ปกติจิต คือ ตัวรู้ คือสภาพรู้ ส่วนสติ อธิบายว่า ระลึกรู้ บางครั้งก็ยากที่จะเข้าใจ เพื่อให้เข้าใจบริบท
๑. อยากให้ช่วยอธิบายว่า ขณะที่มีสติกับขณะที่ไม่มีสติ มีลักษณะที่ต่างกันอย่างไรเช่น ขณะเห็นที่มีสติ กับขณะเห็นโดยไม่มีสติ
๒. สติเกิดกับกุศลจิตกับกิริยาจิตเท่านั้นใช่หรือไม่
๓. ถ้าสังเกตว่าขณะใดมีสติ สังเกตจากว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศลได้หรือไม่
๔. เมื่อสติเกิดจะเป็นปัจจัยให้เกิดอะไรต่อไป
๕. คำว่า สังขาร ในขันธ์ ๕ นั้น มนสิการเจตสิกเป็นสังขารขันธ์ คือการคิดนึก ลักษณะที่คิดนึก คือมนสิการเจตสิกเท่านั้นใช่หรือไม่
๖. สังขารขันธ์ เป็นขันธ์ที่มีสมาชิกมากที่สุด อยากทราบว่าในการคิดของคนธรรมดาคิดไปกี่แบบ และประกอบด้วยเจตสิกอะไร
๗. เวลานึกถึงสัญญาที่เก็บไว้ในจิต จำเป็นหรือไม่ที่ต้องใช้สติ เปรียบเหมือนอาหารคือ สัญญา ช้อนคือ สติ หรือว่าสติก็อย่างหนึ่ง สัญญาก็อย่างหนึ่ง ดังนั้น เวลาที่เรานึกถึงเรื่องราวในอดีตที่ด้วยความโลภ โกรธ หรือหลง ไม่มีสติเกิดร่วมด้วย ดังนั้น สัญญาทำงานโดยไม่ต้องมีสติเกิดร่วมด้วยใช่หรือไม่
* ขณะที่มีสติกับขณะที่หลงลืมสติ มีลักษณะที่ต่างกันอย่างไร ผู้เจริญสติย่อมทราบความต่างกันด้วยสติและสัมปชัญญะของตน
* สติเจตสิกเกิดร่วมกับโสภณจิต คือ กุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต * การสังเกตว่าขณะใดมีสติ สังเกตจากว่าขณะนั้นจิตเป็นกุศล
* เมื่อสติเกิดย่อมเป็นปัจจัยให้โสภณธรรมอื่นๆ เกิดขึ้น เช่น ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา
* ลักษณะที่คิดนึกมีเจตสิกหลายประเภทที่เกิดร่วมกัน
* สังขารขันธ์ เป็นขันธ์ที่มีธรรมมาก คือ เจสิก ๕๐ ประเภท ปุถุชนย่อมคิดทั้งกุศลและอกุศล
* สัญญาเกิดกับจิตทั้ง ๔ ชาติ ถ้าเป็นอกุศลสัญญาไม่มีสติเกิดร่วมด้วย
สติเกิดไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้ เช่น ขณะที่ให้ทาน สติปัฏฐานไม่ได้เกิดร่วมด้วย แต่ปัญญาเกิดต้องมีสติเกิดร่วมด้วยเสมอค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
๑. อยากให้ช่วยอธิบายว่า ขณะที่มีสติกับขณะที่ไม่มีสติ มีลักษณะที่ต่างกันอย่างไร เช่น ขณะเห็นที่มีสติกับขณะเห็นโดยไม่มีสติ
สติมีหลายระดับ แต่โดยนัยนี้คงหมายถึง สติปัฏฐาน ตามปกติเมื่อเห็นก็ย่อมมีสิ่งที่ถูกเห็น สิ่งที่ถูกเห็นตามความเป็นจริงแล้ว ต้องเป็นเพียงสีเท่านั้น แต่เพราะสติไม่เกิดและสภาพธัมมะเกิดดับเร็วมาก เมื่อเห็นก็เห็นเป็นคน เป็นสัตว์เป็นสิ่งต่างๆ ทันที ซึ่งถ้าสติปัฏฐานเกิดแล้ว ในขณะที่เห็นย่อมรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น (สี) แต่เมื่อสติปัฏฐานไม่เกิด ก็ไม่รู้ถึงลักษณะของสภาพธัมมะที่เป็นปรมัตถธรรม ที่เป็นสิ่งที่มีจริงในขณะที่เห็นครับ ในทวารอื่นก็เช่นกัน ทางหู จมูก ... ก็โดยนัยเดียวกัน สรุปคือ สติเกิดต้องรู้ลักษณะของสภาพธัมมะว่าเป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน สติไม่เกิดก็ไม่รู้ลักษณะของสภาพธัมมะที่กำลังปรากฎว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เราครับ
๓. ถ้าสังเกตว่าขณะใดมีสติ สังเกตจากว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศลได้หรือไม่
ที่สำคัญ คือจะรู้จริงๆ ได้อย่างไรว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล นี่เป็นประการสำคัญ ก็ไม่พ้นจากสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ว่าขณะใดเป็นสภาพธัมมะใด แต่ที่สำคัญ การอบรมปัญญา (สติปัฏฐาน) ไม่ต้องกังวลหรือเจาะจงว่า จะรู้ว่าขณะใดมีสติ หรือไม่มีสติ แต่การอบรมปัญญา คือรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา แม้ขณะที่เป็นอกุศล (ไม่มีสติ) ก็รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราครับ
๔. เมื่อสติเกิดจะเป็นปัจจัยให้เกิดอะไรต่อไปสติมีหลายระดับ สติขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสมถภาวนา ขั้นวิปัสสนาภาวนา สติขั้นทาน เกิดก็เป็นปัจจัยให้สติที่ระลึกเป็นไปในทานเกิดได้บ่อยขึ้น เช่นเดียวกับความโกรธเกิดขึ้นก็สะสมให้เกิดความโกรธได้ง่ายขึ้น สติขั้นวิปัสสนาภาวนา (สติปัฏฐาน) เกิด (มีปัญญาเกิดร่วมด้วย) ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้รู้ความจริงมากขึ้นว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ละความไม่รู้มากขึ้น และก็เป็นปัจัยให้สติขั้นวิปัสสนาเกิดมากขึ้นจนเป็นพละ มีกำลังและจนถึงองค์แห่งการตรัสรู้ (โพชฌงค์) และบรรลุมรรคผล แต่เป็นเรื่องไกลครับ
๗. เวลานึกถึงสัญญาที่เก็บไว้ในจิต จำเป็นหรือไม่ที่ต้องใช้สติ เปรียบเหมือนอาหาร คือสัญญาช้อนคือ สติ หรือว่า สติก็อย่างหนึ่ง สัญญาก็อย่างหนึ่ง ดังนั้น เวลาที่เรานึกถึงเรื่องราวในอดีตที่ด้วยความโลภ โกรธ หรือหลง ไม่มีสติเกิดร่วมด้วย ดังนั้น สัญญาทำงานโดยไม่ต้องมีสติเกิดร่วมด้วยใช่หรือไม่
สัญญาเกิดกับจิตทุกประเภท ไม่ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล สติเกิดกับจิตที่ดีงามเท่านั้น ไม่เกิดกับจิตที่เป็นอกุศล การนึกถึงเรื่องที่ผ่านมาด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิตก็ได้ ขณะที่นึกคิดถึงเรื่องที่ผ่านมาด้วยจิตที่เป็นกุศล ย่อมมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย สติทำหน้าที่ระลึก ไม่ใช่สัญญาทำหน้าที่ระลึกเรื่องนั้น แต่ถ้านึกคิดถึงเรื่องที่ผ่านมาด้วยจิตที่เป็นอกุศล สติเจตสิกไม่เกิดร่วมด้วย (สติไม่เกิดกับอกุศลจิต) แต่การนึกระลึกขึ้นได้ เป็นหน้าที่ของวิตกเจตสิก ไม่ใช่สติและสัญญา สัญญาจำเท่านั้น ไม่ใช่นึก ระลึกขึ้นได้ครับ
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขออนุโมทนาครับ