วัตถุประสงค์ของการบวช
โดย email  22 ก.พ. 2550
หัวข้อหมายเลข 2889

อยากทราบวัตถุประสงค์ที่ถูกต้อง ในเรื่องของการบวชเป็นพระภิกษุ ในยุคนี้นิยมบวชกันเป็นช่วงสั้นๆ แล้วก็ลาสิกขาบท ไม่ทราบว่าในยุคพุทธกาลมีการบวชเป็นช่วงสั้นๆ แล้วก็ลาสิกขาบท หรือไม่



ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 23 ก.พ. 2550

ในสมัยครั้งพุทธกาล กุลบุตรผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีความประสงค์จะประพฤติพรหมจรรย์ในเพศบรรพชิต เพื่อความเป็นพระอรหันต์จึงออกบวช ไม่มีการกำหนดว่าจะสึกลาสิกขามาเป็นคฤหัสถ์ ดังนั้น ประเพณีที่ว่าบวช เป็นบรรพชิตเพียง ๓ เดือน หรือ ๑๕ วัน จึงไม่มีในพระไตรปิฎกและอรรถกถา


ความคิดเห็น 2    โดย study  วันที่ 23 ก.พ. 2550

เชิญคลิกอ่านได้ที่ ...

กุลบุตรประสงค์ออกบวชเพื่อความเป็นพระอรหันต์


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 23 ก.พ. 2550

การบวช แปลว่า เว้นจากอกุศลทั้งปวง จุดประสงค์ของการบวชเพื่อขัดเกลากิเลส สูงสุดเพื่อความเป็นพระอรหันต์ในเพศของบรรพชิต ตามอัธยาศัยที่ได้สะสมมา


ความคิดเห็น 5    โดย study  วันที่ 24 ก.พ. 2550

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 499

๑. เชนตเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระเชนตเถระ

[๒๔๘] ได้ยินว่า พระเชนตเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า การบวชกระทำได้ยากแท้ การอยู่ครองเรือนก็ยากแท้ ธรรมเป็นของลึก การหาทรัพย์เป็นของยาก การเลี้ยงชีพของเราด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ ก็เป็นของยาก ควรคิดถึงอนิจจตาเนืองๆ


ความคิดเห็น 7    โดย เล็ก  วันที่ 24 ก.พ. 2550

ผมว่าติดเป็นประเพณีมากกว่าผู้ที่คิดจะบวชเพื่อศึกษา และปฎิบัติธรรม เอาแค่ว่าศีล ๒๒๗ ข้อ จะมีภิกษุทื่รู้ศีล จะมีสักกี่องค์ ผมว่าถ้าจะบวชจริงๆ ลองถือศีล ๘ ดูก่อนจะดีกว่า


ความคิดเห็น 8    โดย สัมภเวสี  วันที่ 27 ก.พ. 2550

สวัสดีครับ ขอแทรกความรู้ที่ได้ศึกษามาครับ

บวช เป็นภาษาบาลี มาจาก ป (ทั่ว) + วช (เว้น) ดังนั้นจึงแปลว่าเว้นทั่ว เว้นจากคิหิสัญโญชน์ เว้นจากกามทั้งปวง เว้นความประพฤติที่ไม่เหมาะสมตามสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ในพระวินัย ดังนั้น กุลบุตรผู้ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต ควรตั้งปุพพเจตนาเพื่อขัดเกลาอกุสลธรรมให้เบาบางลง และเจริญกุสลอันเป็นฝ่ายวิวัฏฏะอันจะนำไปสู่อุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่สุด

อนุโมทนา

สัมภเวสี


ความคิดเห็น 10    โดย pornpaon  วันที่ 2 มี.ค. 2550

ขออนุโมทนา

ดิฉันเคยเห็นบวชตามประเพณี หรือขัดบุพการีไม่ได้ บวชอยู่ได้เพียง ๓ วันเท่านั้น หมดทั้งเงินค่าแห่นาค ค่าทำขวัญนาค ค่าเลี้ยงโต๊ะจีนขอบคุณแขก แล้วให้นาคไปยืนไหว้รับแขกหน้าประตูงาน และบนเวทีคล้ายๆ งานแต่งงาน และอื่นๆ อีกจิปาถะ ดูแล้วน่าสงสารพ่อแม่มากๆ ที่หวังได้เกาะชายผ้าเหลือง ตามคตินิยมแบบที่เชื่อตามๆ กันมา แต่ไม่ได้ศึกษาว่า การบวชนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์แล้ว อย่างไร จึงเป็นผู้ที่นับได้ว่าบวชจริงรักษาศีล ๒๗๗ ข้อได้จริงๆ อย่าเอ่ยถึงศีล ๘ เลย เพียงการรักษาเบญจศีลให้บริบูรณ์สำหรับปุถุชน คนสมัยนี้ยังนับว่ายากเป็นอย่างยิ่ง ดิฉันเห็นด้วยกับ ความคิดเห็นที่ 5 (มศพ.) ที่ว่าด้วยคาถาของพระเชนตเถระ

- การบวชกระทำได้ยากแท้

- การอยู่ครองเรือนก็ยากแท้ ธรรมเป็นของลึก

- การหาทรัพย์เป็นของยาก การเลี้ยงชีพของเราด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ก็เป็นของยากควรคิดถึงอนิจตาเนืองๆ


ความคิดเห็น 12    โดย Komsan  วันที่ 17 มี.ค. 2554
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ