เจโตขีลสูตร - ผาสุวิหารสูตร - o๘ เม.ย. ๒๕๔๙
โดย บ้านธัมมะ  6 เม.ย. 2549
หัวข้อหมายเลข 1031

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••


ทุกวันเสาร์ ขอเชิญร่วมรายการ

สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๘ เมษายน ๒๕๔๙

เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น.

มีสองพระสูตร คือ

เจโตขีลสูตร ว่าด้วยตะปูตรึงใจ ๕ ประการ

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓- หน้าที่ 451-

สุวิหารสูตร ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการ

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓- หน้าที่ 241-242

นำการสนทนาโดย..ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

ขอเชิญท่านอ่านพระสูตรนี้ได้ในกรอบต่อไป ครับ



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 6 เม.ย. 2549

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓- หน้าที่ 451

๕. เจโตขีลสูตร ว่าด้วยตะปูตรึงใจ ๕ ประการ

[๒๐๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตะปูตรึงใจ ๕ ประการนี้ ๕ ประการ เป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในศาสดา ภิกษุใด ย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่ เลื่อมใสในศาสดา จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความ ประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นตะปูตรึงใจ ข้อที่ ๑

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในธรรม ภิกษุใด ย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใส ในธรรม จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบ เนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นตะปูตรึงใจ ข้อที่ ๒.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์ ภิกษุใด ย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์ จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความ ประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นตะปูตรึงใจข้อที่ ๓

อีกบระการหนึ่ง ภิกษุย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในสิกขา ภิกษุใด ย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใส ในสิกขา จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบ เนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นตะปูตรึงใจข้อที่ ๔

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมโกรธ มีใจไม่แช่มชื่น มีจิตอันโทสะกระทบแล้ว กระด้างในพวกเพื่อนพรหมจรรย์ จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่น้อมไป เพื่อความเพียร เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำติดต่อ เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นตะปูตรึงใจข้อที่ ๕

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตะปูตรึงใจ ๕ ประการนี้แล

จบ เจโตขีลสูตรที่ ๕


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 6 เม.ย. 2549

อรรถกถาเจโตขีลสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในเจโตขีลสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้:

บทว่า เจโตขีลา ได้แก่ ความกระด้าง ความเป็นขยะ ความเป็นหลักตอแห่งจิต

บทว่า สตฺถริ กงฺขติ ความว่า ภิกษุย่อมสงสัยในพระวรกาย หรือในพระคุณของพระศาสดา เมื่อสงสัยในพระวรกาย ย่อมสงสัยว่า พระวรกาย ชื่อว่าประดับด้วยปุริสลักษณะ ๓๒ มีอยู่ หรือไม่มีหนอดังนี้ เมื่อสงสัยในคุณ ย่อมสงสัยว่า พระสัพพัญญุตญาณซึ่งสามารถรู้อดีต อนาคต และปัจจุบันมีอยู่ หรือไม่มีหนอดังนี้

บทว่า วิจิกิจฺฉติ ได้แก่ เลือกเฟ้นยาก ย่อมถึงความลำบาก คือไม่สามารถจะตัดสินใจได้

บทว่า นาธิมุจฺจติ ได้แก่ ย่อมไม่ได้ความน้อมใจเชื่อว่าสิ่งนั้นอย่างนี้

บทว่า น สมฺปสีทติ ความว่า หยั่งลงในคุณแล้วก็ไม่สามารถจะเลื่อมใส คือมีใจไม่ขุ่นมัว เพราะ ไม่มีความสงสัยได้

บทว่า อาตปฺปาย ได้แก่ เพื่อทำความเพียรเผาผลาญ กิเลส

บทว่า อนุโยคาย ได้แก่ เพื่อความประกอบบ่อยๆ

บทว่า สาตจฺจาย ได้แก่ เพื่อทำติดต่อกัน

บทว่า ปธานาย ได้แก่ เพื่อตั้งความเพียร

บทว่า อย ปโม เจโตขีโล ความว่า ภาวะนี้เป็นความกระด้างแห่งจิตข้อที่หนึ่ง คือความสงสัยในพระศาสดานี้ อย่างนี้แล ภิกษุนั้นก็ละยังไม่ได้

บทว่า ธมฺเม คือในปริยัติธรรม และปฏิเวธธรรม ก็เมื่อสงสัยใน ปริยัติธรรม ย่อมสงสัยว่า อาจารย์ทั้งหลายกล่าวกันว่า พระไตรปิฎกพุทธพจน์ มีแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ดังนี้ พระพุทธพจน์นั้นมีอยู่ หรือไม่มีหนอดังนี้ เมื่อสงสัยในปฏิเวธธรรม ย่อมสงสัยว่า อาจารย์ทั้งหลายกล่าวกันว่า ผลแห่ง วิปัสสนา ชื่อว่ามรรค ผลของมรรค ชื่อว่าผล ธรรมที่สละคืนสังขารทั้งปวง ชื่อว่านิพพาน ดังนี้ นิพพานนั้นมีอยู่ หรือไม่มีหนอ ดังนี้

บทว่า สงฺเฆ กงฺขติ ความว่า ย่อมสงสัยว่า ชื่อว่าสงฆ์ ผู้ดำเนิน ตามปฏิปทาเห็นปานนี้ ตามบทเป็นต้นว่า อุชุปฏิปนฺโน ดังนี้ เป็นชุมนุม แห่งบุคคล ๘ คือ ท่านผู้ตั้งอยู่ในมรรค ๔ ท่านผู้ตั้งอยู่ในผล ๔ มีอยู่ หรือไม่มี หนอดังนี้ เมื่อสงสัยในสิกขา ย่อมสงสัยว่า อาจารย์ทั้งหลายกล่าวกันว่า อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ดังนี้ สิกขานั้นมีอยู่ หรือไม่มีหนอดังนี้

บทว่า อย ปญฺจโม ความว่า ภาวะนี้เป็นความกระด้าง ความเป็น ขยะ เป็นหลักตอแห่งจิตข้อที่ห้า คือความขัดเคืองในเพื่อนสพรหมจารี

จบ อรรถกถาเจโตขีลสูตรที่ ๕


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 6 เม.ย. 2549

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 241

๕. ผาสุวิหารสูตร ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการ

[๑๐๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบ ด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑

เข้าไปตั้งวจีกรรม ประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑

เข้าไปตั้ง มโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑

มีศีลอันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฏฐิไม่เกี่ยวเกาะ เป็นไปเพื่อสมาธิ เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑

ทิฏฐิอันเป็นอริยะ เป็นเครื่องนำออก ย่อมนำออก เพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ แห่งผู้กระทำ เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ๑.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ๕ ประการนี้แล.

จบ ผาสุวิหารสูตรที่ ๕


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 6 เม.ย. 2549

อรรถกถาผาสุวิหารสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในผาสุวิหารสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :

บทว่า เมตฺต กายกมฺม ได้แก่ กายกรรมที่ให้เป็นไปด้วยจิต ประกอบด้วยเมตตา.

บทว่า อาวิ เจว รโห จ ได้แก่ ทั้งต่อหน้าและ ลับหลัง. แม้ในบทนอกนี้ ก็นัยนี้แหละ.

บทว่า ยานิ ตานิ สีลานิ เป็นต้น ตรัสด้วยจตุปาริสุทธิศีล.

บทว่า สมาธิสวตฺตนิกานิ ได้แก่ อันทำให้มรรคสมาธิและผลสมาธิบังเกิด

บทว่า สีลสามญฺคโต แปลว่า ถึงความเป็นผู้มีศีลเสมอกัน อธิบายว่า เป็นผู้มี ศีลเช่นเดียวกัน

บทว่า ตกฺกรสฺส ได้แก่ ผู้กระทำตามความเห็นนั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสความมีศีลเสมอกัน ตรัสทิฏฐิวิปัสสนาและสัมมาทิฏฐิ ในสูตรนี้ ด้วยประการฉะนี้.

จบ อรรถกถาผาสุวิหารสูตรที่ ๕


ความคิดเห็น 5    โดย chatchai.k  วันที่ 17 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ความคิดเห็น 6    โดย swanjariya  วันที่ 18 ต.ค. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง