ขอเรียนถามท่านผู้ได้ฟังธรรมบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์มามากและเข้าใจมากกว่าผมครับ ผมต้องขอเรียนก่อนว่า ผมอนุโมทนาธรรมะที่ท่านอาจารย์เมตตา บรรยายทุกประการ อะไรที่ไม่เคยรู้ก็ได้รู้ครับ แต่มีข้อสงสัยว่า เหตุใดท่านอาจารย์ ไม่เน้นการเจริญสมถภาวนาให้เสมอกับวิปัสสนาภาวนา หรือผมหูหนวกตาบอด ไม่รู้ไม่เห็นเองดังนั้น ผมมาคิดสมมติฐานเอาว่า คงจะเป็นเพราะโดยมากท่าน อาจารย์จะบรรยายธรรมแก่ฆราวาส ซึ่งเป็นเพศที่ไม่สะดวกในการเจริญสมถภาวนา กระมัง หรือวิปัสสนาภาวนามีความคลาดเคลื่อนมาก สมถภาวนารู้กันโดยทั่วไปแล้ว หรือสมถภาวนาไม่ใช่สิ่งจำเป็นในการกำจัดกิเลส ... ? ที่สงสัย เช่นนี้เพราะ ครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทรงไว้ซึ่งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ท่านก็มักจะอบรมศิษย์ทั้งหลายให้เจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาและท่านเหล่านั้นก็สอนเป็นเสียงเดียวกันว่า จริงอยู่ที่กิเลสจะไม่หมดไปด้วยสมถะ แต่สมถะก็เป็นเครื่องมือเครื่องประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งครับ สมาธิมีทั้งสัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ ถามว่า สติมีเป็น ๒ เช่นเดียวกันหรือไม่ครับ ท่านอาจารย์เคยให้คำบรรยายในเรื่องเหล่านี้ไว้ประการใด บ้างครับ
เท่าที่ผู้ตอบได้ติดตามฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์มาพอสมควร ท่านแนะนำให้ผู้ศึกษาพระธรรมคำสอน เจริญกุศลทุกประการ ไม่มีเว้นกุศลประการใด ประการหนึ่งแต่เจริญกุศลตามสมควรแก่โอกาสและฐานะ ทานก็ควรให้ศีลก็ควรรักษา สมถภาวนาก็ควรเจริญ สติปัฏฐานควรศึกษาให้เข้าใจและควรเจริญมากที่สุด
สำหรับกุศลขั้นสมถภาวนา ท่านแนะนำให้เจริญในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ไปหลีกเร้นตามป่าเขา แต่เจริญทุกขณะในชีวิตประจำวัน ตามนัยของมหานามสูตร เป็นต้นว่าระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ระลึกถึงศีลของตน ระลึกถึงจาคะของตน ระลึกถึงคุณของเทวดา และการเจริญเมตตา เป็นต้นในชีวิต ประจำวัน ไม่ใช่เพื่อการได้ฌานจิตขั้นต่างๆ แต่ที่ท่านเน้นมากที่สุดคือการเจริญสติปัฏฐาน การค่อยๆ ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังมี กำลังปรากฏ โดยความเป็น สภาพธรรมอย่างหนึ่ง สำหรับเรื่อง มิจฉามรรคนั้น ในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าทรงแสดงสัมมามรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น และทรงแสดงมิจฉามรรคมี ๘ องค์ เช่นกัน เช่นมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ เป็นต้น
ขออนุโมทนาครับ
โอกาสได้เกิดเป็นมนุษย์ยาก และชีวิตนี้ก็อยู่ไม่ถึงร้อยปี เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานสำคัญกว่าอย่างอื่น แต่ขณะที่สติปัฏฐานเกิดก็สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ชั่วขณะสั้นๆ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
เข้าใจเรื่อง สมถ สมถ คือ ความสงบจากกิเลส กุศลนั่นเอง สมถภาวนา คือการอบรมเจริญการสงบจากกิเลส (กุศล) ให้มาก มั่นคงขึ้นจนตั้งมั่นเป็นสมาธิแนบแน่น สมถภาวนาดับกิเลสไม่ได้ กุศลควรเจริญทุกประการแม้สมถภาวนาแต่ต้องมีปัญญา เพราะเมื่อใดมีคำว่าภาวนา เมื่อนั้นต้องมีปัญญา จึงจะอบรมเจริญได้ และต้องรู้จุดประสงค์ว่า อบรมสมถภาวนาเพื่ออะไร เพื่อได้หรือเพื่อละขัดเกลากิเลส เป็นผู้ตรง การจะได้สมถภาวนานั้นต้องมีอุปนิสัยที่สะสมมา ดังนั้น แม้พระพุทธเจ้า ก็ไม่ได้ให้ทุกคนอบรมสมถภาวนาพร้อมกับวิปัสสนาด้วยเสมอไป แล้วแต่ว่า บุคคลนั้นสะสมมาที่จะมีอุปนิสัยอบรมสมถภาวนาหรือไม่ครับ ถึงได้มีพระอรหันต์ ที่ดับกิเลสได้แต่ไม่ได้ฌาน (ปัญญาวิมุต) ซึ่งก็มีมากกว่าพระอรหันต์ที่ได้ฌาน ครับ
ดังจะขอแสดงข้อความในพระไตรปิฎก ประการที่สำคัญ ต้องเข้าใจเรื่องสมถว่า แม้ขณะที่อบรมสติปัฏฐาน หรือมรรคมีองค์ ๘ ขณะนั้นก็มี สมถคู่กับวิปัสสนา ด้วย โดยที่ไม่ต้องอบรมสมถภาวนา ดังนั้น เราต้องแยกระหว่างคำว่า สมถและสมถภาวนาครับ
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
เรื่อง ผู้ที่บรรลุแล้วได้ฌานมีน้อย ผู้บรรลุแล้วไม่ได้ฌานไม่ได้อบรมสมถภาวนาแต่บรรลุมีมากกว่า
[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 206
สัตว์ที่กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้วได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้ว ไม่ได้สมาธิ ไม่ได้เอกัคคตาจิตมากกว่าโดยแท้
ขอเชิญคลิกอ่านที่นี่ ...
มรรคหรือสติปัฏฐาน เป็นทั้งสมถและวิปัสนนาแม้ไม่ได้ อบรมสมถ ภาวนา
ขออนุโมทนาครับ
กุศลทุกอย่าง และอกุศลทุกอย่าง เจริญได้ตามอุปนิสัยที่สั่งสมมาครับ
อกุศล แม้ไม่เจริญก็มี (เว้นพระอรหันต์)
ขออนุโมทนาครับ
ยินดีในกุศลจิตค่ะ