พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้าที่ 710
๙. หลิททราคชาดก
ว่าด้วยลักษณะของผู้ที่จะคบ
[๑๒๘๓] ความอดทนด้วยดีอยู่ในป่าอันมีที่นอน
และที่นั่งอันสงัดเงียบ จะมีผลดีอะไร ส่วน
ชนเหล่าใดอดทนอยู่ในบ้าน ชนเหล่านั้นเป็น
ผู้ประเสริฐกว่าท่าน.
[๑๒๘๔] ข้าแต่พ่อ ฉันออกจากป่าสู่บ้านแล้ว
ควรคบคนที่มีศีลอย่างไร มีวัตรอย่างไร ฉัน
ขอถามท่าน ขอท่านจงบอกฉันด้วย.
[๑๒๘๕] แน่ะพ่อ ผู้ใดคุ้นเคยกับเจ้า อดทนต่อ
ความคุ้นเคยของเจ้าได้ เป็นผู้ตั้งใจฟังคำพูด
ของเจ้าและอดทนต่อคำพูดของเจ้าได้ เจ้าไป
จากที่นี้แล้วจงคบผู้นั้นเถิด.
[๑๒๘๖] ผู้ใดไม่มีกรรมชั่วด้วยกายวาจาใจ เจ้า
ไปจากที่นี้แล้ว จงตั้งตัวเหมือนบุตรที่เกิดแต่
อกผู้นั้น จงคบผู้นั้นเถิด.
[๑๒๘๗] อนึ่ง ผู้ใดย่อมประพฤติโดยธรรม แม้
เมื่อประพฤติอยู่ก็ไม่ถือตัว เจ้าไปจากที่นี้แล้ว
จงคบผู้นั้น ผู้กระทำกรรมอันบริสุทธิ์ มีปัญญา
เถิด.
[๑๒๘๘] แน่ะพ่อ เจ้าอย่าคบบุรุษที่มีจิตกลับ-
กลอกดุจผ้าที่ย้อมด้วยน้ำขมิ้น รักง่ายหน่าย
เร็ว ถึงแม้ว่าพื้นชมพูทวีปจะพึงไร้มนุษย์.
[๑๒๘๙] เจ้าจงเว้นคนเช่นนั้นเสียให้ห่างไกล
เหมือนบุคคลผู้ละเว้นอสรพิษที่ดุร้าย เหมือน
บุคคลผู้ละเว้นหนทางที่เปื้อนคูถ และเหมือน
บุคคลผู้ไปด้วยยานละเว้นหนทางที่ขรุขระ
ฉะนั้น.
[๑๒๙๐] แน่ะพ่อ ความพินาศย่อมมีแก่ผู้ที่คบ
คนพาล เจ้าอย่าสมาคมกับคนพาลเลย การอยู่
ร่วมกับคนพาลเป็นทุกข์ทุกเมื่อ เหมือนอยู่
ร่วมกับศัตรูฉะนั้น.
ตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็ยังเป็นคนพาลอยู่ แต่หากมีกิเลสแล้วไม่รู้ตัวว่ามีกิเลส ก็จะเป็นคนพาลโดยแท้ คือ เป็นพาลปุถุชน การที่จะเป็นคนดีได้ ก็ต้องรู้ตนเองตามความเป็นจริงด้วยปัญญาก่อนว่า กิเลสของตนเองมีมากแค่ไหน แล้วศึกษาพระธรรมเพื่อความเข้าใจ สนทนาธรรมกับผู้รู้จึงจะได้ชื่อว่าเป็น กัลยาณปุถุชน แต่ถ้ารู้นิดๆ หน่อยๆ แล้วหลงคิดว่า ตัวเอง เริ่มดีแล้ว ก็ไม่เห็นจะต้องปรับปรุงอะไร ขณะที่คิดอย่างนั้นก็ย่อมจะเป็นผู้ที่ประมาทในการเจริญกุศลครับขออนุโมทนาครับ