••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••
สนทนาธรรมที่
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันเสาร์ ที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๓ คือ
อุฏฐานสูตร (ว่าด้วยบุคคล ๔ จำพวก)
และ
สาวัชชสูตร
(ว่าด้วยบุคคล ๔ จำพวก มีบุคคลผู้มีโทษ เป็นต้น)
จาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้าที่ ๑๕๙ - ๑๖๗
นำสนทนาโดย
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๓๕๑
๔. อุฏฐานสูตร (ว่าด้วยบุคคล ๔ จำพวก)
[๑๓๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก๔ จำพวกเป็นไฉน คือ อุฏฺานผลุปชีวี น กมฺมผลุปชีวี (บุคคลจำพวกหนึ่ง ดำรงชีพอยู่ด้วยผลของความหมั่น มิใช่ดำรงชีพอยู่ด้วยผลของกรรม) กมฺมผลุปชีวี น อุฏฺานผลุปชีวี (บุคคลจำพวกหนึ่ง ดำรงชีพอยู่ด้วยผลของกรรม มิใช่ดำรงชีพอยู่ด้วยผลของความหมั่น) อุฏฺานผลุปชีวี เจว กมฺมผลุปชีวี จ (บุคคลจำพวกหนึ่ง ดำรงชีพอยู่ด้วยผลของความหมั่นบ้าง ด้วยผลของกรรมบ้าง) เนว อุฏฺานผลุปชีวี น กมฺมผลุปชีวี (บุคคลจำพวกหนึ่ง ดำรงชีพอยู่ด้วยผลของความหมั่นก็มิใช่ ด้วยผลของกรรมก็มิใช่) นี้แล บุคคล ๔ จำพวก มีปรากฏอยู่ในโลก.
จบอุฏฐานสูตรที่ ๔
อรรถกถาอุฏฐานสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในอุฏฐานสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-
บุคคลจำพวกหนึ่ง ใช้วันเวลาให้ล่วงไป ด้วยความเพียร คือ ความหมั่นเท่านั้น ได้อะไรมาเพียงเป็นผลของความเพียรนั้นที่หลั่งออกมาเลี้ยงชีวิต เขาอาศัยแต่ความหมั่นนั้น ไม่ได้ผลบุญอะไร บุคคลจำพวกนี้ ชื่อว่า ดำรงชีพอยู่ด้วยผลของความหมั่น มิใช่ดำรงอยู่ด้วยผลของกรรม. ส่วนเหล่าเทวดาแม้ทั้งหมด ตั้งแต่เทวดาชั้นจาตุมมหาราชเป็นต้นไป เพราะเข้าไปอาศัยผลบุญดำรงชีพ เว้นความเพียรคือความหมั่น ชื่อว่า ดำรงชีพอยู่ด้วยผลของกรรม มิใช่ดำรงชีพอยู่ด้วยผลของความหมั่น.อิสรชน มีพระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชาเป็นต้น ชื่อว่า ดำรงชีพอยู่ด้วยผลของความหมั่น และดำรงชีพอยู่ด้วยผลของกรรม. พวกสัตว์นรกดำรงชีพอยู่ด้วยผลของความหมั่นก็มิใช่ ด้วยผลของกรรมก็มิใช่. ผลบุญนั่นแล ท่านประสงค์ว่าผลของกรรมในสูตรนี้ ผลบุญนั้นไม่มีแก่พวกสัตว์นรกเหล่านั้น.
จบอรรถกถาอุฏฐานสูตรที่ ๔
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๓๕๒
๕. สาวัชชสูตร
(ว่าด้วยบุคคล ๔ จำพวก มีบุคคลผู้มีโทษ เป็นต้น)
[๑๓๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก๔ จำพวกเป็นไฉน คือ สาวชฺโช บุคคลมีโทษ วชฺชพหุโล บุคคลมีโทษมาก อปฺปวชฺโช บุคคลมีโทษน้อย อนวชฺโช บุคคลไม่มีโทษ บุคคลมีโทษเป็นอย่างไร? บุคคลบางคนในโลกนี้ ประกอบด้วยกายกรรมอันมีโทษ วจีกรรมอันมีโทษ มโนกรรมอันมีโทษ อย่างนี้แล บุคคลมีโทษ บุคคลมีโทษมากเป็นอย่างไร? บุคคลบางคนในโลกนี้ ประกอบด้วยกายกรรมวจีกรรม มโนกรรม อันมีโทษเป็นส่วนมาก ที่ไม่มีโทษเป็นส่วนน้อย อย่างนี้แล บุคคลมีโทษมาก บุคคลมีโทษน้อยเป็นอย่างไร? บุคคลบางคนในโลกนี้ ประกอบด้วยกายกรรมวจีกรรม มโนกรรม อันไม่มีโทษเป็นส่วนมาก ที่มีโทษเป็นส่วนน้อย อย่างนี้แลบุคคลมีโทษน้อย บุคคลไม่มีโทษเป็นอย่างไร? บุคคลบางคนในโลกนี้ ประกอบด้วยกายกรรมอันไม่มีโทษ วจีกรรมอันไม่มีโทษ มโนกรรมอันไม่มีโทษ อย่างนี้แล บุคคลไม่มีโทษ. ภิกษุทั้งหลาย นี้แลบุคคล ๔ จำพวก มีปรากฏอยู่ในโลก.
จบสาวัชชสูตรที่ ๕
อรรถกถาสาวัชชสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในสาวัชชสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-
คนจำพวกที่หนึ่ง ได้แก่ ปุถุชนคนโง่เขลา, จำพวกที่สอง ได้แก่ โลกิยปุถุชนผู้บำเพ็ญกุศลในระหว่างๆ ,จำพวกที่สาม ได้แก่ พระโสดาบัน ถึงพระสกทาคามี และอนาคามี ก็รวมกับคนจำพวกที่สามนั้นเหมือนกัน, จำพวกที่สี่ ได้แก่ พระขีณาสพจริงอยู่ พระขีณาสพนั้น หาโทษมิได้โดยส่วนเดียว.
จบอรรถกถาสาวัชชสูตรที่ ๕
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป อุฏฐานสูตร (ว่าด้วยบุคคล ๔ จำพวก)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงบุคคล ๔ จำพวกที่มีปรากฏอยู่ในโลกนี้ คือ
๑. บุคคลที่ต้องอาศัยความหมั่นเป็นพื้นฐาน จึงจะได้วัตถุสิ่งของมาเลี้ยงชีพ ไม่ได้รับผลของกุศลกรรม จึงทำให้การดำรงชีวิตเป็นไปอย่างยากลำบาก ไม่สะดวกสบาย
๒. บุคคลที่ไม่ต้องอาศัยความหมั่น แต่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยผลของกุศลกรรม หมายถึงเทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกาเป็นต้นไป (บางนัย แสดงว่าหมายถึงเทวดาชั้นปรนิมมิต-วสวัตตี และ พรหมบุคคล ซึ่งไม่ต้องมีความหมั่นใดๆ เลย ดำรงชีพอยู่ด้วยผลของกุศลกรรม เท่านั้น)
๓. บุคคลที่อาศัยความหมั่นบ้าง และ ได้รับผลของกุศลกรรมด้วย ทำให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความสะดวกสบาย ได้แก่ ชนผู้เป็นใหญ่ทั้งหลาย มี พระราชา และ อำมาตย์ของพระราชา เป็นต้น (บางนัย แสดงว่า หมายรวมถึง ภุมมเทวดา จนถึง เทวดาในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ซึ่งจะต้องอาศัยความหมั่นในการดำรงชีวิต และ ได้รับผลของกุศลกรรมด้วย)
๔. บุคคลที่ไม่ได้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยผลของความหมั่น และ ไม่ได้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยผลของกุศลกรรม คือ พวกสัตว์นรก ที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยผลของอกุศลกรรมเท่านั้น) .
หมายเหตุ คำว่า อุฏฐานะ หมายถึง ความหมั่น.
สาวัชชสูตร (ว่าด้วยบุคคล ๔ จำพวก มีบุคคลผู้มีโทษ เป็นต้น)
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงบุคคล ๔ จำพวก ที่มีปรากฏอยู่ในโลก คือ
๑. บุคคลผู้มีโทษ (บุคคลผู้มีกาย วาจา ใจ เป็นโทษโดยส่วนเดียว ได้แก่ ปุถุชนผู้โง่เขลา)
๒. บุคคลผู้มีโทษมาก (บุคคลผู้มีกาย วาจา ใจ ส่วนที่เป็นโทษมีมาก ที่ไม่เป็นโทษ มีน้อย ได้แก่ ปุถุชน ผู้ได้กระทำบุญบ้าง แทรกสลับกับอกุศล)
๓. บุคคลผู้มีโทษน้อย (ผู้มีกาย วาจา ใจ ส่วนที่เป็นโทษมีน้อย ที่ไม่เป็นโทษมีมาก ได้แก่ พระโสดาบัน ถึง พระอนาคามี)
๔. บุคคลผู้ไม่มีโทษ (ได้แก่ พระอรหันต์ ซึ่งมีกาย วาจา ใจ ไม่เป็นโทษเลย)
หมายเหตุ คำว่า สาวัชชะ หมายถึง มีโทษ หรือ เป็นไปกับด้วยโทษ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขออนุโมทนาอาจารย์คำปั่นที่ให้ความรู้ในภาษาบาลีอยู่สม่ำเสมอครับ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอกราบอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และท่านอาจารย์วิทยากรทุกท่านค่ะ การรับฟังบรรยาย อุฏฐานสูตร และ สาวัชชสูตร ทำให้ข้าพเจ้านำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทราบถึงความสำคัญในการแสวงอริยทรัพย์ในพระธรรมว่า เป็นสิ่งที่ควรค่าที่ต้องสะสมในชาติปัจจุบัน และ เปรียบได้เช่น กระจกที่สะท้อนให้เห็นว่า (ปัญญาที่เราเข้าใจพระธรรม ช่างน้อยนิดเสียจริง)
ข้าพเจ้าขอกราบท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เมตตาสอนพระธรรมอย่างชัดแจ้ง โดยการได้รับฟังถ้อยคำบรรยายจากท่านอาจารย์นั้น ถือเป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่ง เท่าที่ข้าพเจ้าเคยศึกษาวิชาความรู้ที่เป็นเพียงบัญญัติขึ้นในทางโลก
ขอขอบคุณในกุศลจิตทุกท่านที่ก่อตั้งมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาขึ้น
ขอบพระคุณและขออนุโทนาค่ะ
กราบขอบพระคุณกุศลจิตด้วยความเคารพยิ่งค่ะ