ทนายช่วยเหลือลูกความที่ทำความผิดให้หลุดคดี เพราะกฏหมายมีช่องโหว่มากมาย
โดย LifeExpedition  27 ก.ค. 2563
หัวข้อหมายเลข 32602

ทนายช่วยเหลือลูกความ (ฝ่ายจำเลย) ที่ทำความผิดให้หลุดคดี เพราะกฏหมายมีช่องโหว่มากมาย (โดยสร้างพยานหลักฐานเท็จขึ้นมา และให้เบิกความเท็จในชั้นศาล ทั้งๆ ที่จำเลยและทนายจำเลยรู้อยู่แก่ใจว่าโกหกแต่จำเป็นต้องทำเพื่อหนีการลงโทษ) การกระทำแบบนี้ ฝ่ายที่เป็นจำเลย และทนายที่ช่วยเหลือจำเลย จะได้รับวิบากกรรมเช่นไร

ขอบคุณมากครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 28 ก.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อกระทำกรรม มีการกล่าวเท็จ หรือ กระทำทางกาย วาจา ที่เป็นมุสาวาท อันเป็นการทำลายประโยชน์ผู้อื่น เมื่อกรรมให้ผล ย่อมตกนรก วิบากของกรรมอย่างเบาเมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมได้รับการพูดด้วยคำที่ไม่จริงจากผู้อื่น เป็นต้น

ผลของกรรมของการมุสาวาท

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต เล่ม ๓๗ - หน้าที่ ๔๙๕ - ๔๙๘

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มุสาวาทอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้วกระทำให้มากแล้วย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งมุสาวาทอย่างเบาที่สุด ย่อมยังการกล่าวด้วยคำไม่เป็นจริงให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์.

ในชีวิตประจำวัน จะเห็นได้ว่า มุสาวาท (การกล่าวเท็จ) ได้ทำลายประโยชน์ของผู้อื่นมากมายทีเดียว ตามความเป็นจริงแล้ว คำจริง หรือ ความจริง น่าจะพูดได้ง่ายกว่าคำเท็จ แต่บุคคลผู้สะสมมาอย่างนี้กลับไม่พูดความจริง มักพูดแต่คำเท็จ คนพูดเท็จจึงน่ากลัวมาก เพราะเขาสามารถทำความชั่วได้ทุกอย่าง ซึ่งตรงกับความจริงที่ว่า "บุคคลผู้มักพูดเท็จ ที่จะไม่ทำอกุศลกรรมอย่างอื่น เป็นไม่มี" อย่างเห็นได้ชัด

การกล่าวเท็จ เป็นอกุศลธรรม เหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ ก็เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริง เพื่อให้เห็นโทษของอกุศลดังกล่าว จึงเป็นเครื่องเตือนสำหรับทุกคนเพื่อจะได้ไม่ประมาทในชีวิตโดยประการทั้งปวง เพราะธรรมดาของปุถุชนมักไหลไปตามอำนาจของกิเลส เมื่อมีเหตุปัจจัย ย่อมกระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ได้จึงไม่ควรประมาทกำลังของกิเลส ดังนั้น พึงเป็นผู้เห็นโทษของอกุศลแม้จะเล็กน้อยก็ตาม เนื่องจากว่า ขึ้นชื่อว่าอกุศลแล้วไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ควรที่จะมีความละอาย มีความเกรงกลัวต่ออกุศล แม้แต่การพูดเท็จ ก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นไปเพื่อทำลายประโยชน์ของผู้อื่น ก็ไม่ควรทำ และถ้าถึงขั้นที่ทำลายหรือหักรานประโยชน์ของผู้อื่นแล้ว ยิ่งไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง ครับ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 191

ว่าโดยลักษณะ เจตนาที่ให้เกิดวิญญัติอย่างนั้น ของผู้ประสงค์จะให้ผู้อื่นเข้าใจเรื่องที่ไม่แท้ว่าเป็นเรื่องแท้ ชื่อว่า มุสาวาท.มุสาวาทนั้น มีโทษน้อย เพราะประโยชน์ที่ทำลายนั้นน้อย มีโทษมาก เพราะประโยชน์ที่ทำลายนั้นมาก อีกอย่างหนึ่ง สำหรับพวกคฤหัสถ์ มุสาวาทที่เป็นไปโดยนัยว่าไม่มี เป็นต้น เพราะประสงค์จะไม่ให้ของของตนมีโทษน้อย ที่เป็นพยานกล่าวเพื่อทำลายประโยชน์ มีโทษมาก.

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 28 ก.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่มที่ ๔๓ -
หน้าที่ ๒๑๒-๒๑๔

"ขึ้นชื่อว่าทุจริต แม้เพียงเล็กน้อยบุคคลไม่ควรทำ ด้วยความสำคัญว่า 'ชนพวกอื่นย่อมไม่รู้กรรมนี้ของเรา' (ส่วน) สุจริตนั่นแหละ เมื่อคนอื่นแม้ไม่รู้ก็ควรทำ, เพราะว่าขึ้นชื่อว่าทุจริต แม้บุคคลปกปิดทำ ย่อมทำการเผาผลาญในภายหลัง, (ส่วน) สุจริตย่อมยังความปราโมทย์อย่างเดียวให้เกิดขึ้น"

สิ่งที่มีจริง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น กุศล เป็น กุศล อกุศล เป็น อกุศล ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงความเป็นจริงของธรรมไม่ได้ ถ้าได้ศึกษาพระธรรมไปตามลำดับ จะเข้าใจได้ว่า พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาและกุศลธรรมทั้งปวง ไม่มีคำสอนแม้แต่บทเดียว ที่จะส่งเสริมให้คนเกิดอกุศล แม้เล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นในกรณีใดๆ ก็ตาม การกล่าวเท็จหรือพูดโกหก แสดงหลักฐานเท็จ เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงกำลังของกิเลสในชีวิตประจำวัน ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ที่จะกล่าวเท็จก็ยังกล่าวได้

สำหรับการกล่าวเท็จนั้น ถึงแม้ว่าบุคคลอื่น จะไม่รู้ แต่ตัวเองย่อมรู้ก่อนคนอื่น ว่าตนเป็นคนกล่าวเท็จ การกล่าวเท็จ (พูดให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง) ล้วนมีเหตุปัจจัย คือ เพราะยังมีกิเลสอยู่นั่นเอง และการกล่าวเท็จนั้น เป็นวจีทุจริต เป็นอกุศลกรรม ผลอย่างหนักทำให้ไปเกิดในอบายภูมิ ถ้าเป็นผลอย่างเบา เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้ได้รับคำพูดที่ไม่จริงจากผู้อื่น ขณะที่เป็นอกุศลนั้น ไม่เป็นประโยชน์ ไม่นำความสุขมาให้เลย มีแต่ให้เกิดทุกข์อย่างเดียวเท่านั้น

ขณะที่ทำผิด ในบางครั้ง ดูเหมือนว่า คนอื่นจะจับไม่ได้ คนอื่นไม่รู้ แต่ความชั่วนั้น ได้เกิดขึ้นแล้ว สะสมเป็นเหตุที่ไม่ดี ทำให้เป็นผู้ไม่ตรง และ เมื่อถึงคราวที่ความชั่วให้ผล ไม่พลาดแน่ คือ การเกิดในอบายภูมิ ได้รับผลที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ โดยไม่มีใครทำให้เลย

จึงไม่ควรแก้ปัญหา ด้วยการกล่าวเท็จ สร้างหลักฐานเท็จ เพราะที่กล่าวเท็จนั้น เป็นอกุศลของตนเอง ย่อมไม่ดี อย่างแน่นอน ผู้ที่เห็นด้วยกับพฤติกรรมที่ผิด ก็สะสมสิ่งที่ผิดไปด้วย ถ้ามีสภาพธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้น จะไม่ทำชั่วเลย ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็ตาม ดังนั้น สิ่งที่สัตว์โลกขาด ก็คือ ความดี และความดีที่ประเสริฐยิ่งที่เกื้อกูลให้ความดีประการอื่นๆ เจริญขึ้น คือ ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก จากการได้อาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ที่ได้ฟังได้ศึกษามีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย Nataya  วันที่ 28 ก.ค. 2563

กราบอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย chatchai.k  วันที่ 28 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย LifeExpedition  วันที่ 29 ก.ค. 2563

เป็นคำตอบที่มีประโยชน์มาก ขอน้อมรับครับ

ขอบพระคุณทุกท่านที่ช่วยตอบคำถาม และอนุโมทนาครับ