[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 169
เถรีคาถา ปัญจกนิบาต
๙. ภัททากุณฑลเกสาเถรีคาถา
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 54]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 169
๙. ภัททากุณฑลเกสาเถรีคาถา
[๔๔๗] พระภัตทากุณฑลเกสาเถรีกล่าวคาถาอุทานว่า
แต่ก่อน ข้าพเจ้าถอนผม อมมูลฟัน มีผ้าผืนเดียวเที่ยวไป รู้ในสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ และเห็นในสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ.
ข้าพเจ้าออกจากที่พักกลางวัน ก็ได้พบพระพุทธเจ้า ผู้ไม่มีกิเลสดุจธุลี อันหมู่ภิกษุแวดล้อมที่ภูเขาคิชฌกูฏ จึงคุกเข่าถวายบังคม ทำอัญชลีต่อพระพักตร์ พระองค์ตรัสกะข้าพเจ้าว่า ภัททา จงมา พระดำรัสสั่งนั้น ทำความหวังของข้าพเจ้าให้สำเร็จสมบูรณ์.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 170
ข้าพเจ้าจาริกไปทั่วแคว้นอังคะ มคธะ กาสี และโกสละบริโภคก้อนข้าวของชาวบ้านมา ๕๐ ปี ไม่เป็นหนี้ [ไม่เป็นอิณบริโภค] .
ท่านอุบาสกผู้ใด ถวายจีวรแต่ข้าพเจ้าภัททาผู้หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทุกอย่างแล้ว ท่านอุบาสกผู้นั้น ประสบบุญเป็นอันมากหนอ.
จบ ภัททากุณฑลเกสาเถรีคาถา
๙. อรรถกถาภัททากุณฑลเกสาเถรีคาถา
คาถาว่า ลูนเกสี ปงฺกธรี เป็นต้น เป็นคาถาของพระภัททากุณฑลเกสาเถรี.
พระเถรีแม้รูปนี้ ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระก็บังเกิดในเรือนของครอบครัว กรุงหังสวดี รู้เดียงสาแล้ว วันหนึ่งฟังธรรมในสำนักพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศของภิกษุณีผู้เป็นขิปปาภิญญาตรัสรู้เร็ว จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น ทำบุญจนตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป ก็เป็นพระราชธิดาระหว่างพระพี่น้องนาง ๗ พระองค์ ในพระราชมณเฑียรของพระเจ้ากาสีพระนามว่า กิกิ สมาทานศีล ๑๐ ประพฤติโกมารีพรหมจรรย์อยู่ถึง ๒๐,๐๐๐ ปีสร้างบริเวณที่อยู่ของพระสงฆ์ ท่องเที่ยวอยู่ในฝ่ายสุคติเท่านั้นตลอดพุทธันดรหนึ่ง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 171
มาในพุทธุปปาทกาลนี้ บังเกิดในครอบครัวเศรษฐีกรุงราชคฤห์มีชื่อว่าภัททา. นางมีบริวารมาก เติบโตเป็นสาวแล้ว เห็นโจรชื่อสัตตุกะ บุตรปุโรหิตในพระนครนั้นนั่นเองทางหน้าต่าง ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่นครบาลจับตัว ในความผิดมหันตโทษ พร้อมทั้งของกลาง กำลังควบคุมตัวมายังที่ประหาร เพื่อฆ่าให้ตายตามพระราชอาชญา มีจิตปฏิพัทธ์ ก็นอนคว่ำหน้าบนที่นอน คร่ำครวญว่า ถ้าเราได้เขา จึงจะมีชีวิตอยู่ ถ้าไม่ได้ก็จักตายเสีย.
บิดาของนางรักนางมาก เพราะมีธิดาคนเดียว จึงติดสินบนพันกหาปณะ ให้เจ้าหน้าที่ปล่อยโจรด้วยอุบาย ให้แต่งตัวประดับด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง ส่งตัวขึ้นไปยังปราสาท ส่วนนางภัททา มีความปรารถนาบริบูรณ์แล้วก็ประดับด้วยเครื่องอลังการเสียจนเกินไป ปรนนิบัติสัตตุกโจรนั้น. ล่วงไป ๒ - ๓ วัน สัตตุกโจรก็เกิดโลภในเครื่องอลังการเหล่านั้น กล่าวกะนางว่าภัททาจ๋า พี่พอถูกเจ้าหน้าที่นครบาลจับได้ ก็บนเทวดาซึ่งสิงสถิต ณ เขาทิ้งโจรไว้ว่า ถ้าพี่รอดชีวิต ก็จักนำเครื่องพลีกรรมไปเซ่นสรวงท่าน น้องท่านช่วยจัดเครื่องพลีกรรมสำหรับเทวดานั้นด้วยเถิด. นางคิดว่าจักทำใจเขาให้เต็ม จึงจัดเตรียมเครื่องพลีกรรม ประดับประดาด้วยเครื่องอาภรณ์ทุกอย่างขึ้นยานคันเดียวกันไปกับสามี มุ่งหมายจักทำพลีกรรมแก่เทวดา เริ่มขึ้นไปยังเขาทิ้งโจร.
สัตตุกโจรคิดว่า เมื่อขึ้นไปกันทั้งหมด เราก็จักยึดอารมณ์ของหญิงผู้นี้ไม่ได้ จึงพักปริวารชนไว้ที่ตรงนั้นนั่นเอง ให้นำไปเฉพาะภาชนะใส่เครื่องพลีกรรมนั้นเท่านั้น เมื่อขึ้นไปยังภูเขา ก็มิได้พูดวาจาที่น่ารักกับนางเลย นางก็รู้ถึงความประสงค์ของเขาโดยอาการเคลื่อนไหวเท่านั้น สัตตุกโจรเริ่มลายโจรกล่าวว่า ภัททา เจ้าจงเปลื้องผ้าห่มของเจ้าออกห่อเครื่องประดับที่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 172
ติดตัวเจ้าเดี๋ยวนี้. นางกล่าวว่า นายท่าน ข้าพเจ้ามีความผิดอะไรเล่า เขากล่าวว่า หญิงโง่ ทำไมหนอเจ้าจึงเข้าใจข้าว่ามาทำพลีกรรม ความจริง ข้ามาเพื่อยึดอาภรณ์ของเจ้า โดยอ้างการพลีกรรมต่างหากเล่า. นางกล่าวว่านายท่าน เครื่องประดับเป็นของใคร ตัวข้าพเจ้าเป็นของใครกันคะ. เขากล่าวว่า ข้าน่ะ ไม่รู้จักการจำแนกอย่างนี้ดอกนะ. นางกล่าวว่า เอาเถิด นายท่านขอท่านโปรดช่วยทำความประสงค์ของข้าพเจ้าอย่างหนึ่งให้เต็มด้วยเถิด โปรดให้ข้าพเจ้าได้กอดนายท่านทั้งยังแต่งเครื่องประดับอยู่ด้วยนะคะ เขาก็รับคำ.นางรู้ว่าเขารับคำแล้ว ก็ทำประหนึ่งว่า กอดข้างหน้าแล้วกอดข้างหลัง ได้ทีก็ผลักโจรตกเขาขาด โจรนั้น ก็ตกลงแหลกละเอียดเป็นจุรณวิจุรณไป. เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่เขาเห็นเหตุการณ์น่าอัศจรรย์ที่นางทำแล้ว เมื่อจะประกาศความที่นางเป็นคนฉลาด จึงได้กล่าวคาถาเหล่านั้นว่า
มิใช่แต่บุรุษจะเป็นบัณฑิตได้ในที่ทุกสถาน แม้สตรีมีปัญญาเห็นประจักษ์ ก็เป็นบัณฑิตได้ในที่นั้นๆ .
มิใช่แต่บุรุษจะเป็นบัณฑิตได้ในที่ทุกสถาน แม้สตรีที่คิดความได้ฉับพลัน ก็เป็นบัณฑิตได้.
ลำดับนั้น นางภัททาคิดว่า โดยวิธีการอย่างนี้เราก็กลับบ้านไม่ได้ จำเราจะไปเสียจากที่นี่แล้วบวชเสียสักอย่าง จึงไปยังอารามของนิครนถ์ ขอบวชเป็นนิครนถ์. นิครนถ์เหล่านั้น กล่าวกะนางว่า การบรรพชาจะมีได้ด้วยการกำหนดอันไรเล่า. นางกล่าวว่า อันใดเป็นสูงสุดแห่งบรรพชาของท่าน ขอท่านโปรดกระทำอันนั้นเถิด. นิครนถ์เหล่านั้นกล่าวว่า ดีละ แล้วก็ช่วยกันถอนผมของนางด้วยเสี้ยนตาลใสให้นางบวช. ผมที่งอกขึ้นมาอีก ก็เวียนเป็นลอนงอกขึ้นมา นับแต่นั้นมา นางก็เกิดมีชื่อว่า กุณฑลเกสา. นางเล่าเรียน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 173
ลัทธิสมัยและทางแห่งวาทะที่ควรเรียนในสำนักนิครนถ์นั้น ก็รู้ว่าคนเหล่านั้นรู้กันเท่านี้ วิเศษยิ่งกว่านี้ไม่มี ก็หลีกออกไปจากสำนักนั้น ไปในที่ๆ มีบัณฑิตเล่าเรียนศิลปความรู้ของบัณฑิตเหล่านั้น มองไม่เห็นใครที่สามารถจะพูดด้วยกับตน เข้าไปตามนิคมใดๆ ก็กองทรายไว้ใกล้ประตูคานนิคมนั้นๆ วางกิ่งหว้าไว้บนกองทรายนั้น ให้สัญญาณแก่พวกเด็กที่ยืนอยู่ใกล้ๆ ว่า ผู้ใดสามารถจะยกวาทะของเราได้ ผู้นั้นก็จงเหยียบกิ่งหว้านี้ แล้วก็ไปที่อยู่ เมื่อกิ่งหว้าวางอยู่อย่างนั้น ๗ วัน นางก็จะถือกิ่งหว้านั้นหลีกไป.
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา เสด็จอุบัติในโลก ทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐ ทรงอาศัยกรุงสาวัตถีโดยลำดับ ประทับ อยู่ ณพระเชตวัน แม้นางกุณฑลเกสา ก็ท่องเที่ยวไปในตามนิคมราชธานีทั้งหลายโดยนัยที่กล่าวแล้ว ถึงกรุงสาวัตถีวางกิ่งหว้าลงบนกองทราย ใกล้ประตูพระนคร ให้สัญญาณแก่พวกเด็กๆ แล้วก็เข้าไปยังกรุงสาวัตถี,
ครั้งนั้น ท่านพระธรรมเสนาบดีเข้าไปพระนครลำพังผู้เดียว เห็นกิ่งไม้นั้น ประสงค์จะย่ำยีวาทะ จึงถามพวกเด็กๆ ว่า เหตุไร กิ่งไม้นี้จึงถูกรางไว้อย่างนี้. พวกเด็กก็บอกความข้อนั้น. พระเถระกล่าวว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นพวกเจ้าจงช่วยกันเหยียบกิ่งไม้นี้เถิด. พวกเด็กก็พากันเหยียบกิ่งไม้นั้น.
นางกุณฑลเกสาฉันอาหารเสร็จแล้ว ก็ออกจากนคร เห็นกิ่งไม้ถูกเหยียบ จึงถามว่าใครเหยียบ ทราบว่าพระเถระให้เหยียบ คิดว่า วาทะที่ไม่มีคนเข้าข้างไม่งาม จึงเที่ยวไปจากถนนหนึ่งสู่อีกถนนหนึ่ง โฆษณาว่า ท่านทั้งหลายโปรดดูวาทะของข้าพเจ้ากับพระสมณะศากยบุตรเถิด ถูกมหาชนห้อมล้อมแล้ว เข้าไปหาท่านพระธรรมเสนาบดี ซึ่งนั่งอยู่โคนไม้ต้นหนึ่ง ทำปฏิสันถารแล้ว ยืน ณ ที่สมควรส่วนหนึ่งกล่าวว่า กิ่งไม้หว้าที่ข้าพเจ้าวางไว้ ท่านให้เด็กเหยียบหรือ. พระเถระตอบว่า ถูกละ เราให้เด็กเหยียบ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 174
นางกล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะมีวาทะของข้าพเจ้ากับท่านกันนะเจ้าคะ. พระเถระว่า เชิญสิภัททา. นางว่า ท่านเจ้าข้า ใครถาม ใครตอบ กันล่ะเจ้าคะ.พระเถระว่า ธรรมดาว่าการถามมาถึงเราแล้ว แต่ท่านจงถามข้อที่รู้ของตนเถิด.โดยอนุมัติที่พระเถระให้ไว้ นางจึงถามวาทะที่เป็นข้อรู้ของตนทั้งหมด. พระเถระก็ตอบได้หมด. นางไม่รู้ข้อที่ควรถามสูงขึ้นไปจึงนิ่งอยู่. พระเถระกล่าวว่าท่านถามมามากข้อ แต่เราจะถามปัญหาท่านข้อเดียว. นางกล่าวว่า โปรดถามเถิดเจ้าข้า. พระเถระถามปัญหาข้อนี้ว่า เอกํ นาม กึ อะไรชื่อว่าหนึ่ง นางกุณฑลเกสามองไม่เห็นเงื่อนต้นไม่เห็นเงื่อนปลาย เป็นเหมือนเข้าไปสู่ที่มืด จึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ทราบเจ้าข้า. พระเถระกล่าวว่า ข้อเดียวเท่านี้ท่านยังไม่รู้ ข้ออื่นๆ ท่านจะรู้ได้อย่างไรเล่า แล้วแสดงธรรม. นางหมอบลงแทบเท้าทั้งสองของพระเถระกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าขอถึงท่านเป็นสรณะ.พระเถระกล่าวว่า ภัททา ท่านอย่าถึงเราเป็นสรณะเลย ท่านจงถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เดียว ซึ่งเป็นอัครบุคคลในโลก พร้อมทั้งเทวโลกเป็นสรณะเถิด. นางกล่าวว่า ข้าพเจ้าจะทำตามอย่างนั้นเจ้าข้า แล้วก็ไปเฝ้าพระศาสดา เวลาทรงแสดงธรรมในตอนเย็น ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ยืน ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง พระศาสดาทรงทราบว่า นางมีญาณแก่กล้าแล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
ถ้าคาถาจำนวนตั้งพันคาถา ไม่ประกอบด้วยบทเป็นประโยชน์ คาถาบทเดียวที่ฟังแล้วสงบได้ยังประเสริฐกว่า.
จบคาถา นางทั้งที่อยู่ในท่ายืนนั่นแล ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในคัมภีร์อปทานว่า (๑)
๑. ขุ. ๓๓/ข้อ ๑๖๑ กุณฑลเกสีเถรีอปทาน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 175
พระชินพุทธเจ้า พระนามว่า ปทุมุตตระ ผู้ทรงถึงฝั่งแห่งสรรพธรรม เป็นผู้นำ เสด็จอุบัติ เมื่อแสนกัปนับแต่กัปนี้. ครั้งนั้นข้าพเจ้าเกิดในครอบครัวเศรษฐี ผู้รุ่งโรจน์ด้วยรัตนะนานาชนิด กรุงหังสวดีเปี่ยมด้วยความสุขเป็นอันมาก.
ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระมหาวีรพุทธเจ้าพระองค์นั้นฟังธรรมอันยอดเยี่ยม เกิดความเลื่อมใส ก็ถึงพระชินพุทธเจ้าเป็นสรณะ
พระปทุมุตตรพุทธเจ้า ผู้ทรงมีพระมหากรุณาทรงสถาปนาพระสุภาภิกษุณีว่า เป็นเลิศของภิกษุณีผู้เป็นขิปปาภิญญา ตรัสรู้เร็ว.
ข้าพเจ้าฟังพระพุทธเจ้าดำรัสนั้นแล้วก็ยินดีด้วย ถวายแด่พระผู้ทรงแสวงคุณอันยิ่งใหญ่ หมอบลงแทบเบื้องพระยุคลบาท ปรารถนาตำแหน่งนั้น.
พระผู้เป็นมหาวีระ ทรงอนุโมทนาว่า ดูก่อนภัททา เจ้าปรารถนาตำแหน่งใด ตำแหน่งนั้นจักสำเร็จหมด ขอเจ้าจงมีสุขเย็นใจเถิด. ในแสนกัปนับแต่กัปนี้ไป พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ผู้ทรงสมภพในราชสกุลของพระเจ้าโอกกากราช จักเป็นศาสดา แม่นางจักมีชื่อว่าภัททากุณฑลเกสา เป็นทายาทในธรรมของพระองค์ เป็นโอรสา ถูกเนรมิตโดยธรรม จักเป็นสาวิกาของพระศาสดา.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 176
ด้วยกรรมที่ทำดีนั้น และด้วยการตั้งใจไว้ชอบข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว ก็ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์.จุติจากนั้นแล้ว ก็ไปสวรรค์ชั้นยามาจากนั้นก็ชั้นดุสิตชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัตดี.
ข้าพเจ้าเกิดในภพใดๆ ด้วยอำนาจของกรรมนั้นข้าพเจ้าก็ครองตำแหน่งเอกอัครมเหสีของพระราชาทั้งหลายในภพนั้นๆ จุติจากภพนั้นแล้ว มาในหมู่มนุษย์ก็ครองตำแหน่งอัครมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ และพระราชาเจ้าปฐพีมณฑล ข้าพเจ้าเสวยสมบัติในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ประสบสุขในภพทุกภพท่องเที่ยวอยู่หลายกัป.
ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะเป็นพราหมณ์ มียศใหญ่ เป็นยอดของศาสดาทั้งหลาย
พระเจ้ากาสี จอมนรชน กรุงพาราณสี ราชธานีทรงเป็นอุปฐาก พระผู้ทรงแสวงคุณอันยิ่งใหญ่ ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นราชธิดาองค์ที่ ๔ ในพระเจ้ากาสีนั้น ปรากฏพระนามว่าภิกขุทาสี ฟังธรรมของพระชินพุทธเจ้าผู้เลิศแล้วก็ชอบใจการบรรพชา.
พระราชบิดาไม่ทรงอนุญาตพวกเรา ครั้งนั้นพวกเราจึงอยู่ในพระราชมณเฑียร ไม่เกียจคร้านประพฤติโกมารีพรหมจรรย์มา ๒๐,๐๐๐ ปี เป็นพระราชธิดาเสวยสุข บันเทิงยินดีเป็นนิตย์ ในการบำรุงพระพุทธเจ้า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 177
มี ๗ พระองค์คือ สมณี สมณคุตตา ภิกขุนีภิกขุทาสิกา ธัมมา สุธัมมา และสังฆทาสิกาที่ครบ ๗.
บัดนี้ คือ เขมา อุบลวรรณา ปฏาจาราข้าพเจ้า กิสาโคตมี ธัมมทินนา และวิสาขาที่ครบ ๗.
ด้วยกรรมที่ทำมาดีนั้น และด้วยการตั้งใจไว้ชอบ ข้าพเจ้าละกายมนุษย์ ก็ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์.
บัดนี้ ภพสุดท้าย ข้าพเจ้าเกิดในครอบครัวเศรษฐี ผู้มั่งคั่ง ในกรุงราชคฤห์ราชธานีมคธ ครั้นข้าพเจ้าเติบโตเป็นสาว เห็นโจรที่ถูกเขานำไปจะประหารชีวิต เกิดจิตปฏิพัทธ์ในโจรนั้น บิดาของข้าพเจ้าติดสินบนเจ้าหน้าที่ด้วยทรัพย์พันกหาปณะ ให้ปล่อยโจรนั้นพ้นจากประหาร.
บิดาเอาใจข้าพเจ้า จึงมอบโจรนั้นให้ข้าพเจ้าข้าพเจ้าเอ็นดูโจรนั้น ช่วยเกื้อกูล สนิทสนมอย่างยิ่ง.โจรนั้น นำเครื่องพลีกรรมไป เพราะโลภในเครื่องประดับของข้าพเจ้า นำไปยังเขาทิ้งโจร คิดจะฆ่าข้าพเจ้าที่ภูเขา.
ครั้งนั้น ข้าพเจ้านอบน้อมสัตตุกโจร ทำอัญชลีอย่างดี รักษาชีวิตตน จึงกล่าวคำนี้ว่า
สายสร้อยทองนี้ แก้วมุกดา และไพฑูรย์เป็นอันมาก ขอท่านโปรดเอาไปทั้งหมด โปรดปล่อยภัททา ประกาศว่าเป็นทาสีของท่าน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 178
สัตตุกโจรกล่าวกะข้าพเจ้าว่า
แม่งาม จงตายเสียเถิด เจ้าอย่าพิไรรำพันนักเลย ข้าไม่รู้เลยว่า ไม่ต้องฆ่านางผู้มาถึงป่าแล้ว
ข้าพเจ้ากล่าวกะสัตตุกโจรว่า
เมื่อใดข้าพเจ้านึกถึงตัวเอง เมื่อใดข้าพเจ้าเติบโตรู้เดียงสาแล้ว เมื่อนั้นข้าพเจ้าไม่รู้เลยว่า คนอื่นจะเป็นที่รักยิ่งกว่าตัวท่าน มาสิข้าพเจ้าจักกอดท่านทำประทักษิณเวียนขวาท่าน ไหว้ท่าน ข้าพเจ้ากับท่านจะไม่ได้พบกันอีกแล้ว.
เทวดาที่สิงสถิต ณ ภูเขากล่าวสดุดีข้าพเจ้าว่า
มิใช่แต่บุรุษจะเป็นบัณฑิตได้ในที่ทุกสถาน แม้สตรีมีปัญญาเห็นประจักษ์ ก็เป็นบัณฑิตได้ในที่นั้นๆ .
มิใช่บุรุษจะเป็นบัณฑิตได้ในที่ทุกสถาน แม้สตรีที่คิดความได้รวดเร็ว ก็เป็นบัณฑิตได้.
ครั้งนั้น ข้าพเจ้าฆ่าสัตตุกโจร เหมือนอย่างขนเนื้อทราย ฆ่าเนื้อทรายฉะนั้น.
ก็ผู้ใดรู้แก้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้ฉับพลัน ผู้นั้นย่อมหลุดพ้นจากการบีบคั้นของศัตรูเหมือนข้าพเจ้าหลุดพ้นจากสัตตุกโจร ในครั้งนั้นฉะนั้น.
ครั้งนั้น ข้าพเจ้าผลักสัตตุกโจรตกลงไปที่ซอกเขา แล้วเข้าไปยังสำนัก ของนักบวชผู้ครองผ้าขาวบรรพชา.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 179
พวกนักบวชปริพาชก เอาแหนบถอนผมของข้าพเจ้าหมดให้บรรพชาแล้ว สอนลัทธิสมัย ไม่ว่างเว้นในครั้งนั้น.
แต่นั้น ข้าพเจ้าเรียนลัทธินั้นนั่งอยู่คนเดียวนึกถึงลัทธินั้นว่า สุนัขทำกะมนุษย์.
ข้าพเจ้าจับกิ่งหว้าที่ขาดแล้ว วางนอนไว้ใกล้ข้าพเจ้าแล้วก็หลีกไป เห็นกลุ่มคนยืนอยู่อากูลดังหมู่หนอน ก็ได้นิมิต สลดใจ ก็ลุกขึ้นจากที่นั้นบอกกล่าวกะสหธรรมมิกปริพาชกผู้ร่วมประพฤติธรรม สหธรรมิกเหล่านั้นบอกว่า ภิกษุศากยบุตรรู้ความข้อนั้น ข้าพเจ้าจึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด.
พระผู้นำพระองค์นั้น ทรงแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้าว่า ขันธ์อายตนะและธาตุทั้งหลาย ไม่งามไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา.
ข้าพเจ้าฟังธรรมของพระองค์แล้ว ชำระธรรมจักษุให้บริสุทธิ์ รู้แจ้งพระสัทธรรมแล้ว ได้บรรพชาอุปสมบท. พระผู้ทรงเป็นผู้นำอันข้าพเจ้าทูลวอนแล้วก็ตรัสว่า ภัททา จงมา ข้าพเจ้าอุปสมบทแล้วในครั้งนั้น ได้เห็นน้ำเล็กน้อย. ด้วยการล้างเท้า ก็รู้พร้อมทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมคิดอย่างนี้ว่า สังขารแม้ทั้งหมดก็เป็นอย่างนั้น.
แต่นั้น จิตของข้าพเจ้าก็หลุดพ้น ไม่ยึดมั่นโดยประการทั้งปวง ครั้งนั้น พระชินพุทธเจ้าจึงทรง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 180
แต่งตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศของภิกษุณีผู้เป็นขิปปาภิญญา ตรัสรู้เร็วพลัน.
ข้าพเจ้าผู้ทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดาเป็นผู้ชำนาญในฤทธิ์ ในทิพโสตธาตุ รู้ปรจิตตวิชชา [เจโตปริยญาณ] รู้ปุพเพนิวาสญาณ ทำทิพยจักษุให้บริสุทธิ์ ทำอาสวะให้สิ้นไปหมด บริสุทธิ์ไร้มลทินอย่างดี.
พระศาสดา ข้าพเจ้าบำรุงแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ทำเสร็จแล้ว. ภาระหนัก ก็ปลงลงแล้ว ตัณหาที่นำไปในภพ ก็ถอนเสียแล้ว ชนทั้งหลายออกจากเรือนบวชไม่มีเรือน เพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์อันนั้น ข้าพเจ้าก็บรรลุแล้ว ธรรมเป็นที่สิ้นสังโยชน์ทุกอย่าง ก็บรรลุแล้ว. ญาณของข้าพเจ้าในอรรถ ธรรม นิรุตติและปฏิภาณ ก็บริสุทธิ์ไพบูลย์ด้วยอำนาจของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด.
กิเลสทั้งหลาย ข้าพเจ้าก็เผาเสียแล้ว ภพทุกภพข้าพเจ้าก็ถอนเสียแล้ว ข้าพเจ้าตัดเครื่องผูกดุจช้างไม่มีอาสวะอยู่.
ข้าพเจ้ามาดีแล้ว ในสำนักพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด วิชชา ๓ ก็บรรลุแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็ทำเสร็จแล้ว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 181
ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ก็กระทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็ทำเสร็จแล้ว.
ก็แลนางครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว ทันใดนั้นก็ทูลขอบรรพชา พระศาสดาทรงอนุญาตการบรรพชาแก่นาง นางจึงไปสำนักภิกษุณี บรรพชาแล้วก็ยับยั้งอยู่ด้วยสุขในผลและสุขในนิพพาน พิจารณาการปฏิบัติของตน จึงกล่าวคาถาเหล่านี้เป็นอุทานว่า
แต่ก่อน ข้าพเจ้าถอนผม อมมูลฟัน มีผ้าผืนเดียวเที่ยวไป รู้ในสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ และเห็นสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ.
ข้าพเจ้าออกจากที่พักกลางวัน ก็ได้พบพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสดุจธุลี อันหมู่ภิกษุแวดล้อมที่ภูเขาคิชฌกูฏ จึงคุกเข่าถวายบังคม ทำอัญชลีต่อพระพักตร์พระองค์ตรัสกะข้าพเจ้าว่า ภัททา จงมา พระดำรัสสั่งนั้น ทำความหวังของข้าพเจ้าให้สำเร็จสมบูรณ์.
ข้าพเจ้าจาริกไปทั่วแคว้นอังคะ มคธะ กาสีโกสละ บริโภคก้อนข้าวของชาวแคว้นมา ๕๐ ปี ไม่เป็นหนี้ [ไม่เป็นอิณบริโภค] .
ท่านอุบาสกผู้ใด ได้ถวายจีวรแก่ข้าพเจ้าภัททาผู้พ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทุกอย่างแล้ว ท่านอุบาสกผู้นั้นมีปัญญา ประสบบุญเป็นอันมากหนอ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 182
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลูนเกสี ได้แก่ ชื่อว่าถอนผม เพราะข้าพเจ้าถูกถอนถูกทิ้งผม คือมีผมถูกถอนด้วยเสี้ยนตาล ในการบวชในลัทธินิครนถ์ พระเถรีกล่าวหมายถึงลัทธินั้น. บทว่า ปงฺกธรี ได้แก่ ชื่อว่าอมมูลฟัน เพราะคงไว้ซึ่งปังกะคือมลทินในฟันทั้งหลาย เพราะยังไม่เคี้ยวไม้ชำระฟัน. บทว่า เอกสาฏี ได้แก่ มีผ้าผืนเดียว ตามจารีตนิครนถ์ บทว่าปุเร จรึ ได้แก่ แต่ก่อนข้าพเจ้าเป็นนักบวชหญิงนิครนถ์ (นิคนฺถี) เที่ยวไปอย่างนี้. บทว่า อวชฺเช วชฺชมตินี ได้แก่ สำคัญในสิ่งที่ไม่มีโทษมีการอาบน้ำ ขัดสีตัวและเคี้ยวไม้สีฟันเป็นต้นว่ามีโทษ. บทว่า วชฺเช จาวชฺชทสฺสินี ได้แก่ เห็นในสิ่งที่มีโทษมีมานะ มักขะ ปลาสะและวิปัลลาสะเป็นต้นว่าไม่มีโทษ.
บทว่า ทิวาวิหารา นิกขมฺม ได้แก่ ออกจากสถานที่พักกลางวันของตน. ภัททาปริพาชิกาแม้นี้ มาพบพระเถระเวลาเที่ยงตรง ถูกพระเถระกำจัดความกระด้างด้วยมานะเสีย ด้วยการตอบปัญหานั้น และแสดงธรรมก็มีใจเลื่อมใส ประสงค์จะเข้าไปยังสำนัก จึงกลับไปยังที่อยู่ของตน นั่งพักกลางวัน เวลาเย็นจึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา.
บทว่า นิหจฺจ ชานุํ วนฺทิตฺวา ความว่า ด้วยการคุกเข่าทั้งสองลงที่แผ่นดินตั้งอยู่ ชื่อว่าตั้งอยู่ด้วยองค์ ๕. บทว่า สมฺมุขา อญฺชลึ อกึความว่าได้ทำอัญชลีที่รุ่งเรืองด้วยการประนม ๑๐ นิ้ว ต่อพระพักตร์ของพระศาสดา. บทว่า เอหิ ภทฺเทติ มํ อวจ สา เม อวสูปสมฺปทา ความว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสั่งข้าพเจ้า ผู้บรรลุพระอรหัต แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบทว่า ภัททา จงมา เจ้าจงไปสำนักภิกษุณี บรรพชาอุปสมบทเสียที่สำนักภิกษุณีดังนี้อันใด พระดำรัสสั่งของพระศาสดานั้น ได้เป็นอุปสัมปทาเพราะเป็นเหตุแห่งการอุปสมบทของข้าพเจ้า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้า 183
สองคาถาว่า จิณฺณา เป็นอาทิ เป็นคาถาแสดงการพยากรณ์พระอรหัต.บรรดาบทเหล่านั้น. บทว่า จิณฺณา องฺคา จ มคธา ความว่า ชนบทเหล่านั้นใด คือ อังคะ มคธะ กาสี โกสละ แต่ก่อน ข้าพเจ้าบริโภคก้อนข้าวของชาวแคว้นอย่างเป็นหนี้ เที่ยวจาริกไป นับตั้งแต่พบกับพระศาสดาข้าพเจ้าไม่เป็นหนี้ คือไม่มีโทษ ปราศจากกิเลส บริโภคก้อนข้าวของชาวแคว้นมา ๕๐ ปี ในชนบทเหล่านั้นแล.
พระเถรีเมื่อพยากรณ์พระอรหัต โดยมุข คือการระบุบุญวิเศษ แก่อุบาสกผู้มีใจเลื่อมใสแล้วถวายจีวรแก่ตน จึงกล่าวคาถาสุดท้ายว่า ปุญฺญํ วตปสวิ พหุํ ประสบบุญเป็นอันมากหนอเป็นต้น. คาถานั้น ก็รู้ได้ง่ายแล.
จบ อรรถกถาภัททากุณฑลเกสาเถรีคาถา