อริยทรัพย์ภายใน
โดย wai  26 มิ.ย. 2550
หัวข้อหมายเลข 4112

อริยทรัพย์ภายในประกอบด้วยหัวข้อธรรมอะไรบ้าง และมีความแตกต่างจากอริยทรัพย์ภายนอกอย่างไร



ความคิดเห็น 1    โดย study  วันที่ 27 มิ.ย. 2550

อริยทรัพย์ คือทรัพย์ของพระอริยะ หรือทรัพย์อันประเสริฐ เป็นทรัพย์ที่เป็นที่พึ่งได้ในโลกหน้า เป็นทรัพย์ที่ทำให้พ้นจากทุกข์ เป็นทรัพย์ที่ไม่สาธารณะแก่คนทั่วไป โจรลักไปไม่ได้ ไฟก็ไหม้ไม่ได้ น้ำพัดไปไม่ได้ เป็นทรัพย์ภายใน อริยทรัพย์ภายนอกไม่มี อริยทรัพย์ในบางแห่งแสดงไว้ ๕ ในบางแห่งแสดงไว้ ๗ คือ ๑.ศรัทธา ๒. ศีล ๓. หิริ ๔. โอตตัปปะ ๕. สุตะ ๖. จาคะ ๗. ปัญญา

อริยทรัพย์เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการฟังธรรมะของพระอริยะ บุคคลผู้ฟังธรรมะของพระอริยะจึงเกิดศรัทธา เป็นต้นได้

เชิญคลิกอ่านได้ที่ ...

อริยทรัพย์ ๗


ความคิดเห็น 2    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 27 มิ.ย. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

อริยทรัพย์ คือ ทรัพย์อันประเสริฐ แก้วแหวน เงินทอง เป็นอริยทรัพย์ไหม ประเสริฐหรือเปล่า ทำให้พ้นทุกข์ได้ไหม หรือทำให้ทุกข์มากขึ้น เมื่อว่าโดยอภิธรรมแล้ว แก้วแหวน เงินทอง สิ่งต่างที่เป็นทรัพย์ภายนอกตัวก็ คือ รูปธรรม สภาพธัมมะที่ไม่รู้อะไร รูปธรรม ไม่สามารถทำให้ถึงฐานะอันประเสริฐ คือ การดับกิเลส การละคลายกิเลส และนิพพานได้ จึงไม่ชื่อว่าประเสริฐ (อริย) เพราะสิ่งที่ประเสริฐ คือ เป็นสิ่งที่ทำให้รู้ ความจริง (ปัญญา) ทำให้ดับกิเลสได้ ประเสริฐเพราะไม่ต้องทุกข์ ทุกข์เพราะมีกิเลส มีกิเลสจึงต้องเกิด ดังนั้น สิ่งที่ประเสริฐตามที่กล่าวมา คือ สิ่งๆ หนึ่งที่ทำให้ขัดเกลา และดับกิเลสได้ นั่นก็คือ เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า นามธรรม นามธรรมเท่านั้น ที่ดับกิเลสได้ และเป็นที่พึ่งที่แท้จริงของเรา นามธรรมมีมาก โลภะก็เป็นนามธรรม โทสะก็เป็นจิต ก็เป็น แต่ถามว่า โลภะ (นามธรรมชนิดหนึ่ง) ดับกิเลสได้ไหม ไม่ได้ แน่นอน ดังนั้น นามธรรมที่ประเสริฐก็ คือ ศรัทธา ... ปัญญา เป็นธรรมที่เป็นที่พึ่ง คือ ให้ผลที่ดี (วิบาก) และทำให้ดับกิเลสได้ครับ จึงประเสริฐ ดังนั้น ควรพิจารณาด้วย ปัญญาว่า สิ่งใดกันแน่ประเสริฐ ทรัพย์สิน เงินทอง (นำมาซึ่งทุกข์) หรืออริยทรัพย์ และอยากจะสะสมอะไรมากกว่ากันตามความเป็นจริง ด้วยความเป็นผู้ตรง

ขออนุโมทนา ขออุทิศกุุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 27 มิ.ย. 2550

ผู้ใดมีอริยทรัพย์ ๗ ประการไม่ว่าเป็นหญิงหรือชายผู้นั้นชื่อว่าไม่จน ส่วนทรัพย์ภายนอกเป็นทรัพย์ที่สาธารณะกับคนทั่วไป ตายไปทรัพย์สมบัติก็ตกเป็นของคนอื่น โจรปล้นก็ได้ ไฟไหม้ก็ได้ ฯลฯ อริยทรัพย์ ๗ นำมาซึ่งความสุข ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติหน้า ไม่สูญหายไปไหน แต่ทรัพย์ภายนอกเป็นทรัพย์ที่ไม่เที่ยง ถ้าเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งทุกข์ โทมนัส ฯลฯ


ความคิดเห็น 4    โดย แวะเข้ามา  วันที่ 27 มิ.ย. 2550

อริย แปลว่า ประเสริฐ เลิศ สูงสุด อริยทรัพย์จึงหมายถึง ทรัพย์ ๗ ประการเท่านั้น ซึ่งเป็นทรัพย์ภายในที่ทำให้ถึงความเป็นพระอริยะ ทรัพย์อื่นใดทั้งหมดไม่ใช่อริยทรัพย์ จึงไม่มีอริยทรัพย์ภายนอก


ความคิดเห็น 5    โดย พุทธรักษา  วันที่ 28 มิ.ย. 2550

ผู้ครองเรือน สะสมทรัพย์ เพื่อเลี้ยงชีพ สะสมปัญญา เพื่อนิพพาน


ความคิดเห็น 6    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 29 ส.ค. 2550

สะสมเยอะๆ นะ ทรัพย์ภายนอกนะ สุดท้ายก็เป็นสมบัติของคนอื่น กามก็เหมือนของยืมเขามา


ความคิดเห็น 7    โดย แม่หมู  วันที่ 30 ส.ค. 2550

จากความคิดเห็นที่ 1 - 6 ทรัพย์ภายนอกแม้มากมายมหาศาลเพียงใดก็มีอันสูญสลาย หายไปได้ ขึ้นอยู่กับกรรมของเราที่ทำไว้แล้วว่าจะอยู่กับเรานานแค่ไหน ซึ่งระหว่างทรัพย์สิน กับเราใครจะอยู่หรือไปก่อนกันก็ไม่รู้แต่ที่แน่ๆ ต้องจากกันแน่ในวันหนึ่ง ส่วนอริยทรัพย์ คือ ทรัพย์อันประเสริฐ มีคุณค่าเหลือเกินสุดจะเปรียบได้กับทรัพย์ใด

เคยฟังท่านอาจารย์สุจินต์ฯ บรรยาย โดยนำเรื่องมาจากอรรถกถาขุททกนิกาย เปตวัตถุ และได้อ่านจากหนังสือของมูลนิธิฯชื่อว่า "มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา" โดยคุณสาวิกา ศาสตรพงศ์ ดิฉันขอเอนุญาตเล่าย่อๆ ว่า "เป็นเรื่องของบุตรชายเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ผู้ซึ่งไม่เคยทำบุญ ทำแต่บาป โดยที่สุดทรัพย์ที่เป็นมรดกมหาศาลก็มีอันหมดไป จนต้องเที่ยวขอยืมเขา ซึ่งภายหลังต้องเป็นขอทาน และเพราะไม่มีความรู้ เพราะไม่เคยศึกษาเล่าเรียน ในที่สุดก็ ถูกชักชวนให้เป็นโจรเที่ยวปล้นเขาจนถูกจับได้ และถูกลงโทษด้วยการตัดศรีษะ แต่ชายผู้นี้ โชคดีที่ไม่ต้องเกิดในนรก เพียงเพราะเขามีจิตเลื่อมใสในพระมหาโมคคัลลานะผู้เป็นบุญเขต อย่างยอดเยี่ยมโดย เขาได้ถวายน้ำดื่มและขนมต้มให้พระเถระ โดยมีอาจารย์บางพวกกล่าวว่า ถ้าในปฐมวัยเขาได้บวช เขาจะได้เป็นพระอรหันต์ ถ้าบวชในปัจฉิมวัยเขาจะได้เป็น พระสกทาคามีหรือพระอนาคามี ถ้าบวชในปัจฉิมวัย เขาจะได้เป็นพระโสดาบัน"

ดิฉันได้ฟังเรื่องนี้ ก็ได้คิดว่าชายผู้นี้เป็นถึงบุตรเศรษฐีมีทรัพย์มากมายตั้งแต่เกิด แต่ต้องจบชีวิตลงเช่นนี้ เป็นตัวอย่างของความประมาทที่ไม่ศึกษาธรรมจริงๆ และคงพอให้เห็นความแตกต่างระหว่าง ทรัพย์ทางโลกที่เทียบไม่ได้เลยแม้เพียงน้อยนิด กับอริยทรัพย์ข้อใดข้อหนึ่ง (ไม่ทราบว่าผิด ไหม ที่อ้างถึงเรื่องนี้เพียงย่อๆ เพราะเคยฟัง และอ่านมาแล้วรู้สึกว่าให้ประโยชน์มาก) ไม่ต้องอื่นไกลเลยบ้านของดิฉันเองเคยถูกไฟไหม้หมดเลยพร้อมกับเพื่อนบ้านอีก หลายครอบครัว วันนั้นเราไม่เหลืออะไรเลย เอาอะไรออกมาก็ไม่ได้ แต่เพราะบุญที่ยังเหลือ ชีวิตของคนในครอบครัวให้รอดออกมาได้ วันนี้ได้มีโอกาสฟังพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จากท่านอาจารย์สุจินต์ฯ และคณะ แม้จะเป็นเพียงเริ่มต้นแต่ดิฉันก็ได้รับอานิสงส์ของการฟังธรรม และประจักษ์จริงตามที่คุณ Wannee.s (ความคิดเห็นที่ 3) และทุกท่าน แสดงความคิดเห็นมาจริงๆ

ขออนุโมทนาคะ


ความคิดเห็น 9    โดย พุทธรักษา  วันที่ 30 ส.ค. 2550

"ธรรม ... ไม่ใช่เรา"

"ศึกษาธรรมะต้องเป็นผู้ตรง" มีใครบ้างอยากเป็นคนจน ลำบากด้วยเรื่องปัจจัย ๔ ไม่มีโอกาสแม้แต่จะให้ทาน. การหาทรัพย์ ใช้ทรัพย์ รักษาทรัพย์สมบัติ เพื่อประโยชน์ตน และผู้อื่น พระพุทธเจ้าตรัส ไว้โดยละเอียดในพระไตรปิฏก. คนรวยดูหมิ่นคนจนเป็นอกุศล (ธรรม) คนจนอิจฉาคนรวยเป็นอกุศล (ธรรม) บางคนเกิดมาก็รวยเลยไม่ต้องทำงาน บางคนทำงานทั้งชาติก็ไม่รวย เพราะอะไร เพราะเหตุปัจจัย แต่สาระสำคัญที่สุดคือ ไม่ว่าจะรวย จน แต่ไม่ศึกษาพระธรรมก็ไม่มีประโยชน์ที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ที่มีโอกาสสะสม "อริยทรัพย์" คือ ปัญญา


ความคิดเห็น 10    โดย พุทธรักษา  วันที่ 30 ส.ค. 2550

จากข้อ ๗ หากคุณได้ฟังคาถาเรื่องบุตรเศรษฐีในช่วงต้นๆ ท่านกล่าวว่า เพราะความประมาทว่า เงินมีมาก ไม่ต้องเรียนหนังสือก็มีใช้ไปตลอดชาติ เลยผลาญสมบัติจนหมดต้อง "เลี้ยงชีพ ด้วยการขอทาน" ไม่ได้เป็นเศรษฐี และบรรลุธรรม ทั้งที่มีโอกาสพระพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องความประมาท ซึ่งเกื้อกูลทั้งประโยชน์ของการมีทรัพย์ ทั้งทาง โลกและทางธรรม


ความคิดเห็น 11    โดย pornpaon  วันที่ 21 พ.ย. 2551
ขออนุโมทนาค่ะ

ความคิดเห็น 12    โดย คุณ  วันที่ 6 ธ.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 13    โดย Patchanon  วันที่ 4 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 14    โดย Sugarsame  วันที่ 3 มี.ค. 2559

ขอแสดงความยินดีกับผู้สนใจธรรม

SMI Academy

Coach Sugarsame


ความคิดเห็น 15    โดย chatchai.k  วันที่ 27 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 16    โดย yu_da2554hotmail  วันที่ 28 ธ.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ