ทีฆชาณุสูตร [ประโยชน์สุขในปัจจุบันและในภายหน้า]
โดย บ้านธัมมะ  1 ก.ย. 2552
หัวข้อหมายเลข 13431

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๕ ก.ย. ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

ทีฆชาณุสูตร

นำสนทนาโดย

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกายอัฏฐกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๕๖๐

๔. ทีฆชาณุสูตร

[๑๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิคมแห่งชาวโกลิยะ ชื่อ กักกรปัตตะ ใกล้เมืองโกลิยะ ครั้งนั้นแล โกลิยบุตร ชื่อ ทีฆชาณุ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบ พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์ ยังบริโภคกาม อยู่ครั้งเรือน นอนเบียดบุตร ใช้จันทร์ในแคว้นกาสี ยังทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยังยินดีเงินและทองอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดแสดงธรรมที่เหมาะแก่ข้าพระองค์ อันจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบันเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในภายหน้าเถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน แก่กุลบุตร

๔ ประการเป็นไฉน คือ

อุฏฐานสัมปทา ๑

อารักขาสัมปทา ๑

กัลยาณมิตตตา ๑

สมชีวิตา ๑

ดูก่อนพยัคฆปัชชะ ก็อุฏฐานสัมปทา เป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน คือ กสิกรรม พาณิชยกรรมโครักขกรรม รับราชการฝ่ายทหาร รับราชการฝ่ายพลเรือน หรือศิลปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่องอันเป็นอุบายในการงานนั้น สามารถจัดทำได้ ดูก่อนพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่า อุฏฐานสัมปทา.

ดูก่อนพยัคฆปัชชะ ก็อารักขสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ โภคทรัพย์หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมด้วยกำลังแขนเหงื่อโทรมตัว ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ พร้อมมูล ด้วยทำไว้ในใจว่า ไฉนหนอ พระราชาไม่พึงริบโภคทรัพย์เหล่านี้ของเรา โจรไม่พึงลัก ไฟไม่พึงไหม้ น้ำไม่พึงพัด ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่พึงลักไป ดูก่อนพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่า อารักขสัมปทา.

ดูก่อนพยัคฆปัชชะ ก็กัลยาณมิตตตา เป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ อยู่อาศัยในฐานหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน หรือบุตร สนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ซึ่งเป็นคฤหบดี หรือบุตร คฤหบดี เป็นคนหนุ่มหรือคนแก่ ผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะปัญญา ศึกษาศรัทธาสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศึกษาสีลสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ศึกษาจาคสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ ศึกษาปัญญาสัมปทาตามผู้พึงพร้อมด้วยปัญญา ดูก่อนพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่า กัลยาณมิตตตา.

ดูก่อนพยัคฆปัชชะ ก็สมชีวิตาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ รู้ทางเจริญแห่งทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ ดูก่อนพยัคฆปัชชะ เปรียบเหมือนคนชั่งตราชั่ง หรือ ลูกมือคนชั่งตราชั่ง ยกตราชั่งขึ้นแล้ว ย่อมลดออกเท่านี้ หรือต้องเพิ่มเข้าเท่านี้ ฉันใด กุลบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ. ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่ารายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ ดูก่อนพยัคฆปัชชะ ถ้ากุลบุตรผู้นี้มีรายได้น้อย แต่เลี้ยงชีวิตอย่างโอ่อ่า จะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้ใช้โภคทรัพย์เหมือนคนเคี้ยวกินผลมะเดื่อ ฉะนั้น ก็ถ้ากุลบุตรผู้ที่มีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง จะมีผู้ว่าเขาว่า กุลบุตรผู้นี้จักตายอย่างอนาถา แต่เพราะกุลบุตรผู้นี้รู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ดูก่อนพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่า สมชีวิตา.

ดูก่อนพยัคฆปัชชะ โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้แล้วย่อมมีทางเสื่อม ๔ ประการ คือ

เป็นนักเลงหญิง ๑

เป็นนักเลงสุรา ๑

เป็นนักเลงการพนัน ๑

มีมิตรชั่ว สหายชั่ว เพื่อนชั่ว ๑

ดูก่อนพยัคฆปัชชะ เปรียบเหมือนสระน้ำใหญ่ มีทางไหลเข้า ๔ ทาง ทางไหลออก ๔ ทาง บุรุษพึงปิดทางไหลเข้า เปิดทางไหลออกของสระนั้น ฝนก็มิตกต้องตามฤดูกาล ด้วยประการฉะนี้สระน้ำใหญ่นั้นพึงหวังความเสื่อมอย่างเดียวไม่มีความเจริญเลย ฉันใดโภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมมีทางเสื่อม ๔ ประการ คือ

เป็นนักเลงหญิง ๑

เป็นนักเลงสุรา ๑

เป็นนักเลงการพนัน ๑

มีมิตรชั่ว สหายชั่ว เพื่อนชั่ว ๑

ดูก่อนพยัคฆปัชชะ โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้แล้วย่อมมีความเจริญ ๔ ประการ คือ

ไม่เป็นนักเลงหญิง ๑

ไม่เป็นนักเลงสุรา ๑

ไม่เป็นนักเลงการพนั้น ๑

มีมิตรดี สหายดี เพื่อนดี ๑

ดูก่อนพยัคฆปัชชะ เปรียบเหมือนสระน้ำใหญ่ มีทางไหลเข้า ๔ ทาง ไหลออก ๔ ทาง บุรุษพึงเปิดทางไหลเข้า ปิดทางไหลออกของสระนั้น ทั้งฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล ด้วยประการฉะนี้สระน้ำใหญ่นั้นพึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม ฉันใด โภคทรัพย์ที่เกิดโดยชอบอย่างนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมมีทางเจริญ ๔ ประการ คือ

ไม่เป็นนักเลงหญิง ๑

ไม่เป็นนักเลงสุรา ๑

ไม่เป็นนักเลงการพนัน ๑

มีมิตรดี สหายดี เพื่อนดี ๑

ดูก่อนพยัคฆปัชชะธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในปัจจุบันแก่กุลบุตร.

ดูก่อนพยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในภายหน้าแก่กุลบุตร

ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ

สัทธาสัมปทา ๑

สีลสัมปทา ๑

จาคสัมปทา ๑

ปัญญาสัมปทา ๑

ดูก่อนพยัคฆปัชชะ ก็สัทธาสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้มีศรัทธา คือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดูก่อนพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่า สัทธาสัมปทา.

ดูก่อนภิกษุพยัคฆปัชชะ ก็สีลสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ เป็นผู้งดเว้นจาการดื่มน้ำเมาคือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดูก่อนพยัคฆปัชชะนี้เรียกว่า สีลสัมปทา.

ดูก่อนพยัคฆปัชชะ ก็จาคสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้มีจิตปราศจากมลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามือชุ่มยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน ก่อนพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่า จาคสัมปทา.

ดูก่อนพยัคฆปัชชะ ก็ปัญญาสัมปทา เป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นความเกิด และความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ดูก่อนพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่า ปัญญาสัมปทา

ดูก่อนพยัคฆปัชชะธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุข ในภายหน้าแก่กุลบุตร.

คนหมั่นในการทำงาน

ไม่ประมาท จัดการงานเหมาะสม

เลี้ยงชีพพอเหมาะ

รักษาทรัพย์ที่หามาได้

มีศรัทธา

ถึงพร้อมด้วยศีล

ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่

ชำระทางสัมปรายิกประโยชน์เป็นนิตย์

ธรรม ๘ ประการดังกล่าวนี้ ของผู้ครองเรือน ผู้มีศรัทธา อันพระพุทธเจ้าผู้มี พระนามอันแท้จริง ตรัสว่า นำสุขมาให้ในโลกทั้งสอง คือ ประโยชน์ในปัจจุบันนี้ และ ความสุขในภายหน้า บุญ คือ จาคะนี้ย่อมเจริญแก่คฤหัสถ์ ด้วยประการฉะนี้.

จบ ทีฆชาณุสูตรที่ ๔



ความคิดเห็น 1    โดย ups  วันที่ 1 ก.ย. 2552

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 1 ก.ย. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

ทีฆชาณุสูตร ว่าด้วยประโยชน์สุขในปัจจุบันและในภายหน้า

โกลิยบุตร ชื่อว่าทีฆชาณุ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลเพื่อให้พระองค์ทรงแสดงธรรม แก่ตนในฐานะที่เป็นคฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน อันจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขทั้งในปัจจุบันและในภายหน้า พระองค์จึงได้ทรงแสดงธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขในปัจจุบัน ๔ ประการ ได้แก่

อุฏฐานสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยความหมั่น ไม่เกียจคร้านในการทำงาน

อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์ที่ตนหามาได้

กัลยาณมิตตตา ความเป็นผู้มีมิตรที่ดีงาม คบหาบุคคลผู้มีศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา

สมชีวิตา ความเป็นผู้เลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ใช้จ่ายทรัพย์อย่างสุรุ่ยสุร่าย

พร้อมทั้งทรงแสดงทางเสื่อม และ ทางเจริญแห่งโภคทรัพย์ไว้ด้วย กล่าวคือ การเป็นนักเลงหญิง การเป็นนักเลงสุรา การเป็นนักเลงเล่นพนัน และการมีมิตรชั่ว ๔ ประการนี้ เป็นทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ ส่วนทางเจริญแห่งโภคทรัพย์ มีนัยตรงกันข้าม และทรงแสดงธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขในภายหน้า อีก ๔ ประการ คือ สัทธาสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยศรัทธา เชื่อในพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า)

สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น

จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการสละ ยินดีในการให้ทาน

ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา เป็นผู้มีปัญญาที่เห็นความเกิดดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย pornpaon  วันที่ 1 ก.ย. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย dron  วันที่ 1 ก.ย. 2552

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย พุทธรักษา  วันที่ 1 ก.ย. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย ประสาน  วันที่ 2 ก.ย. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย suwit02  วันที่ 2 ก.ย. 2552

สาธุ


ความคิดเห็น 9    โดย Buppha  วันที่ 2 ก.ย. 2552

สาธุ


ความคิดเห็น 10    โดย คุณ  วันที่ 5 ก.ย. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย captpok  วันที่ 6 ก.ย. 2552

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 12    โดย suntad  วันที่ 29 ส.ค. 2555

สาธุ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 13    โดย ประสาน  วันที่ 24 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 14    โดย chatchai.k  วันที่ 28 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 15    โดย swanjariya  วันที่ 8 เม.ย. 2566

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง