การปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
โดย JANYAPINPARD  16 พ.ค. 2552
หัวข้อหมายเลข 12385

[เล่มที่ 46] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้าที่ 105
ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแลพระอานนท์ผู้มีอายุไปในที่ลับหลีกเร้นอยู่ได้เกิดปริวิตกในใจอย่างนี้ว่า ความปรารถนาและอภินิหารย่อมปรากฏแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย หาปรากฏแก่พระสาวกทั้งหลาย แก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายอย่างนั้นไม่ ไฉนหนอ เราพึงเข้าไปเฝ้าทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านพระอานนท์ออกจากที่หลีกเร้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามเรื่องนี้ตามลำดับ. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสปุพพโยคาวจรสูตรแก่ท่านพระอานนท์ว่า

ดูก่อนอานนท์อานิสงส์ ๕ เหล่านี้ คือ บุคคลย่อมบรรลุอรหัตตผลในทิฏฐธรรมในเพราะปุพพโยคาวจรก่อนทีเดียว ถ้าไม่บรรลุอรหัตตผลในทิฏฐธรรมก่อนทีเดียว ต่อมาก็บรรลุอรหัตตผลในเวลาตาย ฯลฯ ต่อมาเป็นเทวบุตรก็บรรลุอรหัตตผล ต่อมาก็เป็นขิปปาภิญญบุคคล ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ต่อมาก็ย่อมเป็นพระปัจเจกสัมพุทธะในกาลภายหลัง ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว จึงตรัสอีกว่า

ดูก่อนอานนท์ ธรรมดาพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอภินิหาร มีปุพพโยคาวจรธรรม เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าพระปัจเจกพุทธะ และสาวกทั้งหลาย พึงประสงค์ความปรารถนาและอภินิหาร

ท่านพระอานนท์นั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าทั้งหลายควรนานเท่าไร. พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ควรนานโดยการกำหนดอย่างต่ำที่สุดถึงสี่อสงไขยและแสนกัป โดยกำหนดปานกลาง แปดอสงไขยและแสนกัป โดยการกำหนดอย่างสูง สิบหกอสงไขยและแสนกัป ประเภททั้ง ๓ นั้น พึงรู้ด้วยอำนาจแห่งพระพุทธเจ้า ผู้ปัญญาธิกะ ผู้สัทธาธิกะ และผู้วิริยาธิกะ

จริงอยู่พระพุทธเจ้าผู้ปัญญาธิกะ มีศรัทธาน้อยแต่มีปัญญามาก ผู้สัทธาธิกะมีปัญญาปานกลางแต่มีศรัทธามาก ผู้วิริยาธิกะมีศรัทธาและปัญญาน้อย แต่มีความเพียรมาก. ฯลฯ

ถามว่า ก็การปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ควรนานเท่าไร

ตอบว่า การปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายควรนานถึงสองอสงไขยและแสนกัป ต่ำกว่านั้นไม่ควร พึงทราบเหตุในการปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านี้โดยนัยที่กล่าวแล้วในบทก่อนนั่นแล. ก็เมื่อบุคคลปรารถนาความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า โดยกาลแม้มีประมาณเท่านี้ พึงปรารถนาสมบัติ ๕ ประการในการสร้างอภินิหาร จริงอยู่ พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น มีเหตุแห่งอภินิหารเหล่านี้ คือ

ความเป็นมนุษย์ ๑

ความถึงพร้อมด้วยเพศ ๑

การเห็นท่านผู้ปราศจากอาสวะ ๑

อธิการ ๑

ความพอใจ ๑

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า การเห็นท่านผู้ปราศจากอาสวะ ได้แก่ การเห็นพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระสาวก องค์ใดองค์หนึ่ง.

บทที่เหลือ มีนัยดังกล่าวแล้วนั้นแล. ฯลฯ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 6 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น