอนุราธปุระในวันที่ ๑๖ เมษายน ทั้งอาหารเช้าและอาหารค่ำ ซึ่งก็ด้วยน้ำใจไมตรีอย่างดียิ่งของคุณพุชชา ก็ได้รับประทานอาหารเช้าของศรีลังกา ซึ่งเปลี่ยนรายการอาหารทุกวัน หรือเกือบจะทุกวัน หมายความเปลี่ยนไปๆ แล้วก็หมุนเวียนมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็มีอาหารที่คงจะเป็นอาหารดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งโน้นจนกระทั่งถึงในครั้งนี้ เช่น อาหารเช้าก็เป็นถีรภัต หรือจีรบัด ถีร ก็แปลว่าน้ำนม บัดหรือภัต ก็แปลว่าข้าว หมายความถึงข้าวที่หุงกับน้ำนม แต่ก็ทำเป็นรูปร่างลักษณะของข้าวหลาม เป็นท่อนยาวๆ แล้วก็รับประทานกับแกงโบ ซึ่งเป็นเหมือนน้ำพริกของชาวศรีลังกา แล้วก็มีวิธีทำหลายอย่าง แต่ว่าไม่เหมือนน้ำพริกของเราเลย เพียงแต่ว่ามีพริกแน่นอน ทางศรีลังกาก็รับประทานพริกมาก แล้วก็ใช้มะพร้าวมากเหมือนกัน แต่ว่าไม่เหมือนน้ำพริกเผา ไม่เหมือนน้ำพริกหนุ่ม ไม่เหมือนน้ำพริกอะไรทั้งนั้นสักอย่างเดียว แต่คณะของเราก็กินง่าย อยู่ง่าย รับประทานอาหารของเขาได้ทุกอย่าง ไม่เป็นที่ลำบากใจกับเจ้าของบ้านเลย
คุณนีน่าก็พักที่บ้านนี้ด้วย เพื่อความสะดวกก็เลยเรียกคุณพุชชา เป็นคุณบุษบา ซึ่งก็แปลว่าดอกไม้ ผู้ที่พักบ้านคุณบุษบามี ๓ คน คือ ดิฉัน คุณดวงเดือน และคุณนีน่า วัน กอร์คอม จัดห้องนอนเป็น ๒ ห้อง ดิฉันนอนกับคุณนีน่า และคุณดวงเดือนเป็นห้องต่างหาก ซึ่งมีโต๊ะเขียนหนังสือ มีโต๊ะเครื่องแป้ง สะดวกสบายมากสำหรับคุณดวงเดือน ซึ่งคุณดวงเดือนได้ช่วยทำประโยชน์มากทีเดียวที่ประเทศศรีลังกา
ตอนเย็นก็ได้ไปนมัสการพระมหานายกมาดิเร ปัญจสิงหะ ซึ่งท่านเป็นผู้ที่มีเมตตาในการจัดรายการครั้งนี้ เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่ชาวศรีลังกานิยมเคารพนับถือมาก เพราะฉะนั้น ท่านก็ติดต่อตามพุทธสมาคมต่างๆ ทั้งที่อนุราธปุระ และที่แคนดี้ ให้ได้รับความสะดวกสบายทุกประการ นับได้ว่าท่านเป็นกำลังสำคัญยิ่งในการจัดรายการสัมมนาคราวนี้
นอกจากจะได้นมัสการท่านพระมหานายกที่ B.I.C. คือ ที่ Buddhist Information Center หรือสำนักข่าวสารพระพุทธศาสนานี้ ก็ยังได้พบกับคณะกรรมการทั้งหมดของ B.I.C. (Buddhist Information Center) เพื่อที่จะได้จัดเตรียมหัวข้อสัมมนาว่าจะทำในรูปไหน ซึ่งในที่สุดก็เสนอให้ทางฝ่ายศรีลังกาเห็นประโยชน์ว่า ถ้าจัดไปในเรื่องคำถามคำตอบ ไม่ว่าจะเป็นในการปฏิบัติ หรือในหัวข้อธรรม ก็จะมีประโยชน์กว่า เพราะเหตุว่าเป็นแนวใหม่ ซึ่งในครั้งก่อนๆ โดยมากการศึกษาธรรมก็มักจะทำแบบปาฐกถา แล้วคนฟังก็ไม่มีโอกาสจะร่วมซักถามเลย ถ้าเป็นอย่างนั้นประโยชน์ก็น้อย และเนื่องจากมีเวลาอยู่น้อยมาก ก็ควรจะเป็นในเรื่องของการตอบปัญหาธรรม หรือการซักถามในข้อธรรมซึ่งทางฝ่ายกรรมการของ B.I.C. ก็เห็นด้วย แล้วก็ตกลงให้เป็นเรื่องของธรรมและการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน
.........
ขอเชิญติดตามตอนต่อไปได้ที่ลิงค์ด้านล่าง.....
เมื่อท่านอาจารย์ได้รับเชิญไปสัมมนาทางพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ปี ๒๕๒๐ (2)
เมื่อท่านอาจารย์ได้รับเชิญไปสัมมนาทางพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ปี ๒๕๒๐ (3)
เมื่อท่านอาจารย์ได้รับเชิญไปสัมมนาทางพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ปี ๒๕๒๐ (4)
เมื่อท่านอาจารย์ได้รับเชิญไปสัมมนาทางพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ปี ๒๕๒๐ (5)
เมื่อท่านอาจารย์ได้รับเชิญไปสัมมนาทางพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ปี ๒๕๒๐ (6)
เมื่อท่านอาจารย์ได้รับเชิญไปสัมมนาทางพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ปี ๒๕๒๐ (7)
เมื่อท่านอาจารย์ได้รับเชิญไปสัมมนาทางพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ปี ๒๕๒๐ (8)
เมื่อท่านอาจารย์ได้รับเชิญไปสัมมนาทางพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ปี ๒๕๒๐ (9)
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาอย่างยิ่งค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ