นางสุชาดาอุบาสิกาผู้ถึงพระรัตนตรัยคนแรก
นางสุชาดา เป็นธิดาของเสนิยกุฏุมพี (กุฏุมพี = เศรษฐี ผู้มีทรัพย์มาก) ในหมู่บ้านเสนานิคม แห่งตำบลอุรุเวลา เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยสาวนางได้ทำพิธีบวงสรวงต่อเทพยดาที่สิงสถิต ณ ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งใกล้บ้านของนาง โดยได้ตั้งปณิธานความปรารถนาไว้ ๒ ประการ คือ
๑. ขอให้ข้าพเจ้าได้สามีที่มีบุญ มีทรัพย์สมบัติ และมีชาติสกุลเสมอกัน
๒. ขอให้ข้าพเจ้ามีบุตรคนแรกเป็นชาย ถ้าความปรารถนาของข้าพเจ้าทั้ง ๒ ประการ สำเร็จสมบูรณ์แล้ว ข้าพเจ้าจะทำพลีกรรมแก่ท่านด้วยของอันมีค่า หนึ่งแสนกหาปณะ ครั้นการต่อมา ความปรารถนาของนางสำเร็จทั้งสองประการ โดยได้สามีเป็นเศรษฐีมีฐานะเสมอกัน และได้บุตรคนแรกเป็นชายนามว่า “ยสะ”
นางได้ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปจนลูกชายแต่งงานแล้ว จึงปรารภที่จะทำพลีกรรมบวงสรวงสังเวยเทพยดา ด้วยข้าวมธุปายาส เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ นางได้ประกอบพิธีหุงข้าวมธุปายาสเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นางทาสีสาวให้ไปปัดกวาดทำความสะอาดบริเวณโคนต้นไทรนั้น แก้บนด้วยข้าวมธุปายาส ขณะนั้น พระสิทธัตถะบรมโพธิสัตว์ หลังจากเลิกการทรมานร่างกายหันมาเสวยพระกระยาหาร หวังจะบำเพ็ญเพียรทางจิต ประทับนั่งพักผ่อนที่ใต้ร่มไทรนั้น ผินพระพักตร์ทอดพระเนตรไปทางทิศปราจีน (ตะวันออก มีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกาย เป็นปริมณฑลดูงามยิ่งนัก นางทาสีสาวใช้เห็นแล้วก็ตระหนักแน่ในจิตคิดว่า คงจะเป็นเทพยดาเจ้ามานั่งคอยท่ารับเครื่องพลีกรรม จึงมิได้เข้าไปทำความสะอาดดังที่ตั้งใจมา รีบกลับไปแจ้งแก่นางสุชาดา ฝ่ายนางสุชาดา จึงแต่งกายด้วยเครื่องอาภรณ์อันงดงามเป็นที่เรียบร้อย แล้วยกถาดข้าวมธุปายาสขึ้นทูนศีรษะ ออกจากบ้านพร้อมด้วยบริวารไปยังต้นไทรนั้น
ครั้นได้เห็นพระโพธิสัตว์งดงามเช่นนั้น ก็เกิดโสมนัสยินดีสำคัญว่า เป็นรุกขเทวดามานั่งคอยรับเครื่องพลีกรรม จึงน้อมนำเข้าไปถวายพร้อมทั้งถาดทองคำ เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ ทรงรับและเสวยข้าวมธุปายาสแล้ว เสด็จไปประทับที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตและได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าในวันนั้น หลังจากได้ประทับเสวยวิมุติสุข คือ สุขอันเกิดจากการตรัสรู้ บริเวณใกล้ๆ นั้นเป็นเวลา ๗ สัปดาห์ รวม ๔๙ วัน แล้วได้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดพระปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
ลูกชายหายในที่ไม่ไกลจากป่าอิสิปตนมฤคทายวันมากนัก ตระกูลครอบครัวของนางสุชาดา ได้ตั้งอยู่บริเวณนั้น เพราะเป็นตระกูลเศรษฐีมีทรัพย์สมบัติมาก แต่มีบุตรชายเพียงคนเดียว จึงเอาอกเอาใจบำรุงบำเรอบุตรด้วยกามคุณ ๕ อย่างพร้อมสรรพ ด้วยหวังจะให้บุตรชายเป็นทายาทสืบสกุล ได้สร้างปราสาท ๓ หลัง สำหรับเป็นที่อยู่ใน ๓ ฤดู อีกทั้งมีสาวงามคอยขับร้องประโคมดนตรีขับกล่อมตลอดเวลาคืนหนึ่ง ยสะนอนหลับก่อนบริวารและสาวขับร้อง ท่ามกลางแสงประทีปส่องสว่างอยู่ บรรดาหญิงนักขับร้องประโคมดนตรีทั้งหลายเห็นยสะนอนหลับแล้ว จึงคิดว่า บัดนี้เจ้านายก็หลับแล้ว พวกเราจะขับร้องประโคมดนตรีกันไปเพื่อประโยชน์อะไร จึงพากันเอนกายลงนอนหลับใหลไม่ได้สติ ยสะตื่นขึ้นมายามดึกเห็นอาการอันวิปริตต่างๆ ของหญิงนักดนตรีเหล่านั้นนอนกันไม่เป็นระเบียบ บ้างก็นอนบ่นละเมอเพ้อพึมพำ บ้างก็นอนกรนดังดุจเสียงกา บ้างก็เลื้อยกายไม่มีผ้าปิด บ้างก็อ้าปากน้ำลายไหล ฯลฯ ไม่เป็นที่เจริญจิตเจริญใจดังแต่ก่อน ภาพเหล่านี้ปรากฏแก่ ยสะดุจซากศพ ในป่าช้าผีดิบ เกิดความรู้สึกสลดรันทดใจ และเบื่อหน่ายรำคาญเป็นที่สุด
จึงเดินออกจากห้องเดินพลางบ่นพลางว่า "ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ" ออกจากห้องลงบันไดเดินไปอย่างไม่มีจุดหมาย บังเอิญได้เดินไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งขณะนั้นพระพุทธองค์เสด็จเดินจงกรมอยู่ ได้สดับเสียงของยสะเดินบ่นมาเช่นนั้น จึงตรัสว่า "ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เธอจงเข้ามาที่นี่ เราจะแสดงธรรมให้ฟัง "ยสะจึงถอดรองเท้าแล้วเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ได้สดับพระธรรมเทศนา อนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ จบแล้ว ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ยสะบรรลุพระอรหัตตผล
ฝ่ายทางบ้าน พอรู้ว่าลูกชายหายไปจึงรีบส่งคนออกติดตามทั่วทุกทิศ บิดาเองก็ออกติดตามด้วย และบังเอิญเดินไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เห็นรองเท้าลูกชายก็จำได้จึงเข้าไปกราบทูลถามพระพุทธองค์ว่า เห็นลูกชายมาทางนี้บ้างหรือไม่ พระพุทธองค์ทรงดำริว่า “ถ้าพ่อลูกได้เห็นหน้ากันก็จะเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรม” จึงทรงบันดาลด้วยฤทธิ์ มิให้พ่อลูกเห็นกัน ตรัสแก่เศรษฐีว่า “ท่านจงนั่งลงก่อน แล้วท่านจะได้เห็นลูกชายของท่าน” แล้วทรงแสดงอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ให้ท่านเศรษฐีฟัง ส่วน ยสะก็ได้ฟังอีกครั้งหนึ่ง เมื่อจบลงเศรษฐีได้บรรลุพระโสดาบัน
ส่วน ยสะได้บรรลุพระอรหัตตผล พระพุทธองค์ทรงทราบว่า ยสะได้บรรลุพระอรหัต ไม่หวนกลับไปครองเพศฆราวาสอีกต่อไปแล้ว จึงทรงคลายฤทธิ์ให้พ่อลูกได้เห็นกันเศรษฐีเห็น ยสะลูกชายก็ดีใจ อ้อนวอนให้กลับบ้าน ด้วยคำว่า “ยสะ มารดาของเจ้าเศร้าโศกยิ่งนัก เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาของเจ้าด้วยเถิด” แต่พอทราบว่า ยสะ บรรลุพระอรหัตแล้ว ก็อนุโมทนาและขอแสดงตนเป็นอุบาสก ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก ตลอดชีวิต ได้ชื่อว่า "เป็นอุบาสกคนแรก ที่ถึงพระรัตนตรัย” แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยยสะให้ไปรับอาหารบิณฑบาตที่เรือนของตนในเช้าวันนั้น และเมื่อทราบว่าพระพุทธองค์ทรงรับอาราธนาแล้ว จึงกราบทูลลากลับบ้านแจ้งแก่ภรรยาและบริวารในบ้านให้จัดเตรียมอาหาร เพื่อถวายพระบรมศาสดา และ ยสะ
ฝ่ายยสะ เมื่อบิดากลับไปแล้วกราบทูลขออุปสมบท พระองค์ทรงประทานด้วยพระดำรัสว่า “เธอจงเป็นภิกษุ มาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้วเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด” โดยไม่มีคำว่า “เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ” เหมือนกับที่ประทานแก่พระปัญจวัคคีย์ เพราะว่า ยสะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตั้งแต่ก่อนบวชนั่นเอง การอุปสมบทแบบนี้ เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” เช้าวันนั้นพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระยสะเสด็จไปยังเรือนของเศรษฐีตามคำอาราธนา ประทับบนอาสนะที่จัดเตรียมไว้ มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะได้ช่วยกันถวายภัตตาหาร เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว พระพุทธองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ให้สตรีทั้งสองฟัง เมื่อจบลงเธอทั้งสองก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบันในพระพุทธศาสนา แสดงตนเป็นอุบาสิกา ขอถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต เธอทั้งสองได้ชื่อว่า "เป็นอุบาสิกาคนแรกที่ถึงพระรัตนตรัยในพระพุทธศาสนา”
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องนางสุชาดา (มารดาของพระยสะ) ในตำแหน่งเอตทัคคะ ว่าเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลาย ในฝ่ายผู้ถึงพระรัตนตรัยก่อนอุบาสิกาทั้งปวง อ่านเรื่องของนางสุชาดา แล้วขอเป็นเหตุปัจจัยให้ทุกท่าน และผมได้ซาบซึ้ง และมั่นคงในพระรัตนตรัยยิ่งขึ้น ครับ
ขอให้ทุกท่านมีโอกาสเจริญกุศลยิ่งๆ ขึ้นไป และมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตด้วยค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
เมื่อได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติแล้วทำให้เพิ่มพูนศรัทธาขึ้นไปอีกเท่าทวีคูณ ก็ขออนุโมทนาด้วย
เจริญพร
ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ
ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอเชิญอ่านเพิ่มเติม...
ประวัตินางสุชาดา เสนียธิดา
เรื่องยสกุลบุตร [มหาขันธกะ]