เป็นโสดาบัน ได้ไหม คนที่ไม่เคย บวช ไม่เคยนั่งกรรมฐาน
โดย phisith  10 ส.ค. 2556
หัวข้อหมายเลข 23331

คนที่ไม่เคย บวช ไม่เคยนั่งกรรมฐาน จะบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันได้ไหม



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 10 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคลขั้นแรก ที่สามารถดับกิเลสได้ในระดับหนึ่ง ดับได้ เป็นเพียงบางประเภท ยังไม่สามารถดับได้ทุกประการ เพราะผู้ที่จะดับกิเลสได้อย่าง หมดสิ้น ไม่มีเหลือนั้น คือ พระอรหันต์ การบรรลุเป็นพระโสดาบัน เป็นได้ด้วยปัญญา และต้องดำเนินตามหนทาง ที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย คือ อริยมรรค มีองค์ ๘ ที่เริ่มด้วย ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใด ถ้ามีการ อบรมเจริญปัญญา จนปัญญาคมกล้า ก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสตามลำดับ ขั้นได้ เหมือนอย่างพระอริยบุคคลในอดีต แต่ถ้าไม่รู้อะไรเลย ไปทำอะไรด้วยความ ไม่รู้ แต่สำคัญผิดว่าจะเป็นไปเพื่อรู้ธรรมตามความเป็นจริง นั่นไม่ใช่หนทางที่จะนำไป สูู่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้เลย

ดังนั้นจากประเด็นคำถามก็พิจารณาได้ว่า จะบวชหรือไม่บวชก็ตาม ถ้าไม่ได้ดำเนิน ตามหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา แล้ว ความเข้าใจถูกแม้ขั้นต้นยังไม่มี ก็คงไม่ ต้องกล่าวถึงการเป็นพระอริยบุคคล

สิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือควรตั้งต้นที่การฟังพระธรรมให้เข้าใจ เพราะ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นเรื่องที่ยาวไกลมาก กิจที่ควรทำในขณะนี้คือ ฟังพระธรรม ให้เข้าใจ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย, พระธรรมที่พระสัม มาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้และทรงแสดงนั้น มีความละเอียดลึกซึ้ง ยากที่จะตรัสรู้ตาม ได้ เป็นธรรมอันบัณฑิตเท่านั้นที่จะรู้ได้ ธรรมจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะกว่าที่พระผู้มีพระ ภาคเจ้าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ต้องใช้เวลาอันยาวนานในการบำเพ็ญ พระบารมีตลอดระยะเวลาสี่อสงไขยแสนกัปป์ ถ้าไม่ฟังไม่ศึกษาเลย ปัญญาย่อมไม่ สามารถที่จะเกิดขึ้นได้เลย เหตุที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น ก็คือ ฟังพระธรรม ด้วย ความเคารพ ไตร่ตรองพิจารณาในเหตุในผลของธรรม ธรรมไม่พ้นไปจากชีวิตประจำ วันเลย ไม่ว่าจะฟังพระธรรมส่วนไหน ก็ไม่พ้นไปจากเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลัง มีในขณะนี้ สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีจริงในขณะนี้จริงๆ

ปัญญาไม่สามารถจะเจริญขึ้นได้ภายในระยะเวลาอันสั้นต้องค่อยๆ ฟังค่อยๆ ศึกษา ไปตามลำดับ เพียงแค่วันนี้ พรุ่งนี้ หรือชาตินี้ยังไม่พอ ต้องสะสมความเข้าใจต่อไปอีก เป็นเวลาอันยาวนาน (จิรกาลภาวนา) ซึ่งมีข้ออุปมาเหมือนการจับด้ามมีด เมื่อจับบ่อยๆ นานๆ รอยสึกย่อมปรากฏได้ ปัญญาก็เช่นกัน ต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการ สะสม ในการอบรม จึงจะเจริญขึ้นได้ เพราะฉะนั้นในแต่ละภพในแต่ละชาติ มีชีวิตอยู่ก็ เพื่อได้ฟังพระธรรม ได้สะสมอบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกยิ่งขึ้น ไม่ ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาต่อไป ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 10 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คนที่ไม่เคย บวช ไม่เคยนั่งกรรมฐาน จะบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันได้ไหม ก็ขอ ยกข้อความ การจะเป็นพระโสดาบัน ด้วยเหตุอะไรบ้าง ดังนี้ ครับ

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 279

ทุติยสาริปุตตสูตร

ว่าด้วยองค์ธรรมเครื่องบรรลุโสดา

ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระ ผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถาม ท่านพระสารีบุตรว่า ดูก่อนสารีบุตรที่เรียกว่า โสตาปัตติยังคะๆ ดังนี้ โสตาปัตติ ยังคะเป็นไฉน.ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญโสตาปัตติยังคะ คือ สัปปุริส สังเสวะ การคบสัตบุรุษ ๑ สัทธรรมสวนะฟังคำสั่งสอนของท่าน ๑ โยนิโสมนสิการ กระทำไว้ในใจโดยอุบายที่ชอบ ๑ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑. จากข้อความในพระไตรปิฎกที่ยกมา ประการแรก 1.ต้องคบสัตบุรุษ คือผู้ที่มีคุณธรรม และ มีความเข้าใจธรรม 2.ฟังพระธรรมที่ถูกต้อง 3.พิจารณาโดยถูกต้อง 4.ปฏฺบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือ ปฏิบัติถูกต้องตามที่ได้ศึกษามา


เพราะฉะนั้น การบรรลุธรรม ไม่ได้จำกัดเลยว่า จะต้องเป็นเพศบรรพชิต เพราะ การจะบรรลุเป็นพระโสดาบัน ก็ด้วยปัญญาเป็นสำคัญ อันเกิดจากการคบผู้รู้ ฟังธรรม และพิจารณาพระธรรม และน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ซึ่งปัญญาที่เกิดจาก การฟัง ศึกษาพระธรรม และเกิดปัญญาขั้นปฏิบัติ ก็สามารถเกิดได้ ทั้งเพศบรรพชิต และเพศคฤหัสถ์ ดั่งเช่น ในสมัยพุทธกาล ที่มีพระอริยสาวก ขั้นพระโสดาบันมากมาย ที่เป็นเพศคฤหัสถ์ มีท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นต้น ปัญญาที่เป็นความเห็นถูก เป็นสภาพธรรมที่จะละกิเลส และ ทำให้ถึงความเป็น พระโสดาบัน ซึ่งปัญญาจะเกิดได้ และ ถึงการละกิเลสได้ ก็ตามที่กล่าวในพระไตร ปิฎกแล้ว คือ การฟัง ศึกษาพระธรรม ไม่ใช่ด้วยการนั่งกรรมฐาน แล้วจะบรรลุธรรม ได้ เพราะฉะนั้น แม้จะนั่งกรรมฐาน แต่เป็นหนทางที่ผิดก็ไม่สามารถจะรู้ได้ และไม่ บรรลุ และ แม้ไม่นั่งกรรมฐาน แต่เจริญอบรมในหนทางที่ผิดทางอื่น ก็ย่อมไม่ถึง การบรรลุเป็นพระโสดาบันเช่นกัน ดังนั้น สำคัญที่เหตุที่ถูกต้อง นั่นคือ การฟังศึกษา พระธรรมเป็นสำคัญ หากเริ่มจากเหตุที่ถูก ปัญญาก็ค่อยๆ เกิด จากขั้นการฟังจนถึง ปัญญาที่เกิด คือ สติปัฏฐานเกิดรู้ความจริง ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ขณะไหน ก็ สามารถเกิดปัญญารู้ความจริง ที่เรียกว่า ปฏิบัติธรรม โดยที่ไม่ต้องไปนั่งกรรมฐาน เลยครับ เพราะในความเป็นจริง กรรมฐานที่หมายถึง ที่ตั้งของการรู้ความจริง ก็คือ สภาพธรรมในขณะนี้ เห็น ได้ยิน คิดนึก กุศล อกุศล ล้วนแล้วแต่เป็นกรรมฐานที่ควร รู้ทั้งนั้น โดยไม่ต้องไปนั่งกรรมฐานเพื่อจะไปรู้เลยครับ อย่างไรก็ดี การจะไปถึง ความเป็นพระโสดาบัน เป็นเรื่องยาก และเป็นเรื่องไกล ควรจะกลับมาที่คำถามว่า อย่างไรที่จะเข้าใจธรรมได้ อย่างนี้จะเป็ปนระโยชน์

เพราะเรากำลังกลับมาที่จุดแรก เบื้องต้นจาก 1 แล้วค่อย ไป 2 ก็จะทำให้ถึง 100 ได้ ซึ่งก็ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง ก็ย่อมถึงคือ เกิดความเข้าใจ ได้ แต่ก็ค่อยๆ สะสมไปทีละเล็กละน้อย หากเริ่มจากก้าวที่ถูก และเดินในหนทางที่ ถูก แล้ว ผลย่อมได้ แน่นอน ครับ ซึ่งเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 3    โดย wittawat  วันที่ 11 ส.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

การเป็นพระโสดาบันไม่ได้ขึ้นกับวิธี หรือ ข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ประกอบด้วย ความเข้าใจ เพราะฉะนั้นคนที่ไม่เคยสะสมปัญญามาเลย เป็นพระโสดาบันไม่ได้ ทรงแสดงโสตาปัตติยังคะ เพื่อย้ำว่าการเป็นพระโสดาบันได้ เป็นเรื่องของปัญญา จริงๆ ปัญญาที่เจริญขึ้นได้ จากการคบสัตบุรุษ การฟังธรรม การไตร่ตรอง เข้าใจตัวธรรม ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม คือ เมื่อฟังเข้าใจ เห็นโทษของ อกุศลแล้ว ก็รังเกียจไม่ทำชั่ว ตามลำดับขั้นของปัญญา อันนี้เป็นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง ใคร่ให้ท่านผู้ถาม เข้าใจถูกขึ้น ถึง คำว่า "บวช" กับ "นั่งกรรมฐาน" บวช คือ อะไร? (จริงๆ มาจากภาษาบาลี ซึ่งผู้ที่เชี่ยวชาญสามารถแปลได้) แต่ ความหมาย คือ การสละออกจากบ้านเรือน ทรัพย์สมบัติทั้งหมด เพื่อประพฤติ ตามพระธรรมวินัย ตามเพศบรรพชิต เพศเดียวกับพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อประโยชน์ คือ การรู้ทุกข์ (กระผมเข้าใจว่า จุดประสงค์ของการบวช ทรง แสดงไว้หลากหลายนัย ในพระไตรปิฏก) ท่านผู้ที่ไม่ได้มีอัธยาศัย สะสมมาที่ สามารถสละจากเพศคฤหัสถ์บวชเป็นบรรพชิต ก็อยู่ครองเรือน และ เป็นผู้ที่เข้าใจธรรม เช่น พระเจ้าสุทโทธนะ พระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น ในพระไตรปิฎก ปรากฏ คำว่า "นั่งกรรมฐาน" หรือไม่ หรือว่า จะมีมาไม่นานนี้ เป็นความเข้าใจถูกหรือผิด อันนี้เป็นอีกส่วนหนึ่ง ถ้าท่านเป็นผู้ที่ศึกษาแล้ว ก็สามารถที่จะพิจารณาเข้าใจได้ด้วยตนเอง มี คำว่า "กัมมัฏฐาน" จริง ในบางนัย กล่าวเกี่ยวข้องกับ สติปัฏฐาน สมถวิปัสสนา เป็นต้น ท่านผู้ที่แม่นยำ ในภาษาบาลี สามารถให้ความรู้ได้ แก่ท่านผู้ถาม เพราะฉะนั้น ยังมีอีกมากที่ควร ศึกษาให้ละเอียดยิ่งขึ้น เพื่อที่จะเข้าใจว่าพระพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้อะไร? ส่วนสุดท้าย คือ ถามเรื่องพระโสดาบันทำไม? พระโสดาบันเป็นใคร? พระโสดาบันเป็นเมื่อไร? พระโสดาบันรู้อะไร ประจักษ์อะไร ถึง ต่างจากปุถุชน? แล้วเมื่อท่านได้รู้ถึงคุณธรรมของความเป็นพระโสดาบัน แล้วยังจะอยากเป็น หรือไม่? เพราะว่ามีหลายท่านที่ ไม่รู้เลยว่าพระโสดาบัน คือ อะไร แต่อยาก เป็นพระโสดาบัน เพราะชอบชื่อ เพราะฟังดูแล้วเป็นคนดี แต่ถึงอยากจะเป็น ก็เป็นไม่ได้ เพราะไม่ใช่เรื่องของความอยาก เป็นเรื่องของปัญญา ประโยชน์ของการถาม ส่วนหนึ่ง คือ เพื่อตัดความสงสัย และให้เข้าใจยิ่งขึ้น เป็นที่มาของความเป็นผู้ละเอียดขึ้นในความเข้าใจธรรม

ขออนุโมทนาในคำตอบของอาจารย์วิทยากรครับ


ความคิดเห็น 4    โดย ธนฤทธิ์  วันที่ 12 ส.ค. 2556

ขอขอบคุณและขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย phisith  วันที่ 12 ส.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย orawan.c  วันที่ 29 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 7    โดย chatchai.k  วันที่ 18 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ