[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 141
๔. มหกสูตร
ว่าด้วยอิทธาภิสังขาร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 29]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 141
๔. มหกสูตร
ว่าด้วยอิทธาภิสังขาร
[๕๕๔] สมัยหนึ่ง ภิกษุผู้เถระมากรูปอยู่ที่อัมพาฏกวัน ใกล้ราวป่ามัจฉิกาสณฑ์ ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีได้เข้าไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้อาราธนาว่า ข้าแต่ท่านทั้งหลายผู้เจริญ ขอพระเถระทั้งหลายจงรับภัตตาหารที่โรงโคของข้าพเจ้าในวันพรุ่งนี้ ภิกษุผู้เถระทั้งหลายได้รับอาราธนาโดยดุษณีภาพ ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีทราบการรับอาราธนาของภิกษุผู้เถระทั้งหลายแล้ว ลุกจากที่นั่งไหว้ทำประทักษิณแล้วจากไป.
[๕๕๕] ครั้งนั้นแล พอล่วงราตรีนั้นไป เป็นเวลาเช้า ภิกษุผู้เถระทั้งหลายนุ่งแล้วถือบาตรและจีวรเข้าไปยังโรงโคของจิตตคฤหบดี ได้นั่ง ณ อาสนะที่ได้ตกแต่งไว้ ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีได้อังคาสภิกษุผู้
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 142
เถระทั้งหลายให้อิ่มหนำสำราญเพียงพอ ด้วยข้าวปายาสเจือด้วยเนยใสอย่างประณีต ด้วยมือของตนเอง ครั้งนั้นแล ภิกษุผู้เถระทั้งหลายฉันเสร็จแล้ว ลดมือจากบาตร ลุกจากอาสนะแล้วจากไป แม้จิตตคฤหบดีได้สั่งทาสกรรมกรว่า พวกท่านจงทิ้งส่วนที่เหลือเสีย แล้วจึงได้ตามไปส่งภิกษุผู้เถระทั้งหลายข้างหลังๆ ก็โดยสมัยนั้นแล ได้เกิดร้อนจัด ภิกษุผู้เถระทั้งหลายได้เดินไปด้วยกายที่คล้ายกับจะหดเข้าฉะนั้น (จะเปื่อย) ทั้งที่ได้ฉันโภชนะอิ่มแล้ว.
[๕๕๖] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระมหกะเป็นผู้อ่อนกว่าทุกรูปในภิกษุสงฆ์หมู่นั้น ครั้งนั้นแล ท่านพระมหกะได้พูดกะพระเถระผู้เป็นประธานว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เป็นการดีทีเดียวที่พึงมีลมเย็นพัดมา และพึงมีแดดอ่อน ทั้งฝนพึงโปรยลงมาทีละเม็ดๆ พระเถระกล่าวว่า ท่านมหกะ เป็นการดีทีเดียวที่พึงมีลมเย็นพัดมา และพึงมีแดดอ่อน ทั้งฝนพึงโปรยลงมาทีละเม็ดๆ ครั้งนั้นแล ท่านพระมหกะได้บันดาลอิทธาภิสังขารให้มีลมเย็นพัดมา และมีแดดอ่อน ทั้งให้มีฝนโปรยลงมาทีละเม็ดๆ.
[๕๕๗] ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีได้คิดว่า ภิกษุผู้อ่อนกว่าทุกรูปในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ เป็นผู้มีฤทธานุภาพเห็นปานนี้ทีเดียว ครั้งนั้นแล ท่านพระมหกะไปถึงอารามแล้ว ได้ถามพระเถระผู้เป็นประฐานว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ การบันดาลอิทธาภิสังขารเท่านี้เป็นการเพียงพอหรือ. พระเถระผู้เป็นประธานได้กล่าวว่า ท่านมหกะ การบันดาลอิทธาภิสังขารเท่านี้เป็นการเพียงพอ ท่านมหกะ การบันดาลอิทธาภิสังขารเพียงเท่านี้ เป็นอันเราทำแล้ว เป็นอันเราบูชาแล้ว. ครั้งนั้นแล ภิกษุผู้เถระทั้งหลายได้ไปตามที่อยู่ แม้ท่านมหกะก็ได้ไปยังที่อยู่ของตน ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีเข้าไป
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 143
หาท่านพระมหกะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ขอร้องว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้ามหกะจงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่เป็นอุตตริมนุสสธรรมแก่ข้าพเจ้าเถิด. ท่านพระมหกะพูดว่า ดูก่อนคฤหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงปูผ้าห่มที่ระเบียง แล้วจงเอาฟ่อนหญ้ามาโปรยลงที่ผ้านั้น. จิตตคฤหบดีได้รับคำท่านพระมหกะแล้วจึงปูผ้าห่มที่ระเบียง แล้วเอาฟ่อนหญ้ามาโปรยลงที่ผ้านั้น.
ครั้งนั้นแล ท่านพระมหกะได้เข้าไปสู่วิหารใส่ลูกดานแล้วบันดาลอิทธาภิสังขารให้เปลวไฟแลบออกมาโดยช่องลูกดานและระหว่างลูกดาน ไหม้หญ้า ไม่ไหม้ผ้าห่ม. ครั้งนั้น จิตตคฤหบดีได้สลัดผ้าห่มแล้ว สลดใจ (ตกใจ) ขนลุกชัน ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ลำดับนั้นแล ท่านพระมหกะได้ออกจากวิหาร ได้ถามจิตตคฤหบดีว่า ดูก่อนคฤหบดี การบันดาลอิทธาภิสังขารเท่านี้เป็นการเพียงพอหรือ. จิตตคฤหบดีได้กล่าวว่า ท่านมหกะผู้เจริญ การบันดาลอิทธาภิสังขารเท่านี้เป็นการเพียงพอ ท่านมหกะผู้เจริญ การบันดาลอิทธาภิสังขารเพียงเท่านี้ เป็นอันท่านกระทำแล้ว เป็นอันท่านบูชาแล้ว ขอพระคุณเจ้ามหกะจงชอบใจอัมพาฏกวนาราม ที่น่ารื่นรมย์ใกล้ราวป่ามัจฉิกาสณฑ์เถิด ข้าพเจ้าจักบำรุงด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัชบริขาร. ท่านพระมหกะได้กล่าวว่า ดูก่อนคฤหบดี นั่นท่านกล่าวดีแล้ว ครั้งนั้นแล ท่านพระมหกะได้เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรเดินทางออกจากราวป่าชื่อมัจฉิกาสณฑ์ ไม่ได้กลับมาอีก เหมือนกับภิกษุรูปอื่นๆ ที่เดินทางจากไป ฉะนั้น.
จบ มหกสูตรที่ ๔
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 144
อรรถกถามหกสูตรที่ ๔
พึงทราบวินิจฉัยในมหกสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้.
บทว่า เสสกํ วิสฺสชฺเชถ ความว่า ได้ยินว่าพวกอุบาสกและอุบาสิกากับด้วยพระเถระทั้งหลายนั่นแล เช็ดถาดสัมฤทธิ์แล้วคดข้าวปายาสให้แก่จิตตคฤหบดีนั้น จิตตคฤหบดีนั้นบริโภคข้าวปายาสเสร็จแล้ว ใคร่จะไปกับด้วยพระเถระทั้งหลายนั่นแล จึงคิดว่า อุบาสิกาจัดส่วนที่เหลืออยู่ในเรือนก่อน ส่วนทาสและกรรมกรในเรือนนี้ ไม่ถูกเราว่าแล้วจักไม่ช่วยจัด ข้าวปายาสอันประณีตนี้จักเสียไปด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้ เมื่ออนุญาต จึงกล่าวอย่างนี้ แก่พระเถระเหล่านั้น. บทว่า กุฏฺิตํ คือ แห้ง อธิบายว่า ข้างล่างร้อนจัดด้วยทรายร้อนและข้างบนร้อนจัดด้วยแดด ก็บทนี้เป็นบทไม่เจือปนในพระพุทธพจน์ คือ พระไตรปิฎก. บทว่า ปเวลิยมาเนน คือความหดหู่. บทว่า สาธุ ขฺวสฺส ภนฺเต ความว่า พระมหกะคิดว่า เราจักทำความอยู่ผาสุกแก่พระเถระเหล่านั้น จึงกล่าวอย่างนี้.
บทว่า อิทฺธาภิสงฺขารํ อภิสงฺขริ ได้แก่ ได้บันดาลฤทธิ์ด้วยการอธิษฐาน. ในการบันดาลฤทธิ์นี้ ย่อมมีบริกรรมต่างๆ อย่างนี้ว่า ขอลมเย็นอ่อนๆ จงพัดมา ขอฝนตั้งเค้าแล้ว จงโปรยลงมาทีละเม็ดๆ ดังนี้ การอธิษฐานรวมกันอย่างนี้ว่า ขอฝนพร้อมด้วยลม จงตกเถิดดังนี้ก็มี การอธิษฐานต่างๆ ว่า บริกรรมรวมกันว่า ขอฝนพร้อมด้วยลม จงตกเถิด ขอลมเย็นอ่อนๆ จงพัดมา ขอฝนตั้งเค้าแล้ว จงโปรยลงมาทีละเม็ดๆ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ - หน้า 145
ดังนี้ก็มี การบริกรรมต่างๆ การอธิษฐานต่างๆ การบริกรรมรวมกัน การอธิษฐานรวมกันก็มี โดยนัยอันกล่าวแล้วแล. ก็เมื่อบุคคลกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ออกจากฌานอันเป็นบาททำบริกรรมแล้ว การอธิษฐานนั้น ย่อมสำเร็จด้วยจิตอธิษฐานอันเป็นมหัคคตะเท่านั้นโดยระหว่างแห่งบริกรรม. บทว่า โอกาเสสิ คือ กระจายออกแล้ว.
จบ อรรถกถามหกสูตรที่ ๔