ขอเรียนถาม ชาคริยานุโยค ตามข้อความด้านล่าง เมื่ออ่านแล้วทำให้เข้าใจว่า จะเป็นการให้ปฏิบัติมากกว่าการฟังธรรมและการศึกษาธรรมให้เข้าใจหรือไม่
โปรดอธิบายเพื่อความเข้าใจด้วยครับ ขอขอบคุณและอนุโมทนาครับ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 590
ข้อความบางตอนจาก ...
ว่าด้วยภิกษุเป็นธีรชน
... ชาคริยานุโยคเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมทั้งหลาย อันเป็นเครื่องกั้นกางด้วยการเดิน การนั่งตลอดวัน ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมทั้งหลาย อันเป็นเครื่องกั้นกาง ด้วยการเดิน การนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี ย่อมสำเร็จสีหไสยา (นอนอย่างราชสีห์) โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ใส่ใจถึงสัญญาในความลุกขึ้น ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี กลับลุกขึ้นแล้ว ชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องกั้นกาง ด้วยการเดิน การนั่ง ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี พิจารณาถึงความอยู่แห่งบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญ ชื่อว่า ประพฤติในธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือชาคริยานุโยคในภายใน ย่อมไม่ทำลายชาคริยานุโยคอันเป็นเขตแดน นี้ชื่อว่า ธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือชาคริยานุโยค เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุ ... มีสติ ประพฤติในธรรมเป็นส่วนสุดรอบ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จากคำถามที่ว่า
เมื่ออ่านแล้วทำให้เข้าใจว่า จะเป็นการให้ปฏิบัติมากกว่าการฟังธรรมและการศึกษาธรรมให้เข้าใจหรือไม่
ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจก่อนครับว่า ชาคริยานุโยค คืออะไร
ชาคริยานุโยค หมายถึง เป็นผู้ที่มีความเพียร ตื่นอยู่ หากได้อ่านในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ ให้ภิกษุทั้งหลาย กำจัดนิวรณ์ และ เดินจงกรม เป็นต้น ซึ่ง การพิจารณาธรรมก็ต้องโดยละเอียด จะเห็นคำว่า ตื่นอยู่ ไม่ใช่เพียงตื่นโดยไม่หลับ จะเป็น ชาคริยานุโยค ที่เป็นการเพียร เพื่อถึงการดับกิเลสได้ แต่จะต้องตื่นจากกิเลส คือ มี สติสัมปชัญญะ คือ มีสติและปัญญาเกิดขึ้นในขณะที่ทำกิจ มีการเดินจงกรม ด้วย ครับ
ดังนั้น จะเพียร โดยขาดปัญญาไม่ได้
แต่ เป็นการแสดงถึง ผู้ที่มีความเข้าใจพระธรรมแล้วของเพศพระภิกษุ ที่มีความเพียรที่ประกอบด้วยปัญญา การเดินจงกรม ก็เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อให้ไม่ให้หลับ และ แก้ความเมื่อยที่นั่งนาน หรือ อยู่ในอิริยาบถ ซ้ำๆ
เพราะฉะนั้น เดินจงกรม ไม่ใช่ว่าจะเป็นวิธีปฏิบัติธรรม แต่ขณะที่ปฏิบัติ คือ ขณะที่สติสัมปัชัญญะ หรือ สติและปัญญาเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ไม่ว่าจะเป็นอิริยาบถใด ครับ
ซึ่ง หนทางการรู้ความจริงที่เป็นการเจริญวิปัสสนา หรือ ที่เรียกว่า ปฏิบัติ คือ ขณะที่สติและปัญญาเกิดรู้ความจริงในขณะนี้ ขณะนั้นชื่อว่าปฏิบัติ ซึ่งเหตุให้เกิดสติและปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ก็ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม
เพราะฉะนั้น ภิกษุที่ปฏิบัติความเพียร เพราะท่านมีความเข้าใจพระธรรม จากการฟัง ศึกษาพระธรรมแล้ว จึงเป็นผู้ปรารภความเพียรที่เห็นประโยชน์ว่า แทนที่จะหลับ ที่เป็นขณะที่ไม่เจริญ เพราะขณะที่หลับสนิท สติปัฏฐาน หรือ ปฏิบัติเกิดไม่ได้ แต่สติปัฏฐาน หรือ ปฏิบัติเกิดได้ ขณะที่ไม่หลับ จึงเห็นประโยชน์ของการตื่นอยู่ คือ การไม่หลับ ก็ด้วยการเปลี่ยนอิริยาบถ ด้วยการเดินไปมา ที่เรียกว่า จงกรมนั่นเอง แต่ ท่านจะต้องมีปัญญาจากการฟัง ศึกษาพระธรรมแล้ว จึงเจริญสติปัฏฐาน คือ รู้ความจริงในขณะที่เดินไปมาในขณะนั้น ครับ ชื่อว่ากำลังปฏิบัติ คือ ขณะที่สติและปัญญาเกิดรู้ความจริงของสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา นี่แสดงถึงอัธยาศัยของผู้ที่ปรารภความเพียร แต่ไม่ได้หมายความว่า แต่ละท่านจะต้องปฏิบัติตาม เพราะ แม้ผู้ที่ฟังพระธรรม แล้วก็บรรลุ ในขณะที่ไม่ได้เดินจงกรมไปมาก็มีมากมาย
เพราะปัญญาเกิดในทุกที่ และ ทุกอิริยาบถ เพราะขณะที่ปฏิบัติ คือ ขณะที่ปัญญารู้ความจริงในสภาพธรรมในขณะนี้ ครับ ซึ่ง สติและปัญญาจะมีไม่ได้เลย ถ้าปราศจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ครับ
ชาคริยานุโยค ที่เป็นผู้มีความเพียร ตื่นอยู่ ตื่นด้วยปัญญา หากไม่มีปัญญา ก็ไม่ชื่อว่าผู้ตื่นอยู่ ครับ เพราะฉะนั้น สำคัญที่ความเข้าใจพระธรรมเป็นสำคัญ และ ไม่ใช่การเอาอย่างตามที่อ่าน แต่ก็ต้องรู้ว่า สะสมมาแบบไหน เพราะปัญญาสามารถเกิดได้ในอิริยาบถต่างๆ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม โดยไม่มีตัวตนที่จะไปทำให้สติ จะทำความเพียร หรือ จะต้องมีความเพียร จึงจะเกิดสติ ปัญญา ครับ
อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้น ถึงพร้อม ย่อมเป็นปัจจัยให้สติและปัญญาเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น มีความเพียรแล้ว เพียรที่จะระลึกรู้ลักษณะ ไม่มีใครที่จะเพียรและมีปัญญาที่รู้ความจริงด้วย ครับ
การเจริญสติปัฏฐานจึงเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพียงแต่ว่า พระองค์ทรงแสดงโดยนัยต่างๆ ตามการสะสมมาของแต่ละบุคคล ที่จะเพียรในการเห็นประโยชน์ที่จะไม่หลับ แต่ก็ให้รู้ว่า ชาคริยานุโยค ขาดปัญญา คือ ความเป็นผู้ตื่นด้วยปัญญา ไม่ได้ ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระพุทธศาสนา เป็นเรื่องของปัญญา ไม่ได้มีคำสอนแม้แต่บทเดียว ที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้เป็นอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย พระธรรมเป็นธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว จึงเป็นภาระหน้าที่ที่สำคัญสำหรับผู้ที่ศึกษาที่จะต้องมีความละเอียดรอบคอบในการศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ตรงตามพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง
ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปทำอะไรด้วยความเป็นตัวตน ด้วยการปฏิบัติที่ผิด (คือ ปฏิบัติผิด แต่เข้าใจผิดว่าปฏิบัติถูก) นั่นไม่ใช่ ความเพียรที่ถูกต้อง แต่เป็นไปกับด้วยอกุศลประการต่างๆ มากมาย ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นผู้ตื่นที่ไม่หลับ มีการนั่ง มีการเดิน เป็นต้น แต่ถ้ายังเป็นไปกับด้วยกิเลส ไม่เป็นไปกับด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูก จะเป็นผู้ตื่นไม่ได้เลย เพราะตื่น ต้องตื่นจากกิเลส ตื่่นจากความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ความเพียรที่เกิดขึ้นเป็นไป ที่เป็นความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่ ก็ต้องเป็นไปพร้อมกับการอบรมเจริญปัญญา ที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ถ้าไม่มีการฟังธรรม ความเพียรที่ถูกต้องจะเกิดได้อย่างไร.
ความเพียรในที่นี้ต้องเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา. ค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
"ขณะที่ฟังพระธรรมแล้วพิจารณาตามจนเกิดความเข้าใจ"
"ปัญญาที่เกิดขึ้นนั่นเองที่ทำหน้าที่ปฏิบัติ"
"ไม่มีตัวตน ไม่มีเรา มีแต่สภาพธรรมที่เกิดดับทุกขณะ ต้องฟังจนกว่าจะไม่มีเรา"
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ