รูปเกิดแบบสันตติเหมือนกับจิต
โดย jadesri  4 ต.ค. 2555
หัวข้อหมายเลข 21834

ผมมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องรูปที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไป

เดิมทีผมเข้าใจว่ารูปกลาปดับแล้วดับไปเลยไม่เกี่ยวข้องกับรูปกลาปที่เกิดใหม่ แต่ได้ฟังการสนทนาธรรมของท่านอาจารย์สุจินต์ ว่ารูปก็เกิดดับเป็นสันตติเหมือนกับจิต

ผมจึงใคร่ขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมครับ เกิดต่อเนื่องกันไปแล้วจะสิ้นสุดเมื่อใด เช่นกัมมชรูป มีลักษณะเกิดดับอย่างไรและต่อเนื่องอย่างใด เป็นต้น



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 4 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

รูปเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง จึงเกิดขึ้นและดับไป ซึ่งรูปธรรมนั้นไม่ว่ารูปใด ก็เกิดขึ้นและดับไปเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม จะปรากฏ หรือ ไม่ปรากฏก็ตามครับ

รูปธรรม เกิดขึ้นตามสมุฏฐานของตนๆ แล้วก็ดับไปไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน รูปมีมากมายมีทั้งรูปที่เป็นภายในและภายนอก เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ทยอยกันเกิดทยอยกันดับ รูปแต่ละกลุ่มจะไม่ปะปนกัน กล่าวคือ รูปที่เกิดจากกรรม ไม่ใช่รูปกลุ่มเดียวกันกับรูปที่เกิดจากจิต เป็นต้น และที่สำคัญ รูปจะไม่ปะปนกันกับนามธรรมอย่างเด็ดขาด

อายุของรูปเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ มีอายุที่ยาวนานกว่าจิต (และเจตสิก) เพราะสำหรับจิตมีขณะย่อย ๓ อนุขณะ คือ ขณะที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป รูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แต่การเกิดดับของรูปท่านยังจำแนกตามสมุฏฐานอีกด้วย คือ รูปที่เกิดจากกรรม จะเกิดในทุกๆ อนุขณะของจิต (จิตมี่ ๓ อนุขณะ คือ อุปาทขณะ ขณะที่เกิดขึ้น ฐีติขณะ คือ ขณะที่ตั้งอยู่ ภังคขณะ คือ ขณะที่ดับไป)

รูปที่เกิดจากจิต จะเกิดในอุปาทขณะของจิต

รูปที่เกิดจากอุตุ จะเกิดในฐีติขณะของจิต

รูปที่เกิดจากอาหาร จะเกิดในฐีติขณะของจิต

และควรเข้าใจคำว่า สันตติก่อนครับว่า คืออะไร

สันตติ คือ การสืบต่อของนามธรรมและรูปธรรม หมายถึง การเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วของนามธรรมรูปธรรม และมีนามใหม่รูปใหม่เกิดขึ้นสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย จึงทำให้ไม่สามารถเห็นความไม่เที่ยงของสภาพธรรมได้ สันตติจึงเป็นสิ่งที่ปิดบังความเป็นอนิจจัง อนิจจลักษณะจะปรากกฏได้ก็ต่อเมื่อมีการอบรมปัญญา

เพิกสันตติด้วยการระลึกศึกษาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม รู้ชัดโดยความเป็นปัจจัย จนเห็นความเกิดดับ เป็นการประจักษ์แจ้งความไม่เที่ยงของนามธรรมและรูปธรรมตามลำดับ

ส่วนลักษณะการเกิดดับของรูป ตามที่ผู้ถามได้ถามนั้น เป็นดังนี้ ครับ

กลุ่มของรูปแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละกลาปนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ยังไม่ดับไปทันที สภาวรูป มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เมื่อรูปเกิดขึ้นขณะแรกนั้นเป็น อุปจยรูป ๑ ขณะที่รูปเจริญขึ้นเป็น สันตติรูป ๑ ขณะที่รูปเสื่อมลงเป็น ชรตารูป ๑ ขณะที่รูปดับเป็น อนิจจตารูป ๑ รวมเป็น ลักขณรูป ๔ ซึ่งก็เกิดดับสืบต่อกัน ตามกลาปของตนที่เกิดจากสมุฏฐานเดียวกัน ครับ

โดย สภาวรูป มีกัมมชรูป เป็นต้น แต่ละกลาปมีอายุเท่ากับ ๕๑ อนุขณะของจิต เทียบอนุขณะที่ ๑ เป็นอุปจยรูป อนุขณะที่ ๕๑ เป็นอนิจจตารูป ส่วนอนุขณะที่ ๒-๕๐ เป็นสันตติรูป และชรตารูป

ดังนั้น รูปกลาป ต้องมีลักขณรูปทั้ง ๔ คือ เมื่อมีอุปจยะ คือ การเกิดของรูป แล้วก็ต้องมีสันตติ คือ ความสืบต่อจากการเกิดนั้นเพราะรูปนั้นยังไม่ดับ และเมื่อพิจารณาถึงลักษณะของสภาพธรรม รูปเป็นสังขตธรรมต้องมีการเกิดดับ ดังนั้นในระหว่างขณะที่เกิดกับขณะที่ดับก็ต้องมีความสืบต่อที่จะต้องเป็นไปและเสื่อมลงจนกว่าจะถึงขณะที่รูปนั้นดับไป โดยอุปจยะ และสันตติเป็นฝ่ายเกิด ชรตา และอนิจจตาเป็นฝ่ายดับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

การเกิดดับของรูป

รูปที่เกิดตามสมุฏฐาน - การเกิดดับของจิต

เชิญคลิกฟังที่นี่ ครับ

ลักขณรูป ๔ เกิดมาเรียงกันทั้ง ๔ อย่างหรือไม่

การเกิดดับของรูป

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย jadesri  วันที่ 4 ต.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 4 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน รูปธรรม มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องวัดอายุของรูปได้ นอกจากการเกิดขึ้นและดับไปของจิต จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งจึงดับ แม้อย่างนั้นก็สั้นแสนสั้น ไม่ว่าจะเป็น สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นต้น เมื่อเกิดขึ้น ก็มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะทั้งนั้น

ความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 4 ต.ค. 2555

รูป ที่ปรากฏว่าเป็นภูเขา ต้นไม้ เกิดดับ แต่ไม่รู้ แต่นามเกิดดับเร็วกว่ารูปอีก ค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย Thanapolb  วันที่ 6 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านเช่นกันครับ