กราบสวัสดีมิตรธรรมทุกๆ ท่านครับ
คือจากกระทู้นี้
นามรูปปริจเฉทญาณ
อยากจะขอเรียนถามเพิ่มเติม ในคำถาม เรื่องลักษณะของอาการ "เข้าใจ" อ่ะครับ คือ แต่ก่อนนี้ก็เข้าใจมาตลอดว่า ลักษณะของ อาการ "เข้าใจ" หรือ "อ้ออออ" หรือ ลักษณะของอาการ ที่คนทั่วไปทราบว่า มันมีลักษณะอุปมาเหมือน หลอดไฟติด ปิ๊งๆ ก็คือ อาการ "เข้าใจ" ในเรื่องราวต่างๆ ในบัญญัติต่างๆ ในตรรกะ หรือความเข้าใจในทางธรรม ... เนี้ย เป็น ปัญญาเจตสิก
แต่ทีนี้จากที่ อ.ผเดิม ได้ให้ความกรุณาตอบคำถาม ในกระทู้ที่แล้ว ผมก็เกิดความสงสัยขึ้นอีกว่า ก็เมื่อปัญญาเจตสิก ย่อมเกิดกับความเข้าใจในทางธรรมเท่านั้น ไม่ใช่ในทางโลก แต่อย่างใด (ถูกต้องใช่ไหมครับ)
ทีนี้ ความเข้าใจในทางโลก ... เนี้ย ไอ้ลักษณะของอาการ "เข้าใจ" อุปมาดั่งหลอดไฟติด ปิ๊งๆ ไอ้อาการ ปิ๊งๆ ~ เนี้ย พอสติเกิด มันก็มีลักษณะเหมือนกันเลย ทั้งความเข้าใจทางโลกและทางธรรม
แสดงว่า มันต้องมีเจตสิกชนิดนึง ที่ปรุงแต่งให้จิตมีลักษณะของอาการ เข้าใจ ปิ๊งๆ ~ ใช่ไหมครับ เลยอยากทราบว่า เจตสิกตัวนี้คืออะไร เพราะคงไม่ใช่ปัญญาเจตสิกแน่ๆ เพราะเวลาที่ "เข้าใจ ปิ๊งๆ ~ " เนี่ย มันไม่เหมือนลักษณะของจิต ที่แล่นไปในการนึกคิด ในการตรึก ในทางจดจำแบบนกแก้วนกขุนทอง เพราะมันเป็นสภาพธรรมะที่มีลักษณะอีกแบบนึง เป็นลักษณะปิ๊งๆ ~ ก็เลยสงสัยว่า มันประกอบด้วยเจตสิกอะไร และเจตสิกตัวนี้ ต้องเหมือนกับทั้งความเข้าใจในเรื่องทางโลก ไม่ว่าจะเป็นตรรกะ หรืออะไร และความเข้าใจในทางธรรมใช่ไหม เพียงแต่ในทางธรรม ก็เป็นความเข้าใจที่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก (หรือไม่ประกอบก็ได้ ในเวลาที่เข้าใจผิดใช่ไหม เพราะขณะที่เข้าใจผิด ทางธรรม ขณะนั้นก็ไม่มีปัญญาเจตสิก แต่มันก็ยังมีไอ้อาการของเจตสิก ที่มีลักษณะ "อ้อออ" หรือ อาการ " หลอดไฟติด ปิ๊งๆ ~ " อยู่ดี)
ขอรบกวนชี้แนะด้วยครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความเข้าใจใน เหตุผล เรื่องราว ทางโลก ก็ไม่พ้นจากการเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก ที่เกิดขึ้น แต่ความเข้าใจทางโลกที่คิดถูกต้อง ตามสมมติฐานที่ปุถุชนบัญญัติไว้นั้น ไม่ใช่ความเข้าใจที่เป็นปัญญาเจตสิก ที่รู้ตามความเป็นจริง และขณะที่เข้าใจทางโลก ก็ไม่ใช่กุศลจิต ที่เป็นไปใน ทาน ศีล ภาวนา
เพราะฉะนั้น การที่เข้าใจในเหตุผล เรื่องราว ทางโลกที่เกิดขึ้น เพราะอาศัย มนสิการเจตสิก ที่ มนสิการ ใส่ใจในเรื่องราวนั้น บ่อยๆ และอาศัยวิตกเจตสิก ที่เป็นเท้าของโลก ทำให้คิดออก เข้าใจในเรื่องราวนั้น
ดังนั้นการคิดออกได้ในเรื่องราวทางโลก เป็นอกุศล คิดได้ด้วยอกุศลก็ได้ ครับ แต่เป็นการคิด ที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง แต่ตรงตามความคิด เข้าใจได้ทางโลก ที่ชาวโลกสมมติกัน ครับ ขณะนั้น มีโมหเจตสิกที่เป็นอกุศล ไม่รู้ตามความเป็นจริง ไม่มีปัญญา แต่มี มนสิการ การใส่ใจในเรื่องราวนั้นบ่อยๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้เมื่อสะสมความคิดที่เป็นวิตกในเรื่องราวทางโลกบ่อยๆ ก็ทำให้คิดออกได้ แต่คิดออกด้วยอกุศลธรรม ที่อาศัย มนสิการ วิตก วิจาร เป็นต้น รวมทั้ง สัญญาเจตสิก ที่เคยจำในเรื่องราวที่เรียนมา ศึกษามาด้วย ครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ
ปัญญาทางโลกต่างกับปัญญาทางธรรมหรือไม่
ขอกราบอนุโมทนาสาธุ อ.ผเดิม ครับ
เพราะด้วยมนสิการเจตสิก วิตก วิจาร และสัญญา ถึงได้มีการ ... ที่เรียกว่า "เข้าใจ" แต่ในทางโลก เพราะอวิชชา จึงมีการปรุงแต่ง เรื่องราว บัญญัติ ต่างๆ มากไปหมด จนปิดบังปรมัตถธรรม กลายเป็น เข้าใจ รู้เรื่อง ในสิ่งที่ไม่มี ในสิ่งที่เป็นบัญญัติ แล้วก็หลงไป ก็เป็น มนสิการ วิตก วิจาร สัญญา ที่เป็นอกุศล
แต่ทางธรรม เมื่อด้วยปัญญาแล้ว ก็เป็นอีกขั้น อีกระดับ เทียบกันไม่ได้เลยจริงๆ กับทางโลก
ขอกราบอนุโมทนาอีกครั้งครับ
ที่อาจารย์ผเดิมอธิบายให้เห็นได้ว่า อาศัยวิตกเจตสิก คือ ตรึกไปในบัญญัติ และมีเจตสิกอื่นๆ ร่วมประกอบกัน ทำให้คิดและเข้าใจเรื่องราวทางโลก เมื่อสามารถเข้าใจ ก็ยังเป็นตัวเราที่เข้าใจ จึงมีอาการ "ปิ๊ง" หรือ "อ้อ" ซึ่งเกิดจากความคิดนั้นเอง หากภูมิใจ ดีใจว่า เข้าใจแล้ว ก็เป็นโลภมูลจิตที่มีโสมนัสเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเห็นว่ามีเรา ที่เข้าใจ ก็มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็เป็น "อ้อ" มากหน่อย
ส่วนความเข้าใจทางธรรม ผมเข้าใจว่า เป็นไปตามลำดับ หากเข้าใจในเรื่องราวของพระธรรมที่เป็นปริยัติ ก็อาจมีอาการคล้ายๆ ข้างต้นได้ เนื่องจาก ยังไม่ได้ละตัวตน ก็อาจจะมีอาการ "ปิ๊ง" หรือ "อ้อ" ได้ โดยมีวิตกเจตสิก ตรึกไป ในเรื่องราวที่เกิดขึ้น พร้อมกับเจตสิกอื่นๆ เหมือนกัน
แต่หากเป็น ความเข้าใจขั้นที่สูงขึ้น ซึ่งน่าที่จะแตกต่างออกไป เนื่องจาก องค์ประกอบที่ว่า เข้าใจแน่ชัดว่า ไม่มีตัวเรา และ มีปัญญาเข้าใจตรงสภาพธรรมะที่ปรากฏ ตามความเป็นจริง เกิด ไม่ว่าจะมีโสมนัสเวทนาเกิดด้วยหรือไม่ ก็ตาม สภาพธรรมที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น ตรงกันข้ามกับความเข้าใจทางโลกอย่างสิ้นเชิง ขณะนั้นไม่ได้มีความคิด แม้จะมีวิตกเจตสิก แต่ก็ตรึกไปในอารมณ์ที่เป็นปรมัตถเท่านั้น เจตสิกอื่นๆ ก็รู้อารมณ์ปรมัตถ์ เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ ผู้ที่มีปัญญาเองเท่านั้น ที่จะทราบได้
คงได้แต่พิจารณาถ้อยคำ ที่ท่านใช้แสดง เกี่ยวกับ อาการของปัญญา ที่เกิดขึ้นแล้ว และที่ท่านนั้นๆ กล่าวในพระไตรปิฎก เช่น เปรียบเสมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือ นำประทีปส่องความสว่าง ให้คนตาดี มองเห็นได้ในที่มืด หรือ เปรียบดังแสงสว่าง เป็นต้น
แต่ถ้อยคำข้างต้น ก็คงเป็นเพียง คำอุปมาอุปมัย เป็นเรื่องราว ยากที่ ผู้ที่ยังมีกำลังปัญญาไม่พอที่จะรู้ได้จริงๆ นะครับ
อย่างไรก็ตาม คงพอสรุป ได้ว่า หากมีอาการ "ปิ๊ง" "อ้อ" "ใช่แล้ว" "ใช่เลย" หรือ "ยูเรก้า" ก็คงพอมีรายละเอียดให้พิจารณาได้ว่า เป็นความคิดในเรื่องทางโลก หรือทางธรรม หรือระดับไหน นะครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิม คุณนิรมิต และทุกๆ ท่านครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ปัญญา (ปัญญาเจตสิก) เป็นสภาพธรรมที่เห็นถูก รู้ถูก เข้าใจถูก ตามความเป็นจริง ในภาษาบาลี ไม่มีคำว่า เข้าใจถูก เห็นถูก มีแต่คำว่า ปัญญา
ดังนั้น การนำคำว่า ปัญญาทางโลก มาใช้ ว่า เป็นความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ศาสตร์ต่างๆ ที่เล่าเรียนกัน นั้น จึงไม่ตรงกับสภาพธรรม ที่เป็นปัญญาเจตสิกจริงๆ กล่าวคือ ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก แต่ก็ไม่พ้นไปจาก ความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม ที่เป็นจิต และ เจตสิกประการต่างๆ ที่เกิดร่วมด้วย ส่วนใหญ่แล้ว ก็เป็นไปด้วยอำนาจของอกุศลทั้งนั้น โดยที่่ไม่รู้ตัวเลย
ปัญญา (ปัญญาเจตสิก) ในพระพุทธศาสนา มีหลายขั้น มีทั้งปัญญาที่เข้าใจ ในเรื่องกรรมและผลของกรรม ปัญญาที่เป็นไปในการอบรมเจริญสมถภาวนา ปัญญาที่เป็นไปในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาในระดับที่เป็นวิปัสสนาญาณ ปัญญาที่เกิดร่วมกับมรรคจิต ปัญญาที่เกิดร่วมกับผลจิต แต่ทั้งหมดทั้งปวงนั้นต้องเริ่มที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาขั้นการฟังเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก ไปตามลำดับ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับผม...
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ