[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 334
ตติยปัณณาสก์
ภยวรรคที่ ๓
๖. ทุติยเมตตาสูตร
ว่าด้วยผู้เจริญอัปปมัญญา ๔ จําพวก
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 334
๖. ทุติยเมตตาสูตร
ว่าด้วยผู้เจริญอัปปมัญญา ๔ จำพวก
[๑๒๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันใด มีอยู่ในเมตตาฌานนั้น บุคคลนั้นพิจารณาเห็นธรรมเหล่านั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 335
เป็นของทนได้ยาก เป็นของเบียดเบียน เป็นของไม่เชื่อฟัง เป็นของต้องทำลายไป เป็นของว่างเปล่า เป็นของไม่ใช่ตน บุคคลนั้น เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสุทธาวาส ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความอุบัตินี้แลไม่ทั่วไปด้วยปุถุชน.
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ มีใจประกอบด้วยกรุณา ...
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ มีใจประกอบด้วยมุทิตา ...
อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ มีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้ง เบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันใด มีอยู่ในอุเบกขาฌานนั้น บุคคลนั้น พิจารณาเห็นธรรมเหล่านั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นของทนได้ยาก เป็นของเบียดเบียน เป็นของไม่เชื่อฟัง เป็นของต้องทำลายไป เป็นของว่างเปล่า เป็นของไม่ใช่ตน บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสุทธาวาส ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความอุบัตินี้แลไม่ทั่วไปด้วยปุถุชน.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก.
จบทุติยเมตตาสูตรที่ ๖
ทุติยเมตตาสูตรที่ ๖ พึงทราบโดยนัยอันกล่าวแล้วในสูตรที่ ๔.