เมื่อท่านอาจารย์ได้รับเชิญไปสัมมนาทางพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ปี ๒๕๒๐ (2)
โดย kanchana.c  10 ส.ค. 2559
หัวข้อหมายเลข 28062

มีท่านผู้ฟังอยากซักถามอะไรบ้างไหม
ถ. (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. จากประเทศไทย ไปกับคุณดวงเดือนอีกท่านหนึ่ง คุณดวงเดือนได้ไปช่วยมากทีเดียว คุณนีน่า วัน กอร์คอม มาจากประเทศฮอลันดา ขอประทานโทษ จากเมืองไทยที่เป็นฆราวาสมี ๒ ท่าน คือ ดิฉันกับคุณดวงเดือน แล้วก็มีคณะศึกษาธรรมท่านหนึ่งนิมนต์สามเณรสุนทโร ชาวนิวซีแลนด์ไปด้วย เพราะว่าทุกครั้งที่ไปประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาก็มีความรู้สึกว่า พระภิกษุเองท่านก็คงต้องการไปทำประโยชน์ และได้ไปนมัสการที่ประเทศนั้นด้วย

เพราะฉะนั้น ในการไปครั้งที่ ๑ นักศึกษาธรรมในคณะศึกษาธรรมท่านหนึ่ง ก็ได้นิมนต์พระภิกษุธัมมธโร ชาวออสเตรเลียไปด้วย ซึ่งเมื่อท่านไปแล้ว ท่านก็ไม่กลับ ท่านก็คงปฏิบัติศาสนกิจ ศึกษาและเผยแพร่ธรรมอยู่ที่โน่น

ครั้งที่ ๒ ก็ได้นิมนต์ท่านพระเจตนันทะ พระภิกษุชาวญี่ปุ่น ซึ่งทุกท่านจะต้องเคยเห็น เพราะมาที่นี่ตั้งแต่เริ่มการบรรยายที่มหามกุฏ และในครั้งที่ ๒ ท่านพระภิกษุเจตนันทะก็ยังไม่กลับ ท่านก็อยู่ที่โน่น

ในครั้งที่ ๓ ก็มีนักศึกษาธรรมได้นิมนต์สามเณรสุนทโรไป ซึ่งท่านก็ไม่กลับเหมือนกัน ท่านก็อยู่ที่โน่น

ถ. เพราะอะไร
สุ. รู้สึกว่าทุกท่านอยากจะอยู่ที่ประเทศศรีลังกา และอยากฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้ตั้งมั่นคงอีกครั้งหนึ่งที่ประเทศศรีลังกา เพราะเหตุว่า ตามความเป็นจริงที่ปรากฏในอรรถกถา ประเทศศรีลังกาเป็นเมืองพระพุทธศาสนา เป็นแหล่งพระพุทธศาสนาทีเดียว

ถ. และที่สมาคมข่าวสารพระพุทธศาสนาเชิญครั้งนี้ เชิญไว้กี่ประเทศ
สุ. ของเขาเท่านั้นเอง เฉพาะประเทศศรีลังกา แต่ว่าได้จัดเวลาไว้เฉพาะพระภิกษุชาวต่างประเทศหลายวันทีเดียว เฉพาะจริงๆ สำหรับสัมมนากับพระภิกษุชาวต่างประเทศที่อยู่ที่ศรีลังกา

สำหรับคุณนีน่าเองก็มาร่วมด้วย โดยทีแรกสำนักข่าวสารก็ไม่ทราบ ก็คิดว่าจากเมืองไทย ๒ คนเท่านั้น แล้วก็เพิ่มจากเนเธอร์แลนด์อีกหนึ่ง คือ คุณนีน่า วัน กอร์คอม แล้วอีก ๒ วัน ก็จะเพิ่มอีกท่านหนึ่งจากประเทศอังกฤษ คือ คุณซาราห์ พรอคเตอร์ เป็น ผู้หญิงทั้ง ๔ คน ซึ่งเป็นที่ประหลาดใจ

ถ. ก็ประหลาดแน่ และที่เชิญผู้หญิงไป ก็เชิญในฐานะเป็นอาจารย์ให้ความสว่างแก่เขาด้วย
สุ. ซึ่งความจริงที่ประเทศศรีลังกานี้ไม่น่าแปลก เพราะว่าพระนางสังฆมิตตาก็ได้ไป และผู้ที่บรรลุมรรคผลที่ประเทศศรีลังกาเป็นคนแรกนั้น คือ ผู้หญิง เป็นพระชายาของน้องชายของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเอง ชื่อ พระนางอนุฬา มีประวัติจารึกไว้ในอรรถกถาก็กล่าวไว้ว่า ผู้ที่บรรลุมรรคผลเป็นคนแรกที่ศรีลังกา คือ พระนางอนุฬา

ตอนค่ำก็ได้นิมนต์ท่านธัมมธโรกับสามเณรสุนทโรไปที่บ้านของคุณบุษบาด้วย แต่ว่าธรรมเนียมของศรีลังกากับธรรมเนียมไทยต่างกัน เพราะว่าชาวต่างประเทศที่ได้อบรมมาจากต่างประเทศ ก็ติดต่อกับอุบาสกอุบาสิกาชาวต่างประเทศในลักษณะหนึ่ง แต่ที่ศรีลังกาไปด้วยกันไม่ได้ เขาจะต้องให้พระภิกษุขึ้นรถแท็กซี่ไปต่างหาก แล้วก็บอกว่า หลัง ๓ ทุ่มแล้วพระภิกษุจะไม่เดินไปตามถนน

อันนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ถ้าพูดถึงพระวินัยบัญญัติว่า ประเทศไหนจะไม่ย่อหย่อน แต่ละประเทศก็ต้องมีส่วนย่อหย่อน ซึ่งไม่เปิดเผย แต่ที่เปิดเผย คือ ส่วนที่เคร่งครัด

เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นธรรมดาที่ว่า เมื่อมีชาวต่างประเทศไป ก็จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ที่นิมนต์ท่านไปก็เพื่อจะให้ท่านทราบว่า คณะที่มาจากเมืองไทยได้พักอยู่ที่บ้านคุณบุษบา และคุณบุษบาก็เป็นผู้ที่สนใจธรรม ถ้าได้ฟังธรรมจากท่านธัมมธโร คงจะเพิ่มศรัทธาปสาทขึ้นมากกว่าที่จะฟังธรรมจากผู้หญิงด้วยกัน เพราะว่าบางคนอาจจะมีอุปาทาน ถ้าเป็นผู้ที่มีความเคารพสักการะในพระภิกษุแล้ว ไม่ว่าท่านจะพูดอย่างไรก็มีศรัทธา โดยเฉพาะพระภิกษุที่เปรื่องปราชญ์ หลักแหลมอย่างท่านธัมมธโร ก็คงจะทำให้คุณบุษบาได้มีศรัทธามั่นคงขึ้น ก็ได้นิมนต์ไปที่บ้านคุณบุษบา แต่ว่าในวันแรกเพื่อให้เจ้าของบ้านสบายใจ ก็ไม่มีการซักถามปัญหาธรรมที่เป็นประโยชน์ของพวกเราเอง แต่ว่าได้ขอให้คุณบุษบาสวดมหาสติปัฏฐาน ซึ่งก็เป็นศิริมงคลแก่บ้านของคุณบุษบา ซึ่งชาวลังกาสวดเก่งมาก แล้วก็สวดเพราะมากด้วย ในความรู้สึกของดิฉันรู้สึกอย่างนั้น แต่บางคนที่เป็นชาตินิยม อาจจะรู้สึกว่า ของไทยเราเพราะกว่า แต่ว่าความจริงแล้ว ภาษาบาลีของคนไทยไม่ใช่ภาษาสากล เพราะเหตุว่า คนอื่นฟังไม่รู้เรื่อง ฟังไม่ออก คือ พูดตามใจฉัน ตามสบาย พุทธัง สรณัง คัจฉามิ แต่ของเขาจะต้องออกเสียงให้ถูก พร้อมกับจังหวะถูกต้อง ซึ่งน่าฟังมาก

เพราะฉะนั้น คุณบุษบาก็สวดสติปัฏฐาน แต่ว่าเป็นสูตรที่ยาวมาก คุณบุษบาจึงอ่าน หมายความว่าดูหนังสือ แต่สวดได้เพราะทีเดียว

สำหรับภาษาบาลีของไทย ถ้าปรับปรุงให้เป็นสากลได้ก็จะเทียมหน้าประเทศอื่น คือว่า อย่าตามใจเราเอง แต่พยายามที่จะใช้เสียงอักขระให้ถูกต้อง

ชาวพื้นเมืองพูดภาษาสิงหลส่วนใหญ่ และอีกพวกหนึ่งก็พูดภาษาทมิฬ เพราะเหตุว่าประวัติศาสตร์ของชาวศรีลังกา นอกจากจะเป็นเมืองของชาวสิงหลแล้ว พวกทมิฬของอินเดียก็มารุกราน และมีประชาชนที่เป็นพลเมืองทมิฬอยู่มาก เพราะฉะนั้น ก็แบ่งออกเป็น ๒ พวก คือ พวกสิงหลและพวกทมิฬ

ถ. และอาจารย์ไปประชุมครั้งนี้ พระภิกษุและคณะอาจารย์ที่ไปประชุมมีประมาณเท่าไร
สุ. ถึง ๑๐๐ คนไหม คุณดวงเดือน วันแรกเกิน ๑๐๐ คน

ถ. ส่วนใหญ่เป็นคนศรีลังกา และพระภิกษุหรืออย่างไร
สุ. มีพระภิกษุชาวต่างประเทศบ้างที่แคนดี้ มีชาวต่างประเทศมากกว่าที่โคลัมโบ

ถ. ที่อาจารย์ไปครั้งนี้ ๕ อาทิตย์ ประชุมทุกวัน วันละกี่ชั่วโมง หรือว่าประชุมบ้าง ไม่ประชุมบ้าง
สุ. เว้นเสาร์อาทิตย์ บางอาทิตย์ก็เว้นแต่อาทิตย์ เสาร์ไม่เว้น ตั้งแต่ ๖ โมงเย็นถึง ๒ ทุ่ม วันละ ๒ ชั่วโมงทุกวัน นี่เป็นรายการประจำ แต่มีรายการปลีกย่อยเต็มวันเหมือนกัน

ถ. อาจารย์บรรยายด้วยภาษาอะไร
สุ. ภาษาอังกฤษ

.........

ขอเชิญติดตามตอนต่อไปได้ที่ลิงค์ด้านล่าง.....

เมื่อท่านอาจารย์ได้รับเชิญไปสัมมนาทางพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ปี ๒๕๒๐ (3)
เมื่อท่านอาจารย์ได้รับเชิญไปสัมมนาทางพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ปี ๒๕๒๐ (4)
เมื่อท่านอาจารย์ได้รับเชิญไปสัมมนาทางพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ปี ๒๕๒๐ (5)
เมื่อท่านอาจารย์ได้รับเชิญไปสัมมนาทางพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ปี ๒๕๒๐ (6)
เมื่อท่านอาจารย์ได้รับเชิญไปสัมมนาทางพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ปี ๒๕๒๐ (7)
เมื่อท่านอาจารย์ได้รับเชิญไปสัมมนาทางพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ปี ๒๕๒๐ (8)
เมื่อท่านอาจารย์ได้รับเชิญไปสัมมนาทางพุทธศาสนาที่ศรีลังกา ปี ๒๕๒๐ (9)



ความคิดเห็น 1    โดย thilda  วันที่ 12 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 2    โดย wirat.k  วันที่ 12 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย ธนฤทธิ์  วันที่ 12 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย ํํญาณินทร์  วันที่ 12 ส.ค. 2559

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย ปาริชาตะ  วันที่ 12 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย s_sophon  วันที่ 13 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ