อุปาทาน
โดย ผู้มีกิเลส  16 มิ.ย. 2557
หัวข้อหมายเลข 24992

อุปาทานักขันธ์ ๕ กับอุปาทาน ๔ ธรรมทั้ง ๒ นี้เหมือนหรือต่างกันครับ? ขอบคุณครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 16 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. บุคคลละอุปาทาน 4 และอุปาทานขันธ์ 5 ได้เมื่อมีความเห็นถูกระดับไหน สามารถละองค์ธรรมใดบ้าง

อุปาทาน คือ ความยึดมั่น มี ๔ ได้แก่ กามุปาทาน ๑ ทิฏฐุปาทาน ๑ สีลัพพตุปาทาน ๑ อัตตวาทุปาทาน ๑

กามุปาทาน โดยสภาพธรรม ได้แก่ โลภเจตสิกอย่างเดียวก็ได้ โดยไม่มีความเห็นผิด เช่น ติดข้องมากๆ ในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นกามุปาทาน หรือ ติดข้องในความยินดีในภพ เป็นต้น พระอรหันต์ เท่านั้น ที่ละ กามุปาทานได้

ส่วน ทิฏฐุปาทาน ๑ สีลัพพตุปาทาน ๑ อัตตวาทุปาทาน ๑ เป็นทิฏฐิเจตสิก คือ มีความเห็นผิดด้วยครับ พระโสดาบัน ละ อุปทาน 3 เหล่านี้ได้ ครับ

อุปาทานขันธ์ 5 คือ สภาพธรรมที่เป็นขันธ์ 5 เช่นกัน แต่เป็นที่ตั้งที่ยึดถือของโลภะ เป็นต้น จึงเป็นอุปาทานขันธ์ 5 ซึ่งก็คือสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด เว้นแต่โลกุตตรธรรมครับ ซึ่งโลภะไม่สามารถติดข้องได้ ไม่สามารถยึดถือได้ จึงไม่เป็นอุปาทานขันธ์ 5

ดังนั้น อุปาทานขันธ์ 5 จึงหมายถึง ที่ตั้งที่เป็นยึดถือ ของโลภะ ก็หมายถึง สภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด ยกเว้น โลกุตตรธรรม 9 ที่เป็นมรรคจิต 4 ผลจิต 4 และนิพพาน ส่วนสภาพธรรมที่เหลือ ที่เป็นอุปทานขันธ์ 5 คือ จิตและเจตสิกที่เหลือ และรูปทั้งหมด คือ สภาพธรรมที่เป็นขันธ์ 5 นั่นเอง ที่ยกเว้น โลกุตตรธรรม 9

เพราะฉะนั้น อุปทานขันธ์ 5 จึงกว้างกว่า อุปาทาน 4 เพราะ อุปทาน 4 คือ โลภะเจตสิกและทิฏฐิเจตสิก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ อุปาทานขันธ์ 5 คือ เป็นส่วนของสังขารขันธ์ ครับ

จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า อุปทานขันธ์ 5 เป็นสภาพธรรมที่เป็นที่ตั้งของการยึดถือ ส่วนอุปทาน 4 เป็นสภาพธรรมที่เป็นตัวยึดถือ ยึดมั่นด้วยกิเลสคือ โลภะ และทิฏฐิ ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 16 มิ.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อุปาทาน เป็นความยึดมั่นถือมั่น ส่วนอุปาทานขันธ์ คือ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งที่ยึดถือของอุปาทาน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

อุปาทาน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความยึดมั่นถือมั่น สภาพธรรมที่ยึดมั่นถือมั่นย่อมไม่พ้นไปจาก โลภะ (โลภเจตสิก) และ ทิฏฐิ (ทิฏฐิเจตสิก) ซึ่งเป็นความเห็นผิด เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว อุปาทานเป็นกิเลสที่มีกำลังยึดมั่นถือมั่น ดังนั้นอุปาทานจึงไม่มีเฉพาะตัณหาหรือโลภะเท่านั้น ยังมีความเห็นผิดที่เป็นสภาพธรรมที่ยึดมั่นถือมั่นด้วย ธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็ต้องเป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นี้คือ ปรมัตถธรรม สภาพธรรมที่จริงที่สุด

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทั้งหมดทั้งปวง เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้เข้าใจตามความเป็นจริง ได้เห็นโทษของอกุศล และ เห็นคุณของกุศลตามความเป็นจริง เมื่อเห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศล ตามความเป็นจริงแล้วก็จะไม่เข้าใกล้อกุศล แต่จะถอยกลับจากอกุศลให้เร็วที่สุด แล้วตั้งใจมั่นในการที่จะอบรมเจริญกุศลต่อไป ซึ่งเป็นเครื่องเตือนที่ดีเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะศึกษาจากพระธรรมในส่วนใด เรื่องใด ก็ตาม ถ้าเข้าใจถูกต้องแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์โดยแท้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 16 มิ.ย. 2557

อุปทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นเรา เป็นสัตว์บุคคล ค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย ผู้มีกิเลส  วันที่ 17 มิ.ย. 2557

ขออนุโมทนา ในกุศลเมตตาจิตจาก คุณpaderm คุณkhampan.a คุณwannee.s ที่ให้ความกระจ่างแห่งธรรมครับ


ความคิดเห็น 5    โดย peem  วันที่ 17 มิ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย ประสาน  วันที่ 19 มิ.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ