อนันเตวาสิกานาจริยสูตร - ติตถิยสูตร - ๒๒ ก.ค. ๒๕๔๙
โดย บ้านธัมมะ  20 ก.ค. 2549
หัวข้อหมายเลข 1641

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

สนทนาธรรมที่

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๙

เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น.

อนันเตวาสิกานาจริยสูตร ว่าด้วยผู้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่เป็นทุกข์และเป็นสุข

ติตถิยสูตร ว่าด้วยทุกข์

จาก.. [เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 282

นำการสนทนาโดย..

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

ขอเชิญท่านอ่านพระสูตรนี้ได้ในกรอบต่อไปนะครับ...



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 20 ก.ค. 2549

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 282

๖. อนันเตวาสิกานาจริยสูตร

ว่าด้วยผู้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่เป็นทุกข์และเป็นสุข

[๒๓๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้อัน ไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังมีอันเตวาสิก ยังมีอาจารย์อยู่เป็นทุกข์ ไม่สำราญ ส่วนภิกษุไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์ อยู่เป็นสุขสำราญ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุยังมีอันเตวาสิก ยังมีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สำราญเป็นไฉน.

ธรรมทั้งหลายอันเป็นบาป เป็นอกุศล คือ ความดำริอันฟุ้งซ่านอันเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ ย่อมบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุในศาสนานี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ อกุศลธรรม เหล่านั้นย่อมอยู่ภายในของภิกษุนั้น เพราะอกุศลธรรมอยู่ภายในของภิกษุ นั้น เหตุนั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า มีอันเตวาสิก เพราะอกุศลธรรม อันลามกเหล่านั้นย่อมครอบงำภิกษุนั้น เหตุนั้นเราจึงเรียก ภิกษุนั้นว่า มีอาจารย์

อีกประการหนึ่ง อกุศลธรรมอันลามก คือ ความดำริฟุ้งซ่าน เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุ เพราะฟังเสียง ด้วยหู ... เพราะสูดกลิ่นด้วยจมูก ... เพราะลิ้มรสด้วยลิ้น ... เพราะถูกต้อง โผฏฐัพพะด้วยกาย ... เพราะรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ อกุศลธรรมเหล่านั้น อยู่ภายในของภิกษุนั้น เพราะอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้นอยู่ภายในของ ภิกษุนั้น เหตุนั้น เราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า มีอันเตวาสิก เพราะอกุศลธรรม อันลามกเหล่านั้นย่อมครอบงำภิกษุนั้น เหตุนั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า มีอาจารย์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ มีอันเตวาสิก มีอาจารย์ ย่อมอยู่ เป็นทุกข์ ไม่สำราญ อย่างนี้เลย.

[๒๓๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ ภิกษุผู้ ไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นสุข สำราญอย่างไร. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรม อันลามก คือ ความดำริฟุ้งซ่าน เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ ไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ อกุศลธรรมอัน ลามกเหล่านั้น ไม่อยู่ในภายในของภิกษุนั้น เพราะอกุศลธรรมอันลามก ไม่อยู่ในภายในของภิกษุนั้น เหตุนั้น เราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า ไม่มีอันเตวาสิก เพราะอกุศลธรรมอันลามกไม่ครอบงำภิกษุนั้น เหตุนั้น เราจึง เรียกภิกษุนั้นว่า ไม่มีอาจารย์ อกุศลธรรมอันลามก คือ ความดำริอัน ฟุ้งซ่าน เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุ เพราะ ฟังเสียงด้วยหู เพราะสูดกลิ่นด้วยจมูก เพราะลิ้มรสด้วยลิ้น เพราะถูกต้อง โผฏฐัพพะด้วยกาย เพราะรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ อกุศลธรรมอัน ลามกเหล่านั้น ไม่อยู่ในภายในของภิกษุนั้น เพราะอกุศลธรรมอันลามก ไม่อยู่ในภายในของภิกษุนั้น เหตุนั้น เราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า ไม่มีอันเตวาสิก เพราะอกุศลธรรมอันลามกไม่ครอบงำภิกษุนั้น เหตุนั้น เราจึง เรียกภิกษุนั้นว่า ไม่มีอาจารย์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นสุขสำราญ ด้วยประการอย่างนี้แล

ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์อันไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์ ดังนี้ ภิกษุผู้มีอันเตวาสิก มีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สำราญ (ส่วน) ผู้ไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นสุขสำราญ ดังนี้แล.

จบ อนันเตวาสิกานาจริยสูตรที่ ๖


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 20 ก.ค. 2549

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 284

๗. ติตถิยสูตร

ว่าด้วยทุกข์

[๒๓๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ พึงถามพวกเธออย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกท่านอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ในสำนักพระสมณโคดมเพื่อประสงค์อะไร พวกเธอเมื่อถูกถามอย่างนี้ พึงพยากรณ์แก่พวกเขาอย่างนี้ว่า พวกเราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อกำหนดรู้ทุกข์

ก็ถ้าพวกเขาถามอย่างนี้ว่า อาวุโสทั้งหลาย ก็ทุกข์ที่ท่านทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระสมณโคดมเพื่อรู้นั้น เป็นไฉน พวกเธอพึงพยากรณ์แก่พวกเขาอย่างนี้ว่า พวกเรา อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อกำหนดรู้ทุกข์ คือจักษุ ทุกข์คือรูป ทุกข์คือจักษุวิญญาณ ทุกข์คือจักษุสัมผัส ทุกข์คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะ จักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ฯลฯ

พวกเราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อกำหนดรู้ทุกข์คือใจ ทุกข์คือธรรมารมณ์ ทุกข์ คือมโนวิญญาณ ทุกข์คือมโนสัมผัส ทุกข์คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พวกเธอเมื่อถูกถามอย่างนี้ พึงพยากรณ์แก่พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น อย่างนี้แล

จบ ติตถิยสูตรที่ ๗


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 20 ก.ค. 2549

อรรถกถาอันเตวาสิกสูตรที่ ๖ เป็นต้น

ในอันเตวาสิกสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อนนฺเตวาสิก ได้แก่เว้นจากกิเลสอันอยู่ในภายใน

บทว่า อนาจริยก ได้แก่เว้นจากกิเลสอันมาจากภายนอก

บทว่า อนฺตสฺส วสนฺติ ได้แก่ ย่อมอยู่ในภายในของผู้นั้น

บทว่า เต น สมุทาจรนฺติ ความว่า อกุศลธรรมเหล่านั้น ย่อมครอบงำ ท่วมทับ ผู้นั้น หรือให้ผู้นั้นสำเหนียก กิเลสเหล่านั้นชื่อว่าเป็นอาจารย์ของเขา ด้วยอรรถว่าอบรม กล่าวคือให้ สำเหนียกดังนี้ว่า จงทำเวชกรรมอย่างนี้ จงทำทูตกรรมอย่างนี้ กิเลส เหล่านี้ ย่อมชื่อว่า เป็นอาจารย์ดังนี้ อธิบายว่า ภิกษุเป็นผู้อันอาจารย์ เหล่านั้นทำให้เลื่อมใส คำที่เหลือในที่นี้ พึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้ว นั่นแล

สูตรที่ ๗ มีนัยดังกล่าวแล้วแล

จบ อรรถกถาอันเตวาสิกสูตรที ๖ - ๗

อรรถกถาสูตรที่ ๖ - ๗ แก้รวมไว้ท้ายสูตรที่ ๗


ความคิดเห็น 4    โดย chatchai.k  วันที่ 17 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น