อคติ คืออะไรคะ
คำว่า อคติ หมายถึง ฐานะอันไม่พึงถึง ทางความประพฤติที่ผิด ความลำเอียง มี ๔ คือ
๑. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรัก
๒. โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง
๓. โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา
๔. ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว
ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่ ...
เหตุใดพระโสดาบันจึงไม่ล่วงอคติ 4
พระโสดาบันดับกิเลสหยาบอันได้แก่ "อคติ ๔" ได้แล้วเป็นสมุจเฉท ถูกต้องไหมคะ แต่ เหตุใด พระโสดาบันจึงยังร้องไห้ เพราะเหตุแห่งการเสียชีวิตของญาติ (ท่านวิสาขามิคารมาตา) หรือ ความเศร้าหมองใจในทานที่ให้ (ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี) กรุณาอธิบาย เหตุ ผล
ความแตกต่าง เช่นนี้ ระหว่างบุคคล ที่ชื่อว่า ไม่มีความเห็นผิดในสภาพธรรมเพราะประจักษ์แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว ว่าไม่มีเรา ไม่มีของของเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน ฯลฯ (พระโสดาบัน และ พระสกทาคามี) กับ กัลยาณปุถุชน ด้วยค่ะและมีการอ้างอิง เรื่อง พระโสดาบันละ อคติ ๔ ได้เป็นสมุจเฉท ในพระไตรปิฎก บ้างไหมคะ กรุณาแนะนำด้วยนะคะ
ขอขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ
เท่าที่สังเกต อคติ อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ มีอิทธิพลมาก ในชีวิตประจำวันของผู้มีกิเลส จึงอยากทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เรื่อง อคติ ๔ ด้วยพุทธประสงค์ โดยนัยที่วิจิตร อย่างไรบ้างคะ
เรียน ความเห็นที่ 2
การเสียใจ การร้องไห้ของพระโสดาบัน เป็นของธรรมดาแม้ว่าท่านจะดับความเห็นผิดได้แล้วก็ตาม แต่ท่านยังละกิเลสประเภทกามราคะและโทสะ ยังไม่ได้ เมื่อยังมีความติดข้องในกามอยู่ โทสะก็ย่อมเกิดเป็นธรรมดาแต่มิได้หมายความว่า ขณะนั้นท่านยึดถือโดยความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์บุคคลจริงๆ ส่วนท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในช่วงที่ท่านยากจนลง ไทยธรรมที่ท่านมี แต่ไม่ประณีตท่านก็ไม่เกิดปีติโสมนัสเหมือนแต่ก่อนที่เคยถวายสิ่งของดีๆ ดังนั้นจิตเศร้าหมองก็ย่อมมีได้เป็นของธรรมดา และข้อความบางตอนจาก สิงคาลกสูตร เรื่อง อคติ มีดังนี้
[๑๗๖] อริยสาวกไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ เป็นไฉน ปุถุชนถึงฉันทาคติ ย่อมทำกรรมลามก ถึงโทสาคติ ย่อมทำกรรมลามก ถึงโมหาคติย่อมทำกรรมลามก ถึงภยาคติ ย่อมทำกรรมลามก. ดูก่อนคฤหบดีบุตรส่วนอริยสาวก ไม่ถึงฉันทาติ ไม่ถึงโทสาคติ ไม่ถือโมหาคติ ไม่ถึงภยาคติ ท่านย่อมไม่ทำกรรมอันลามก โดยฐานะ ๔ เหล่านี้...
เรียน ความเห็นที่ 2
การร้องไห้ ขณะนั้นเป็นโทสมูลจิต แต่ขณะนั้นไม่ได้หมายความว่าต้องลำเอียง (อคติ) ท่านไม่ได้เกิดความลำเอียงเลยในขณะที่ร้องไห้ว่า คนนี้เรารักมากจะต้องให้สิ่งต่างๆ มาก คนนี้ไม่ชอบ ท่านจะให้น้อย แต่เพราะอำนาจโลภะที่พอใจในรูป เสียง ... มีอยู่ เมื่อพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ท่านก็เสียใจ ร้องไห้ ซึ่งขณะนั้นท่านไมได้มีความลำเอียง
เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้หมายความว่าเมื่อเป็นอกุศลประภทใดแล้วจะต้องเป็นอคติเสมอเช่นเดียบกับกรณีท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ของที่ให้ของท่านเศร้าหมอง แต่จิตไม่เศร้าหมอง และเมื่อลูกสาวของท่านตาย ท่านก็ร้องไห้อย่างมาก ขณะนั้นไมไได้เกิดความลำเอียง แต่เป็นโทสมูลจิตอันเป็นเหตุมาจาก ยังมีความยินดีพอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส ซึ่งขณะที่ร้องไห้ ไม่ใช่ความลำเอียง โดยนัยเดียวกัน แม้แต่ปุถุชนขณะที่ร้องไห้เสียใจ เพราะพลัดจากสิ่งที่รัก เป็นต้น ขณะนั้นก็ไม่ได้มีความลำเอียง เป็นไปตามเหตุที่มีความยินดีพอใจ ในรูป ... นั่นเอง
ซึ่งเราจะต้องเข้าใจว่า ขณะที่ลำเอียงนั้นมีลักษณะอย่างไร เช่น ขณะให้ของมากเพราะผู้นี้เป็นที่รัก เป็นต้น เพระาฉะนั้น ขณะใดที่เป็นอกุศลจึงไม่ได้หมายความว่ามีความลำเอียงเสมอไป
ขออนุโมทนาครับ
เรียน ความเห็นที่ 3
ที่ถามว่า เท่าที่สังเกต ... อคติ อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ มีอิทธิพลมาก ในชีวิตประจำวันของผู้มีกิเลส จึงอยากทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เรื่อง อคติ ๔ ด้วยพุทธประสงค์ โดยนัยที่วิจิตร อย่างไรบ้างคะ
ธรรมขอพระพุทธเจ้าทรงแสดงโดยนัยวิจิตรต่างๆ เพื่อให้เห็นโทษของอกุศล เพื่อให้เห็นคุณของกุศล เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัดและเพื่อความเจริญปัญญาดับกิเลส โดยแสดงเป็นไปตามอัธยาศัยของสัตว์โลก แม้ในเรื่องของอคติ ความลำเอียง อคติเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรม พระองค์ทรงแสดงอกุศลธรรมด้วยความเป็นอกุศลธรรมคือเป็นธรรมและให้เห็นโทษของอกุศลธรรมตามความเป็นจริงด้วยปัญญา อันเกิดจากการฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเรื่องอคติ (ความลำเอียง) ว่า หากผู้ใดมีอคติแล้ว ล่วงธรรมคือทำอกุศลกรรม ก็ย่อมเสื่อมจากยศ เสื่อมจากกุศลธรรมและย่อมทำให้ไปอบายได้เพราะ เป็นผู้มีความลำเอียงแล้วทำอกุศลกรรมโดยนัยตรงกันข้าม พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นคุณของกุศลตามความเป็นจริง ดังนั้น ความไม่ลำเอียงด้วยจิตที่เป็นกุศล ผู้ที่ไม่ลำเอียงก็ย่อมได้ชือ่เสียงเพระประพฤติธรรม นั่นเอง ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสงดในเรื่องอคติจึงมีนัยวิจิตรต่างๆ ดังนี้ ดังพระสูตร
[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 48
๗. ปฐมอคติสูตร
ว่าด้วยความลำเอียง ๔
[๑๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความลำเอียง ๔ ประการนี้ ความลำเอียง ๔ คือ อะไร คือลำเอียงเพราะชอบกัน ลำเอียงเพราะชังกัน ลำเอียงเพราะเขลา ลำเอียงเพราะกลัว ภิกษุทั้งหลาย นี้แลความลำเอียง ๔ ประการ บุคคลใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความชอบกัน เพราะความชังกัน เพราะความกลัว เพราะความเขลา ยศของบุคคลนั้นย่อมเสื่อม เหมือนดวงจันทร์ข้างแรมฉะนั้น
[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 49
๘. ทุติยอคติสูตร
ว่าด้วยความลำเอียง ๔
[๑๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความไม่ลำเอียง ๔ ประการนี้ ความไม่ลำเอียง ๔ คืออะไร คือไม่ลำเอียงเพราะชอบกัน ไม่ลำเอียงเพราะชังกัน ไม่ลำเอียงเพราะเขลา ไม่ลำเอียงเพราะกลัว ภิกษุทั้งหลาย นี้แล ความไม่ลำเอียง ๔ ประการ บุคคลใดไม่ประพฤติล่วงธรรมเพราะความชอบกัน เพราะความชังกัน เพราะความกลัว เพราะความเขลา ยศของบุคคลนั้นย่อมเพิ่มพูน เหมือนดวงจันทร์ข้างขึ้น ฉะนั้น.
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ที่ในสังคมแบ่งพรรคแบ่งพวกกันอยู่ทุกวันนี้ ก็คงจะเป็นอคติใช่มั้ยคะ
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 13617 ความคิดเห็นที่ 9
ขออนุโมทนาค่ะ
ที่ในสังคมแบ่งพรรคแบ่งพวกกันอยู่ทุกวันนี้ ก็คงจะเป็นอคติใช่มั้ยคะ
จากข้อความใน ความเห็นที่ 4
[๑๗๖] อริยสาวก ไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ เป็นไฉน ปุถุชน ถึงฉันทาคติ ย่อมทำกรรมลามก ถึงโทสาคติ ย่อมทำกรรมลามก ถึงโมหาคติ ย่อมทำกรรมลามก ถึงภยาคติ ย่อมทำกรรมลามก ดูก่อนคฤหบดีบุตร ส่วน อริยสาวก ไม่ถึงฉันทาติ ไม่ถึงโทสาคติ ไม่ถือโมหาคติ ไม่ถึงภยาคติ ท่านย่อมไม่ทำกรรมอันลามก โดยฐานะ ๔ เหล่านี้
เข้าใจว่า ฐานะ ๔ คือ อคติ ๔ อริยสาวก คือ สาวกผู้มีคุณธรรมระดับพระโสดาบันเป็นต้นไป ปุถุชน ย่อมมีอคติ ๔ มากน้อย ตามการสะสม ค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
พระธรรมไพเราะและซาบซึ้ง เมื่อปัญญาเจริญ ฟังให้เข้าใจในสิ่งที่กำลังฟังและประพฤติปฏิบัติตาม แต่ไม่ใช่ด้วยเรา ต้องด้วยความเข้าใจจริงๆ
สาธุ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ง ด ง า ม ยิ่งค่ะ