๔. ทุติยขตสูตร ว่าด้วยพาลและบัณฑิต
โดย บ้านธัมมะ  23 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 38794

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 8

ปฐมปัณณาสก์

ภัณฑคามวรรคที่ ๑

๔. ทุติยขตสูตร

ว่าด้วยพาลและบัณฑิต


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 35]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 8

๔. ทุติยขตสูตร

ว่าด้วยพาลและบัณฑิต

[๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ปฏิบัติผิดในสถาน ๔ เป็นคนพาล ฯลฯ และได้สิ่งอันไม่เป็นบุญมากด้วย ในสถาน ๔ คืออะไร คือ ในมารดา ในบิดา ในพระตถาคต ในสาวกของพระตถาคต บุคคลปฏิบัติผิดในสถาน ๔ นี้แล เป็นคนพาล ฯลฯ และได้สิ่งอันไม่เป็นบุญมากด้วย

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ปฏิบัติชอบในสถาน ๔ เป็นบัณฑิต ฯลฯ และได้บุญมากด้วยในสถาน ๔ คืออะไร คือ ในมารดา ในบิดา ในพระตถาคต ในสาวกของพระตถาคต บุคคลปฏิบัติชอบในสถาน ๔ นี้แล เป็นบัณฑิต ฯลฯ และได้บุญมากด้วย


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 9

(นิคมคาถา)

คนใดปฏิบัติผิด ในมารดา และในบิดา ในพระตถาคตสัมพุทธเจ้า และในสาวกของพระตถาคต คนเช่นนั้น ย่อมได้สิ่งอันไม่เป็นบุญมาก เพราะความ ประพฤติไม่เป็นธรรมในมารดาบิดาเป็นต้นนั้น ในโลกนี้ บัณฑิตทั้งหลายก็ติเตียนเขา เขาตายไปแล้วยังไปอบายด้วย.

คนใดปฏิบัติชอบ ในมารดา ในบิดา ในพระตถาคตสัมพุทธเจ้า และในสาวกของพระตถาคต คนเช่นนั้นย่อมได้บุญมากแท้ เพราะความประพฤติเป็นธรรมในมารดาบิดาเป็นต้นนั้น ในโลกนี้ บัณฑิตทั้งหลายก็สรรเสริญเขา เขาละโลกนี้แล้ว ยังบันเทิงในสวรรค์.

จบทุติยขตสูตรที่ ๔


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้า 10

อรรถกถาทุติยขตสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในทุติยขตสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-

ในบทว่า มาตริ ปิตริ จ เป็นอาทิ นายมิตตวินทุกะ ชื่อว่าปฏิบัติผิดในมารดา. พระเจ้าอชาตศัตรู ชื่อว่าปฏิบัติผิดในบิดา. เทวทัต ชื่อว่าปฏิบัติผิดในพระตถาคต. โกกาลิกะ ชื่อว่าปฏิบัติผิดในพระสาวกของพระตถาคต. บทว่า พหุญฺจ แปลว่า มาก. บทว่า ปสวติ แปลว่า ย่อมได้. บทว่า ตาย ความว่า ด้วยความประพฤติอธรรมกล่าวคือความปฏิบัติผิดนั้น. บทว่า เปจฺจ คือไปจากโลกนี้. บทว่า อปายญฺจ คจฺฉติ คือเขาจะต้องบังเกิดในนรกเป็นต้นแห่งใดแห่งหนึ่ง. ส่วนในสุกกปักข์ (ธรรมฝ่ายดี) ก็นัยนี้เหมือนกัน.

จบอรรถกถาทุติยขตสูตรที่ ๔