กราบเรียนท่านอาจารย์สุจินต์ และ วิทยากร
ดิฉันมีเรื่องอยากเรียนถามว่า "อารมณ์ชวนจิตสุดท้ายก่อนจุติเกิด" หมายความเช่นไร และ มีลักษณะหรือสภาพธรรมเช่นไร และอีก 1 คำถาม คือ เวลาโกรธ จะระลึกอย่างไร ที่ไม่ให้คำพูด หรือ การกระทำ ไปกระทบกับบุคคลอื่น ไม่ใช่ไม่อยากโกรธ แต่ไม่ต้องการเสียใจภายหลัง เพราะไม่อยากเป็นทัพพีที่ไม่รู้รสแกง ดั่งคำพูดของท่านอ. สุจินต์
สุดท้ายนี้ ขออำนาจแห่งองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ช่วยคุ้มครองให้ท่าน อ.
สุจินต์ และวิทยากรทุกท่าน มีความสุข ความเจริญ ในทางธรรม อย่าได้มีภัยใดๆ มา
เบียดเบียนท่านเลย
"อารมณ์ชวนจิตสุดท้ายก่อนจุติเกิด" หมายความว่า เมื่อคนหรือสัตว์ทั้งหลายจะตายจากโลกของตนไป ย่อมมีชวนวิถีจิตสุดท้ายเกิดขึ้นก่อนตาย จิตทุกขณะมีกิจรู้แจ้งอารมณ์ ชวนจิตที่เกิดขึ้นย่อมมีอารณ์เช่นกัน คือถ้าผู้ศึกษาเข้าใจวิถีจิตและอารมณ์ของจิต ย่อมเข้าใจความหมายของ ชวนจิต , อารมณ์ , จิตสุดท้าย , จุติจิตเกิด โปรดศึกษาจิต วิถีจิต อารมณ์ของจิต แล้วท่านจะได้รับคำตอบด้วยตัวท่านเองและการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นเพียงธรรมะอย่างหนึ่งเท่านั้น ควรเป็นไป ทุกๆ ขณะ ไม่ว่าจะดีใจ เสียใจ โลภ โกรธ หลง เป็นสุข เป็นทุกข์ ก็คือธรรมะอย่างหนึ่งเท่านั้น สำหรับพระโอวาทของพระพุทธองค์ทรงเตือนเรื่องความโกรธ โปรดอ่านข้อความโดยตรง
เชิญคลิกอ่าน....โทษของความโกรธ[กกจูปมสูตร]
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ หน้าที่ ๑๕๗ พูดถึงการสอนตนเมื่อเกิดปฏิฆะ เช่นระลึกถึงโทษของความโกรธ ระลึกถึงความดีของเขา โกรธคือทำทุกข์ให้ตนเองพิจารณากัมมัสสกตา อื่นๆ อีกมาก ทั้งได้กล่าวถึงพระสูตรต่างๆ อีกมาก ลองหาอ่านดูค่ะ ความโกรธเป็นความจริงอย่างหนึ่ง ปรากฏให้เรารู้ว่ายังมีกิเลสอยู่ รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นสภาพธรรม ไม่ใช่เรา อบรมสะสมสติ ปัญญา ขันติ เมตตาและโสภณธรรม
อื่นๆ ในชีวิตประจำวัน และขาดไม่ได้คือการฟังธรรมค่ะ
หากฟังธรรมจนพอที่จะเข้าใจได้ว่า ความโกรธหากเกิดขึ้นแล้ว จิตมีลักษณะเป็นโทษประทุษร้าย อารมณ์มีความหยาบกระด้าง แต่ยังไม่ล่วงออกทางกาย หรือวาจา แต่บางครั้งก็ล่วงออกมาทางกาย หรือ วาจา การฟังธรรมะ ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าเป็นการเห็นโทษ ของอกุศลที่หยาบ (ขั้นศีล) จนล่วงออกมาเบียดเบียนตนบ้าง ผู้อื่นบ้างและยังมีผลคือเกิดความเดือดร้อนภายหลัง ความรู้เช่นนี้เป็นกุศลจิตที่เป็นประโยชน์แต่ที่ไม่เป็นสติปัฏฐาน การที่สติจะระลึกอย่างไร ที่ไม่ให้กายหรือวาจาเบียดเบียนตนและบุคคลอื่น ก็ต้องกล่าวถึงพระอนาคามีว่า ท่านรู้แจ้งว่าอริยะสัจจะธรรมอะไร มาจากเหตุอะไร ท่านหมดความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมะว่าเป็นตัวตน จนละ ความโกรธเป็นสมุทเฉท (ไม่เกิดมีในสันดานอีก) ก็ต้องมาจากเหตุที่ถูก คือ ความรู้ต้องตามลำดับพระโสดาบันท่านดับโลภะที่เกิดกับความเห็นผิดก่อน ไม่ไช่ดับโทสะก่อน การเจริญสติปัฏฐานเป็นความรู้ที่เกิดจากการฟังจนเข้าใจว่า กิเลสทั้งหมดยังดับไม่ได้ หากยังไม่ดับความเห็นผิดว่าธรรมะเป็นตัวตน คือสติต้องเกิดจากการฟังธรรม ว่าทุกอย่างไม่ไช่ตัวตนแต่เป็นเพียงธรรมะ เมื่อฟังธรรมเข้าใจมากขึ้นตามลำดับ สติขั้นศีลก็จะละเอียดขึ้นไปด้วย เช่น รู้ว่าความโกรธเป็นเพียงธรรม บางครั้งก็เกิดขึ้นมีกำลังมากจนล่วงทุจริตทางกายวาจา บางครั้งก็ยังไม่ล่วง เพราะธรรมเป็นอนัตตา (ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา) ความยึดถือว่าเคยเป็นเราโกรธจนกระทำการเบียดเบียนตนและบุคคลอื่นก็น้อยลง ตามกำลังของสติและปัญญาความเดือดร้อนใจเสียใจในภายหลัง ก็ย่อมน้อยลงตามด้วย เห็นได้ว่า (ไม่ใช่เราจะระลึกอย่างไร) ต้องแล้วแต่กำลังของสติจะมีเท่าใด และกำลังของกิเลสในขณะนั้นจะมีเท่าใด ไม่มีใครจัดแจงได้ เพราะธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา
เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า แล้วแต่กำลังของสติ และกำลังของกิเลส ดังนั้น การฟังธรรมอย่างสม่ำเสมอพร้อมทั้งโยนิโสมนสิการ จึงควรกระทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ขออนุโมทนาค่ะ