[เล่มที่ 20] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 263
๒. ภิกขุวรรค
๕. จูฬราหุโลวาทสูตร
ทรงโอวาทพระราหุล
[๑๒๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ท่านพระราหุลอยู่ ณ ปราสาทชื่อว่า อัมพลัฏฐิกา ครั้งนั้น เวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้นอยู่แล้ว เสด็จเข้าไปยังอัมพลัฏฐิกา ปราสาทที่ท่านพระราหุลอยู่ ท่านพระราหุลได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล จึงปูลาดอาสนะ และตั้งน้ำสำหรับล้างพระบาทไว้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ แล้วทรงล้างพระบาท ท่านพระราหุลถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
[๑๒๖] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเหลือน้ำไว้ในภาชนะน้ำหน่อยหนึ่ง แล้วตรัสกะท่านพระราหุลว่า ดูก่อนราหุล เธอเห็นน้ำเหลือหน่อยหนึ่งอยู่ในภาชนะน้ำนี้หรือ. ท่านพระราหุลกราบทูลว่า เห็นพระเจ้าข้า
ดูก่อนราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ก็มีน้อยเหมือนกันฉะนั้น. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเทน้ำที่เหลือหน่อยหนึ่งนั้นเสีย แล้ว ตรัสกะท่านพระราหุลว่า ดูก่อนราหุล เธอเห็นน้ำหน่อยหนึ่งที่เราเทเสียแล้วหรือ
[เล่มที่ 20] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 264
รา. เห็น พระเจ้าข้า.
พ. ดูก่อนราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ ก็เป็นของที่เขาทิ้งเสียแล้ว เหมือนกันฉะนั้น.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคว่ำภาชนะน้ำนั้น แล้วตรัสกะท่านพระราหุลว่า ดูก่อนราหุล เธอเห็นภาชนะน้ำที่คว่ำนี้หรือ
รา. เห็น พระเจ้าข้า
พ. ดูก่อนราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ ก็เป็นของที่เขาคว่ำเสียแล้วเหมือนกันฉะนั้น
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหงายภาชนะน้ำนั้นขึ้น แล้วตรัสกะท่านพระราหุลว่า ดูก่อนราหุล เธอเห็นภาชนะน้ำอันว่างเปล่านี้หรือ
รา. เห็น พระเจ้าข้า
พ. ดูก่อนราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ ก็เป็นของว่างเปล่าเหมือนกันฉะนั้น
[๑๒๗] พ. ดูก่อนราหุล เปรียบเหมือนช้างต้นมีงางอนงาม เป็นพาหนะที่เจริญยิ่งนัก มีกำเนิดดี เคยเข้าสงคราม ช้างนั้นเข้าสงครามแล้วย่อมทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้าง ด้วยเท้าหลังทั้งสองบ้าง ด้วยกายเบื้องหน้าบ้าง ด้วยกายเบื้องหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหูทั้งสองบ้าง ด้วยงาทั้งสองบ้าง ด้วยหางบ้าง ย่อมรักษาไว้แต่งวงเท่านั้น เพราะการที่ช้างรักษาแต่งวงนั้น ควาญช้างจึงมีความดำริอย่างนี้ว่า ช้างต้นนี้แลมีงาอันงอนงามเป็นพาหนะที่เจริญยิ่งนัก มีกำเนิดดีเคยเข้าสงคราม เข้าสงครามแล้ว ย่อมทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้าง ด้วยเท้าหลังทั้งสองบ้าง ด้วยกายเบื้องหน้าบ้าง ด้วยการเบื้องหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหูทั้งสองบ้าง ด้วยงาทั้งสองบ้าง
[เล่มที่ 20] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 265
ด้วยหางบ้าง ย่อมรักษาไว้แต่งวงเท่านั้น ชีวิตชื่อว่าอันช้างต้นยังไม่ยอมสละแล
ดูก่อนราหุล เมื่อใดแลช้างต้นมีงาอันงอนงามเป็นพาหนะที่เจริญยิ่งนัก มีกำเนิดดี เคยเข้าสงครามแล้ว ย่อมทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้าง ด้วยเท้าหลังทั้งสองบ้าง ด้วยกายเบื้องหน้าบ้าง ด้วยกายเบื้องหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้างด้วยหูทั้งสองบ้าง ด้วยงาทั้งสองบ้าง ด้วยหางบ้าง ด้วยงวงบ้าง เพราะการที่ช้างทำกรรมด้วยงวงนั้น ควาญช้างจึงมีความดำริอย่างนี้ว่า ก็ช้างต้นนี้แลมีงาอันงอนงาม เป็นพาหนะที่เจริญยิ่งนัก มีกำเนิดดีเคยเข้าสงคราม เข้าสงครามแล้ว ย่อมทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้าง ด้วยเท้าหลังทั้งสองบ้าง ด้วยกายเบื้องหน้าบ้าง ด้วยกายเบื้องหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหูทั้งสองบ้าง ด้วยงาทั้งสองบ้าง ด้วยหางบ้าง ด้วยงวงบ้าง ชีวิตชื่อว่าอันช้างต้นยอมสละแล้วบัดนี้ไม่มีอะไรที่ช้างต้นจะพึงทำไม่ได้ ฉันใด ดูก่อนราหุล เรากล่าวว่าบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งที่รู้อยู่ ที่จะไม่ทำบาปกรรมแม้น้อยหนึ่งไม่มี ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้นแหละราหุล เธอพึงศึกษาว่า เราจักไม่กล่าวมุสา แม้เพราะหัวเราะกันเล่น ดูก่อนราหุล เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล.
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ
ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขอเชิญอ่านเพิ่มเติม...
๑. จูฬราหุโลวาทสูตร ทรงโอวาทพระราหุล
๕. จูฬราหุโลวาทสูตร
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ