พระคุณเจ้า เวลาที่อาตมาเห็นรูป ก็กำหนดในใจว่า เห็นหนอๆ เวลาที่ได้ยินเสียง ก็กำหนดในใจว่า ได้ยินหนอๆ เวลาที่ปวด ก็กำหนดในใจว่า ปวดหนอๆ อาตมากำหนดอย่างนี้ จะเรียกได้หรือเปล่าว่า เป็นบาทของวิปัสสนา หรือว่าเป็นอย่างไร
สุ . วิปัสสนาเป็นความรู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏโดยถูกต้องตามความเป็นจริง สภาพธรรมในวันหนึ่งๆ มีหลายอย่าง นามธรรมก็มีหลายประเภท ไม่ว่าจะคิด จะนึก จะสุข จะทุกข์ จะเห็น จะได้ยิน ก็เป็นนามธรรมแต่ละชนิด ไม่ว่าจะเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เป็นแต่เพียงรูปธรรมแต่ละชนิดเท่านั้น ที่กำลังเห็น เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง ไม่เหมือนกับได้ยิน ไม่เหมือนกับคิดนึก แต่เป็นสภาพรู้
ถ้าระลึกรู้ว่า ขณะที่กำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้ ขณะนั้นเป็นการรู้ลักษณะของนาม ธรรม แต่ถ้าขณะที่เกิดความคิดว่า เห็นหนอ ขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะนามธรรมที่กำลังเห็นว่าเป็นสภาพรู้ ซึ่งสติจะต้องระลึกรู้ว่า ที่คิดหรือนึกอย่างนั้นเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ถ้าเกิดคิดในใจขึ้นมาว่า เห็น มีคำว่าเห็น มีคำว่าเห็นหนอในใจ สติจะต้องระลึกรู้ว่า ที่เกิดระลึกคิดเป็นเห็นหนอขึ้นมานั้นไม่ใช่สภาพที่เห็น
คำว่า บาทของวิปัสสนา หมายความว่าจะต้องอาศัยสภาพธรรมที่มีจริง และสติระลึกตรงลักษณะ เมื่อระลึกแล้วค่อยๆ รู้ขึ้นจนกว่าจะชัด เมื่อรู้ชัดจึงเป็นวิปัสสนา แต่จะต้องระลึกรู้ตรงลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิด รูปธรรมแต่ละชนิด
ถ้าเป็นนามธรรมที่คิดนึก สติจะต้องระลึกรู้สภาพที่คิด ที่นึก ถ้าเป็นขณะที่กำลังเห็น ไม่ต้องคิดเลย แต่รู้ว่าเห็นก็เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง คือ แยกกันได้อย่างละเอียด นามที่เกิดดับสืบต่อกันนั้นละเอียดและรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น สติจะต้องละเอียดที่จะรู้ความต่างกันของนามธรรมแต่ละชนิด อย่างนามที่เห็น ไม่คิดก็เห็น เพราะฉะนั้น ที่เห็นนี้ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งโดยที่ไม่ต้องคิดว่า เห็นหนอ ต้องแยกสภาพรู้ทั้ง ๖ ทาง
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 198