ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อรรถของจิตประการที่ ๓ คือ ชื่อว่า "จิต" เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก
เรื่องของอดีตกรรมเป็นเรื่องที่รู้ได้ยาก เพราะเป็นการกระทำที่สำเร็จแล้ว เสร็จสิ้นแล้วในอดีต แต่เป็นปัจจัย คือ ทำให้เกิดวิบากจิตและเจตสิกในปัจจุบัน ฉะนั้น จึงควรที่จะได้พิจารณาให้เข้าใจสภาพธรรมที่เป็นวิบากให้ละเอียดขึ้นว่า สภาพธรรมที่เป็นวิบากนั้น ได้แก่ นามธรรม คือ จิต เจตสิก ซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัย
โดยทั่วไป เมื่อประสบเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มักจะพูดกันว่าเป็นกรรมของคนนั้น ซึ่งถ้าจะให้เข้าใจถูกจริงๆ ก็ควรจะพูดว่าเป็นผลของกรรมที่บุคคลนั้นได้กระทำแล้ว ซึ่งจะทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้นว่าขณะใดเป็นผลของกรรม และขณะใดเป็นกรรม เพราะถ้าพูดกันสั้นๆ ว่าเป็นกรรมของคนนั้น ผู้ซึ่งไม่คุ้นเคยกับเหตุของผลของสภาพธรรม ก็อาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนผิดไปได้ โดยอาจจะถือเอาวิบากนั่นเองเป็นกรรม
เมื่อได้ศึกษาและเข้าใจเรื่องของจิตซึ่งเป็นสภาพธรรมอันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก ก็จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น คือ ถ้าปราศจากทวาร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นทางรับรู้อารมณ์ต่างๆ ก็ย่อมจะไม่มีวิบากจิตในชีวิตประจำวันเกิดขึ้นรับผลของกรรม ขณะที่เห็นเป็นวิบากเป็นผลของกรรม แม้ว่าไม่ได้ประสบอุบัติเหตุ หรือได้ลาภยศอื่นใดก็ตาม ขณะได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั้น เป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งสิ้น วิบากจิตไม่ใช่เฉพาะขณะเจ็บไข้ได้ป่วย ได้ลาภหรือเสื่อมลาภ ได้ยศหรือเสื่อมยศเท่านั้น และสติสามารถระลึกรู้สภาพธรรมที่เป็นวิบากได้ในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ ในชีวิตประจำวัน
วิบากจิตย่อมเกิดขึ้นเป็นผลของกัมมปัจจัยที่ได้กระทำแล้วซึ่งยากแก่การที่จะรู้ได้ว่า วิบากจิตที่เกิดขึ้นแต่ละทวารนั้นเป็นผลของอดีตกรรมอะไร เช่น วิบากจิตที่ได้ยินเสียงเด็กเล่นฟุตบอลนั้น เป็นผลของอดีตกรรมอะไร เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่รู้ได้ยาก เพราะเป็นอจินไตย คือ เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิด กรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นเหตุในอดีต ซึ่งแม้จะได้กระทำมานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ก็ยังเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากจิตได้ ฉะนั้น ถ้าใครคิดเดาว่าเห็นสิ่งนี้เป็นผลของกรรมอะไร ได้ยินเสียงนั้นเป็นผลของกรรมอะไร ก็จะไม่พ้นจากความไม่รู้และวุ่นวายใจ เพราะคิดเดาในสิ่งซึ่งไม่อาจมีปัญญาขั้นที่จะรู้จริงได้ แต่วิบากซึ่งเป็นผลของกรรม ก็กำลังมีปรากฏให้รู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สภาพของจิตประเภทที่ ๑ คือ สราคจิต สติเกิดขึ้น ระลึกรู้สภาพจิตที่ประกอบด้วยราคะ ความยินดีพอใจติดข้อง ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา เมื่อสติปัฏฐานไม่เกิด ก็จะไม่รู้เลยว่า เมื่อเห็นสิ่งใด โลภมูลจิตซึ่งเป็นจิตที่ยินดีพอใจสิ่งที่เห็นนั้นก็เกิดสืบต่ออย่างรวดเร็ว การที่จะดับกิเลสได้นั้น ปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง คือ รู้สภาพที่ต่างกันของวิบากจิต ซึ่งเป็นผลของอดีตกรรม และกุศลจิต อกุศลจิต ซึ่งเป็นกิเลสหรือกรรมปัจจุบันอันจะเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากจิตในอนาคต ฉะนั้น การรู้ลักษณะของวิบากจิตนั้นจึงไม่ใช่รู้เพียงหยาบๆ เมื่อมีอุบัติเหตุ มีโรคภัยไข้เจ็บ มีลาภหรือเสื่อมลาภ ได้ยศหรือเสื่อมยศ แต่ต้องรู้ว่าวิบากจิต คือ ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ในชีวิตประจำวัน
เมื่อรู้ว่าวิบากจิตที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลของกรรมของตนเอง แล้วจะโกรธหรือโทษคนอื่นไหมว่าผู้นั้นผู้นี้ทำให้เป็นอย่างนี้
ในพระไตรปิฎกมีเหตุการณ์ในชีวิตของคนที่ได้รับวิบากต่างๆ กันตามยุคสมัยนั้น สมัยนี้ก็มีเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแต่ละบุคคลย่อมได้รับวิบาก คือผลของอดีตกรรมโดยไม่คาดคิดว่าจะเป็นลักษณะใด เช่น ตึกทั้งหลังพังลงมาทับเจ้าของบ้านตาย ไม่ต้องอาศัยลูกระเบิด ไม่ต้องถูกคนอื่นยิงหรือทำร้าย แต่อดีตกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยให้ได้รับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ฉะนั้น จึงไม่ควรโกรธหรือโทษผู้อื่น แต่ควรที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นวิบากจิต ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนจริงๆ จึงจะรู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นผลของอดีตกรรม ไม่ใช่ขณะที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะหรือกุศล ซึ่งเป็นเหตุปัจจุบันที่จะให้เกิดผลในอนาคต
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ปรมัตถธรรมสังเขป
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
ความจริงแห่งชีวิต
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศล แด่ คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ