[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 386
๒. วิตถารสูตร
ว่าด้วยปฏิปทา ๔
[๑๖๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ นี้ ฯลฯ คือ
ทุกฺขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า
ทุกฺขา ปฏิปทา ขิปปาภิญฺญา ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว
สุขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า
สุขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว
ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า เป็นไฉน? บุคคลบางคนโดยปกติเป็นคนมีราคะกล้า ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะราคะเนืองๆ บ้าง โดยปกติเป็นคนมีโทสะกล้าได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโทสะเนืองๆ บ้าง โดยปกติเป็นคนมีโมหะกล้า ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิด เพราะโมหะเนืองๆ บ้าง อินทรีย์ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของเขาก็อ่อน เพราะอินทรีย์ ๕ นี้อ่อนเขาย่อมบรรลุอนันตริยคุณเพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า นี้เรียกว่า ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า
ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว เป็นไฉน บุคคลบางคนโดยปกติเป็นคนมีราคะกล้า ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะราคะเนืองๆ บ้าง โดยปกติเป็นคนมีโทสะกล้าได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโทสะเนืองๆ บ้าง โดยปกติเป็นคนมีโมหะกล้า ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโมหะเนืองๆ บ้าง แต่อินทรีย์ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของเขาแก่กล้า เพราะอินทรีย์ ๕ นี้ แก่กล้า เขาย่อมบรรลุอนันตริยคุณเพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว นี้เรียกว่าปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว
ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า เป็นไฉน บุคคลบางคนโดยปกติ มิใช่ เป็นคนมีราคะกล้า มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะราคะ มิใช่เป็นคนมีโทสะกล้า มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโทสะ อนึ่ง โดยปกติมิใช่เป็นคนมีโมหะกล้า มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโมหะ แต่อินทรีย์ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของเขาอ่อน เพราะอินทรีย์ ๕ นี้อ่อนเขาย่อมบรรลุอนันตริยคุณ เพื่อความ สิ้นอาสวะได้ช้า นี้เรียกว่า ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า
ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว เป็นไฉน บุคคลบางคนโดยปกติ มิใช่เป็นคนมี ราคะกล้า มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะราคะ โดยปกติมิใช่เป็นคนมีโทสะกล้า มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโทสะ อนึ่ง โดยปกติมิใช่เป็นคนมีโมหะกล้า มิใคร่ได้รับทุกขโทมนัสที่เกิดเพราะโมหะ ทั้งอินทรีย์ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของเขาก็แก่กล้า เพราะอินทรีย์ ๕ นี้แก่กล้า เขาย่อมบรรลุ อนันตริยคุณเพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว นี้เรียกว่าปฏิบัติสะดวก ทั้งได้รู้เร็ว ภิกษุทั้งหลาย นี้แลปฏิปทา ๔
จบวิตถารสูตรที่ ๒
อรรถกถาวิตถารสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในวิตถารสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อภิกฺขณํ แปลว่าเนืองๆ .
บทว่า อนนฺตริยํ ได้แก่ มรรคสมาธิอันให้ผลเป็นอนันตริยคุณ.
บทว่า อาสวานํ ขยา ได้แก่ เพื่ออรหัตตผล.
บทว่า ปญฺจินฺทฺริยานิ ได้แก่ อินทรีย์ ๕ อันมีวิปัสสนาเป็นที่ ๕
ก็ในบทว่า ปญฺญินฺทฺริยํ นี้ ท่านประสงค์เอาวิปัสสนาปัญญาเท่านั้นว่า ปัญญินทรีย์ คำที่เหลือในสูตรนี้ง่ายทั้งนั้นโดยอำนาจ ที่ตรัสไว้แล้ว ในบาลี. ก็กถาจำแนกปฏิปทาเหล่านี้มีดังนี้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เคยทำการยึดถือมาเบื้องต้น ย่อมลำบากในการกำหนดรูป ย่อมลำบากในการกำหนดอรูป ย่อมลำบากในการกำหนดปัจจัย ย่อมลำบากในกาลทั้งสาม ย่อมลำบากในมัคคามัคคะทางและมิใช่ทาง เมื่อลำบากในฐานะ ๕ อย่างนี้ ย่อมบรรลุวิปัสสนา
ครั้นบรรลุวิปัสสนาแล้ว ก็ลำบากในวิปัสสนาญาณ ๙ เหล่านั้น คือ
ในอุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ปรีชาคำนึงเห็นทั้งความเกิดและความดับ) ๑
ในภังคานุปัสสนาญาณ (ปรีชาคำนึงเห็นความดับ) ๑
ในภยตุปัฏฐานญาณ (ปรีชาคำนึงเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว) ๑
ในอาทีนวานุปัสสนาญาณ (ปรีชาคำนึงเห็นโทษ) ๑
ในนิพพิทานุปัสสนาญาณ (ปรีชาคำนึงถึงความเบื่อหน่าย) ๑
ในมุญจิตุกามยตาญาณ (ปรีชาคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไป) ๑
ในสังขารุเบกขาญาณ (ปรีชาคำนึงด้วยความเฉยในสังขาร) ๑
ในอนุโลมญาณ (ปรีชาคำนึงโดยสมควรแก่กำหนดรู้อริยสัจ) ๑
ในโคตรภูญาณ (ปรีชากำหนดญาณอันเป็นลำดับอริยมรรค) ๑
แล้วจึงบรรลุโลกุตรมรรค โลกุตรมรรคนั้นของภิกษุนั้น ชื่อว่าปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ลำบาก เพราะทำให้แจ้งโดยความหนักไปด้วยทุกข์อย่างนี้ ก็ภิกษุใดเบื้องต้นลำบากในญาณ ๕ แต่เบื้องปลายไม่ลำบากในวิปัสสนาญาณ ๙ ย่อมทำให้แจ้งซึ่งมรรค มรรคนั้นของภิกษุนั้นชื่อว่าปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว เพราะทำให้แจ้งโดยไม่หนักด้วยทุกข์อย่างนี้. อีกสองปฏิปทาก็พึงทราบโดยอุบายนี้. อนึ่ง ปฏิปทาเหล่านี้จะพึงแจ่มแจ้วก็ด้วยข้ออุปมาเปรียบด้วยคนหาโค.
โค ๔ ตัวของชายคนหนึ่ง หนีเข้าไปในดง. เขาหาโคเหล่านั้นในป่าซึ่งมีหนามหนาทึบ ทางที่ไปก็ไปด้วยความยากลำบาก โคซ่อนอยู่ในที่อันหนาทึบเช่นนั้นก็เห็นด้วยความยากลำบาก. ชายคนหนึ่ง ไปด้วยความลำบาก โคยืนอยู่ในที่แจ้งก็เห็นได้ฉับพลันทันที. อีกคนหนึ่ง ไปทางโล่งไม่หนาทึบ โคซ่อนอยู่เสียในที่หนาทึบก็เห็นด้วยความยากลำบาก. อีกคนหนึ่ง ไปสะดวกตามทางโล่งโคยืนอยู่ในที่โล่งก็เห็นได้ฉับพลัน. ในข้ออุปมานั้น อริยมรรค ๔ พึงเห็นดุจโค ๔ ตัว พระโยคาวจร ดุจชายหาโค การปฏิบัติลำบากในเบื้องต้นของภิกษุผู้ลำบากในญาณ ๕ ดุจไปทางหนาทึบด้วยความยากลำบาก การเห็นอริยมรรคในเบื้องปลายของผู้เหนื่อยหน่ายในญาณ ๙ ดุจการเห็นโคที่ซ่อนอยู่ในที่หนาทึบด้วยความยาก. พึงประกอบแม้ข้ออุปมาที่เหลือโดยอุบายนี้.
จบอรรถกถาวิตถารสูตรที่ ๒
ขออนุโมทนาครับ