เราเห็นเพื่อนของเราชอบทำบุญใส่บาตรทุกวันพระและทุกวันสำคัญทางศาสนา แต่การกระทำของเขาไม่มีกุศลอะไรเลย อย่างเช่นใช้คำพูดจิกและด่าผู้อื่นให้ผู้อื่น ต้องช้ำใจ และ ทำงานก็เอาเปรียบผู้อื่น และตัวเขาก็ไม่ทำหน้าที่การงานของตนเองให้ดี แล้วชอบผลักหน้าที่การงานของตนให้ไปเป็นภาระของผู้อื่นโดยไม่คำนึงว่าเพื่อนร่วมงานที่ต้องทำงานของเขาจะต้องเหนื่อยแค่ไหน เราเห็นแล้วก็ไม่ค่อยพอใจเลย แล้วเขาทำอย่างนี้เขาจะได้บุญในการใส่บาตรไหม
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ควรเข้าใจในความเป็นจริงของสภาพธรรมครับว่า มีแต่ จิต เจตสิกที่เกิดขึ้นและดับไป ซึ่งจิตเกิดขึ้น เกิดขึ้นทีละขณะและเกิดดับอย่างรวดเร็ว กุศล หรือ บุญ ในความเป็นจริงก็คือ จิต เจตสิกที่เป็นกุศล ไม่มีใคร หรือเราที่ทำบุญ ในขณะที่ทำไม่ดี เป็นอกุศล มีการว่าคนอื่น เป็นต้น ขณะนั้น ก็เป็น จิต เจตสิกที่ไม่ดี เป็นอกุศลจิต ไม่มีใครที่ว่า หรือไม่ดี เป็นแต่เพียงอกุศลจิต ดังนั้น สภาพธรรมจึงแยกขาดจากกัน ไม่ปนกันเลย คือ กุศลจิต (บุญ) ก็เป็นกุศลจิต (บุญ) จะเป็นอกุศลจิตไม่ได้ ส่วน อกุศลก็ต้องเป็น อกุศล เป็นกุศล (บุญ) ไม่ได้เลยเช่นกันครับ ซึ่งตามที่กล่าวแล้ว บุญ รวมทั้ง การกระทำที่ไม่ดี ที่เป็นอกุศล ต่างก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรม ที่เป็น จิต ที่เป็นกุศลจิต อกุศลจิต และตามหลักธรรม จิตจะต้องเกิดขึ้นและดับไป สลับกัน และตามที่กล่าวไว้คือ จิตแต่ละประเภทจะไม่ปนกัน กุศลจิต กับ อกุศลจิตไม่ปนกัน ดังนั้น ขณะที่ใส่บาตร มีเจตนาดีที่จะสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์กับผู้อื่น มีพระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น ขณะนั้น มีเจตนาที่ดี เป็นจิตที่ดี เป็นกุศลจิต เป็นบุญในขณะนั้นครับ
ดังนั้น ขณะที่เป็นบุญ จะเปลี่ยน สภาพธรรมในขณะที่เป็นบุญให้เป็นอกุศลก็ไม่ได้ นี่คือ พระอภิธรรม ธรรมที่ละเอียดยิ่ง ไม่สามารถเปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมได้ แต่ เมื่อใส่บาตรแล้ว เป็นกุศลจิตในขณะนั้น หลังจากนั้นอกุศลจิตก็เกิดได้อีกเช่นกัน เพราะเป็นผู้ที่หนาด้วยกิเลส สะสมกิเลสมามาก ก็ทำให้เกิดอกุศลจิต และมีการกระทำทางกาย วาจาไม่ดี มีการว่าร้าย เบียดเบียนผู้อื่น ขณะนั้น จิตก็เป็นอกุศล เป็นอกุศลจิต ซึ่ง อกุศลจิตในขณะนั้น จะเปลี่ยน ให้เป็นกุศลจิตก็ไม่จได้ ที่สำคัญที่สุด ธรรมไม่ใช่การหักล้างกัน แม้จะเกิดอกุศลจิต ทำไม่ดีมามากเท่าไหร่ก็ตาม แต่ความดี คือ กุศลจิตได้ทำไปแล้ว มีการใส่บาตร เป็นต้น บุญ หรือกุศลจิตก็ไม่เปลี่ยนไปตามอกุศลที่ทำในขณะอื่นๆ ครับ เพราะ กุศลจิต และ อกุศลจิต แยกขาดจากกัน ไม่นำมาลบล้างกันได้ ดังนั้น การใส่บาตร ทำบุญ บุญสำเร็จ ไปแล้ว เป็นกุศลไปแล้ว ส่วน การทำบาป มีการ ว่าร้ายผู้อื่น ก็เป็นส่วนของบาปไป ไม่เกี่ยวข้องกับบุญที่ทำไปแล้ว ที่จะไม่ทำให้ได้บุญ ครับ เพราะบุญสำเร็จแล้วนั่นเองครับ
ซึ่งขอยกตัวอย่างในพระไตรปิฎก อย่างเรื่องพระเทวทัต ถ้าได้ยินชื่อนี้ ก็รู้ว่า ท่านทำไม่ดีมามากมาย นับไม่ถ้วน แต่ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ ท่านสำนึกผิด ได้ถวาย กระดูกคาง เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า จิตขณะนั้นเป็นอย่างไร ครับ เป็นกุศลจิต เป็นจิตที่ดีที่บูชา พระพุทธเจ้า เป็นบุญแล้ว
ถามว่า กรรมชั่วที่ท่านทำมามากมาย จะมาลบล้าง เปลี่ยนจากกุศล คือ บุญของท่านที่ทำครั้งนี้ ให้ไม่เป็นบุญ เป็นอกุศลแทนได้ไหม ไม่ได้ครับ เพราะ อกุศลก็ส่วนอกุศลที่ท่านทำ กุศลก็เป็นคนละส่วนกันที่ท่านทำครับ ดังนั้น แสดงให้เห็นถึง สัจจะความจริงของสภาพธรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ กุศล เป็น กุศล อกุศล เป็นอกุศล และอุทาหรณ์เรื่องนี้ ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ที่ หนาด้วยกิเลส ที่มีอกุศลเกิดขึ้นเป็นธรรมดา และก็มีกุศล คือ บุญเกิดสลับได้ ที่สำคัญ เราต่างหากที่จะต้องรักษาใจ เพราะขณะที่มองความไม่ดีคนอื่น ใจเราก็ไม่ดี ไม่เป็นบุญ เป็นอกุศลแล้วในขณะนั้นเช่นกัน มองสัตว์โลกที่เกิดร่วมกันว่า มีกิเลสเป็นธรรมดา เพียงแต่เราไม่เสพคุ้นกับกิเลส กับความไม่ดีเท่านั้นเอง แต่ให้ความช่วยเหลือได้ ครับ เพราะการทำความดี ไม่ได้จำกัดว่าทำกับใคร ไม่ว่าพาลและบัณฑิต ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ควรที่จะได้เข้าใจว่า ขณะที่จิตเป็นกุศล กับ อกุศลนั้น ไม่ปะปนกัน เป็นคนละส่วนกัน เป็นคนละขณะกัน ขณะใดก็ตามที่จิตเป็นกุศล เป็นไปในการให้ทานบ้าง รักษาศีลบ้าง ฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญาบ้าง ขณะนั้น อกุศลจะเกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย ซึ่งในชีวิตประจำวัน อกุศลจิตเกิดมากมายทีเดียว กุศลจิตเกิดไม่มากเหมือนกับอกุศล จึงถูกอกุศลกลุ้มรุมจิตใจอยู่เกือบตลอดเวลา ถ้ากุศลจิตไม่เกิด,
แต่ละบุคคลก็มีความประพฤติเป็นไปตามการสะสม ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ในขณะใดถ้าจิตเป็นอกุศล กาย วาจา ก็เป็นไปในทางที่ไม่ดี ไม่ถูกไม่ควร ในทางตรงกันข้าม ถ้าจิตใจดี ความประพฤติเป็นไปทางกาย และทางวาจา ก็จะดีด้วย ซึ่งจะต่างจากขณะที่เป็นอกุศลอย่างสิ้นเชิงทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น เมื่อเข้าใจความเป็นจริงอย่างนี้ ก็จะเห็นใจคนที่มีกิเลสด้วยกัน แทนที่จะโกรธ แทนที่จะไม่พอใจในความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของผู้อื่น ก็ให้อภัย เห็นใจ เพราะกิจของเราคือให้อภัย ไม่ใช่โกรธ เพราะขณะที่โกรธ ตนเองเท่านั้นที่เดือดร้อน นอกจากนั้น เมื่อไม่โกรธแล้ว ถ้ามีโอกาสก็อาจจะให้ข้อคิดกล่าวแนะนำในสิ่งที่ดีกับเพื่อนก็ได้ ในเมื่อเราเป็นเพื่อนกับทุกคน ก็ย่อมจะให้สิ่งที่ดีกับเพื่อน ไม่ใช่ให้สิ่งที่ไม่ดี ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนา
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ปกติ ทุกวันเต็มไปด้วยอกุศล คือ โลภะ โทสะ โมหะ ขณะที่กุศลเกิดคือขณะที่ให้ทาน รักษาศีล เว้น ไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่ว่าร้าย ไม่ใส่ร้าย และ กุศลที่สูงยิ่งขึ้นไป คือ การฟังธรรม เพราะเป็นปัญญา ที่ทำให้กุศลอื่นๆ เจริญยิ่งขึ้น ทำให้ขัดเกลากิเลสต่างๆ และ ละคลายความเป็นสัตว์ บุคคล ค่ะ
เรียนท่านวิทยากรและท่านเจ้าของกระทู้
ขออนุญาตร่วมสนทนาด้วยค่ะ
๑. การที่ น.ส. ก ใส่บาตรทุกเช้า เป็น กุสลวิบาก ของเขาที่เขาสะสมมาตลอด น่าจะมาจากชาติก่อนๆ ด้วย ใช่ไหมคะ
๒. ส่วนที่นิสัยการทำงานที่ไม่พึงปรารถนาของเพื่อนๆ ก็เป็นการสะสมมาเช่นเดียวกัน ใช่ไหมคะ
๓. ถ้า น.ส. ก มาฟังธรรม ธรรม จะช่วย น.ส. ก นำธรรมไปปฏิบัติ ได้จนสามารถเปลี่ยนนิสัย ที่ไม่พึงปรารถนาได้ใช่ไหมคะ (แล้วแต่สะสมนิสัยไม่ดีมานานเพียงใดด้วยใช่ไหมคะ)
๔. ท่านวิทยากรพอจะยกตัวอย่าง สหายธรรม (ชื่อสมมติแต่มีจริง) ที่มาฟังธรรมแล้ว นิสัย เดิมที่ไม่ดี พัฒนาดีขึ้น มีไหม ดิฉันเชื่อว่า มี มีมากด้วย หาก เขามาฟังสม่ำเสมอและร่วมสร้างกุสลอื่นๆ ด้วย นั่นคือมีกัลยาณมิตร
๕. ตัวอย่าง ค่ะเมื่อเด็กๆ คุณแม่สอนว่า เหนือจากศีรษะเราไม่ถึงสามศอก มีเทพเทวาคอยดูความประพฤติทั้งดีชั่วและคอยจดไปแจ้งสวรรค์และนรกตลอดเวลา พอตายไป ข้อมูลเหล่านั้นจะไปปรากฏในยมโลก พิพากษาให้เราไปนรก สวรรค์ ฯลฯ ข้อนี้ขอให้ท่านวิทยากรชี้แนะด้วยค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
จริงๆ แล้วพอเราไม่โกรธหรือให้อภัยเขา ตัวเราก็จะรู้สึกเป็นสุขใจดีนะ อย่างเพื่อนเราที่เราไม่ค่อยชอบ เราไม่นึกโกรธเขาและให้อภัยเขาแล้ว และพูดคุยกันเป็นปกติ ซึ่งมันก็ทำให้มีเพื่อนมาอีก ๑ คน การที่มีเพื่อนดีกว่าไม่มีเพื่อนนะ
เรียนความเห็นที่ 8 ครับ
๑. การที่ น.ส. ก ใส่บาตรทุกเช้า เป็น กุสลวิบาก ของเขาที่เขาสะสมมาตลอด น่าจะมาจากชาติก่อนๆ ด้วย ใช่ไหมคะ
- เป็นอุปนิสัยที่เคยสะสมมาแต่ชาติปางก่อน ทำให้ยังทำกุศลต่อครับ ส่วน วิบาก เป็น ผลของกรรม คือ ขณะที่เห็น ได้ยิน ไม่ได้สะสมมาเป็นอุปนิสัยให้ทำบุญ ครับ
๒. ส่วนที่นิสัยการทำงานที่ไม่พึงปรารถนาของเพื่อนๆ ก็เป็นการสะสมมาเช่นเดียวกัน ใช่ไหมคะ
- ถูกต้อง ครับ
๓. ถ้า น.ส. ก มาฟังธรรม ธรรม จะช่วย น.ส. ก นำธรรมไปปฏิบัติ ได้จนสามารถเปลี่ยนนิสัย ที่ไม่พึงปรารถนาได้ใช่ไหมคะ (แล้วแต่สะสมนิสัยไม่ดีมานานเพียงใดด้วยใช่ไหมคะ)
- ถูกต้องครับ แต่ต้องอาศัยระยะเวลายาวนานนับไม่ถ้วน ที่จะค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่สิ่ที่ดี ครับ
๔. ท่านวิทยากรพอจะยกตัวอย่าง สหายธรรม (ชื่อสมมติแต่มีจริง) ที่มาฟังธรรมแล้ว นิสัย เดิมที่ไม่ดี พัฒนาดีขึ้น มีไหม ดิฉันเชื่อว่า มี มีมากด้วย หาก เขามาฟังสม่ำเสมอและร่วมสร้างกุสลอื่นๆ ด้วย นั่นคือมีกัลยาณมิตร
- ขอยกตัวอย่างในพระไตรปิฎก ครับ นายเขมะ ล่วงศีลข้อ ๓ เป็นระจำ ฟังธรรม ได้บรรลุ ไม่ทำกรรมนั้นอีกครับ
นายโกสิยะเศรษฐี ขี้เหนียวมาก ฟังธรรมได้บรรลุ มีใจยินดี สละให้ทาน เป็นต้น
๕. ตัวอย่าง ค่ะ เมื่อเด็กๆ คุณแม่สอนว่า เหนือจากศีรษะเราไม่ถึงสามศอก มีเทพเทวาคอยดูความประพฤติทั้งดีชั่วและคอยจดไปแจ้งสวรรค์และนรกตลอดเวลา พอ ตายไป ข้อมูลเหล่านั้นจะไปปรากฏในยมโลก พิพากษาให้เราไปนรก สวรรค์ ฯลฯ ข้อนี้ขอให้ท่านวิทยากรชี้แนะด้วยค่ะ
- ไม่เป็นความจริงครับ กรรมสะสมที่จิตของแต่ละคน ไม่ได้มีใครมาจดบันทึกไว้ ครับ