ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สตฺถุวจน”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
สตฺถุวจน อ่านตามภาษาบาลีว่า สัด - ถุ - วะ - จะ - นะ มาจากคำว่า สตฺถุ (พระศาสดา, ผู้สอน) กับคำว่า วจน (คำพูด, ถ้อยคำ, คำ) รวมกันเป็น สตฺถุวจน เขียนเป็นไทยได้ว่า สัตถุวจนะ แปลว่า คำพูดหรือถ้อยคำของพระศาสดา พระศาสดาในที่นี้ คือ พระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นบุคคลผู้เลิศผู้ประเสริฐที่สุดในโลก เป็นผู้สอนโดยที่ไม่มีใครเสมอเหมือน คำของพระบรมศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนั้น เป็นคำจริงทุกคำ เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟังได้ศึกษา และมีความเข้าใจอย่างถูกต้องเท่านั้น
ที่จะรู้ว่าคำใดเป็นคำของพระศาสดาหรือไม่นั้น พิจารณาได้จากข้อความในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สังขิตตสูตร ดังนี้
“ดูกร โคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความกำหนัด เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้ (ในสังสารวัฏฏ์) ไม่เป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ไว้ เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก เป็นไปเพื่อสันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อไม่สันโดษ เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก ดูกร โคตมี ท่านพึงทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสอนของพระศาสดา”
คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระบรมศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นคำจริงทุกคำ เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นใครกล่าวก็ตาม คำจริง ย่อมเป็นคำจริง ไม่เปลี่ยนแปลง และผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากพระธรรมแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดงนั้น ต้องเป็นผู้มีความจริงใจที่จะฟัง ที่จะศึกษา ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อขัดเกลาความไม่รู้ของตนเองที่สะสมมาอย่างมากและยาวนานในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งถ้าไม่เริ่มฟังคำของพระองค์ตั้งแต่ในขณะนี้ ก็ชื่อว่า ยังไม่เริ่มที่จะขัดเกลาความไม่รู้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาสี่อสงไขยแสนกัปป์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานอย่างยิ่ง เพื่อทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งจะได้เกื้อกูลสัตว์โลกให้หลุดพ้นจากกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) และพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงมีพระมหากรุณาต่อสัตว์โลก จึงทรงแสดงพระธรรมโปรดสัตว์โลก ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา นับคำไม่ถ้วน ทรงแสดงบ่อยๆ เนืองๆ คำแล้วคำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็เพื่อให้ผู้ฟังมีความเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง พร้อมทั้งน้อมประพฤติตามจนกระทั่งสามารถดับกิเลสทั้งหลายได้ตามลำดับขั้น พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้นเป็นความจริง แสดงให้เข้าใจธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง ถึงที่สุดว่า ธรรมเป็นธรรม แต่ละหนึ่ง ไม่มีเรา ซึ่งเป็นปกติธรรมดาของบุคคลผู้ทรงตรัสรู้ความจริงที่จะมีการแสดงความจริงให้ผู้อื่นได้รู้ตาม เป็นการอุปการะเกื้อกูลให้ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ได้เกิดปัญญาเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา และมีความเข้าใจ อย่างแท้จริง เพราะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อละอกุศล เป็นไปเพื่อดับทุกข์โดยประการทั้งปวง เป็นไปเพื่อการไม่เกิดอีกในสังสารวัฏฏ์
จะเห็นถึงความบริสุทธิ์ของพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ว่าเป็นไปเพื่อละ ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด คือสามารถดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นไม่เกิดอีก ที่จะเป็นอย่างนี้ได้ ก็ต้องอาศัยพระธรรมซึ่งเป็นคำของพระศาสดา เพื่อจะได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก มั่นคงในความเป็นเหตุเป็นผลของธรรม และขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเอง อบรมเจริญปัญญาสะสมเป็นที่พึ่งต่อไป คำของพระศาสดา เป็นคำที่ทำให้ละชั่ว ละสิ่งที่ไม่ดีโดยประการทั้งปวง
บุคคลผู้ที่เป็นชาวพุทธหรือพุทธศาสนิกชน ต้องศึกษาให้เข้าใจตั้งแต่คำแรกคือ คำว่า “ธรรม” ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง มีจริงในขณะนี้ ทุกขณะเป็นธรรม มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ไม่พ้นไปจากนามธรรมและรูปธรรม สิ่งที่มีจริงเหล่านี้ สิ่งที่มีจริงเป็นธรรม และเป็นธรรมที่ละเอียดยิ่งด้วยความเป็นธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทุกกาลสมัย ธรรมก็เป็นธรรม ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของธรรมนั้นๆ ให้เป็นอย่างอื่นได้ เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น แต่สัตว์โลกจะเข้าใจธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริงได้นั้น ก็ต้องเป็นกาลสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาต่อสัตว์โลก ด้วยการทรงแสดงพระธรรม ประกาศความจริงให้สัตว์โลกได้เข้าใจถูกเห็นถูก จากที่เต็มไปด้วยความไม่รู้และกิเลสทั้งหลาย ก็จะค่อยๆ มีความรู้ที่เจริญขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสได้ตามลำดับ พระธรรมคำสอนของพระองค์ เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อละตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด กล่าวคือ ละความไม่รู้ ความเห็นผิด ตลอดจนกิเลสทั้งหลายทั้งปวง เมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะไม่ตกไปในฝ่ายผิดอีกต่อไป
ดังนั้น จึงต้องฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เป็นปัญญาของตนเองจริงๆ ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงอะไรให้สัตว์โลกได้เข้าใจ ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริงทั้งหมด กว่าจะได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมตรงตามพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ก็ต้องเป็นการฟังด้วยการพิจารณาจริงๆ จึงจะสามารถรู้ในพระคุณ ที่ได้ทรงประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรม โดยละเอียด โดยนัยประการต่างๆ ตลอด ๔๕ พรรษา ฟังแล้วก็ต้องฟังอีก แล้วก็ต้องมีการพิจารณาไตร่ตรองในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังซึ่งเป็นที่เรื่องยากมาก การอบรมเจริญปัญญา ต้องเป็นไปตามลำดับจริงๆ ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ