ได้คุยกับสหายธรรมเมื่อวาน สนทนาเรื่ององค์ธรรมของสภาพธัมมะ เพราะไม่เข้าใจแล้วก็ยังสงสัยอยู่ แต่พอได้ฟังคำบรรยายทางวิทยุ สทร.2 am 675 ตอน 21.00 น. วันที่ 7 ธ.ค 49 ทำให้เข้าใจว่าสิ่งใดที่เป็นจุดประสงค์ที่ถูกในการศึกษาพระธรรม จึงถอดเทปมาเป็นตัวอักษรบางส่วน ให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันครับ น่าจะมีประโยชน์ ทั้งผู้ที่เริ่มศึกษาและศึกษามานานแล้ว จะได้ไม่เขวผิดทางไปครับ ยาวหน่อยแต่มีประโยชน์ครับ
ผู้ฟัง ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้น จะปราศจากความอดทนได้ไหมครับ
ท่านอาจารย์ มีอโทสเจตสิกเกิดร่วมกับเจตสิกอื่นๆ แต่ขณะนี้ไม่มีอโทสเจตสิก แต่มีวิริยเจตสิก เป็นสิ่งที่เหมือนกับว่า เราจะพยายามพิจารณาให้เข้าใจตัวหนังสือนะค่ะ และก็สามารถที่จะจัดแบ่งออกไปได้ว่าเป็นประเภทไหน อย่างไร แต่เราละเลยการที่จะรู้ว่า ปัญญาของเราขณะนี้ สามารถที่จะรู้อะไรตัวจริงๆ ของธัมมะ เราสามารถที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกัน ที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมเท่านั้นแล้วหรือยัง ก่อนที่จะไปรู้อย่างอื่นค่ะ เช่น รู้เรื่อง ผัสสะ วิริยะ มนสิการ แต่ต้องอาศัยสติปัฏฐานนะคะ เพราะฉะนั้น การศึกษาของเราเป็นเรื่องชื่อทั้งหมด แต่ว่าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ ก็เป็นเพียงการจำชื่อ แต่ว่าการเรียนของเราทั้งหมด เพื่อให้รู้จักตัวเองว่าปัญญาระดับไหน ถ้าขณะนี้ไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม การฟัง ฟังให้เข้าใจ แต่ไม่ใช่เป็นการที่เราสามารถจะไปจำแนกข้อความในพระสูตรทั้งหมด โดยชี้ออกมาว่าเป็นเจตสิกอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร
แต่ว่าเราสามารถที่จะฟังให้เห็นประโยชน์ ว่าสิ่งใดก็ตามที่ทรงแสดงว่า การศึกษาคือ สิกขาประพฤติน้อมปฏิบัติตาม หรือแม้แต่ ศรัทธา วิริยะ ความอดทน นั้นต้องมีในขณะนี้ ถ้าขณะนี้ไม่มี ก็อยู่ในตำราทั้งหมด ไม่ว่าจะสรรเสริญว่า ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ก็อยู่ในตำรา ไม่เห็นอยู่ในใจของเราที่จะรู้ว่า เราได้ฟัง ได้ศึกษา คือ ประพฤติปฏิบัติตามมากน้อยแค่ไหน แต่ผู้ที่เห็นคุณค่าของพระธรรมจริงๆ นะค่ะ เห็นประโยชน์จริงๆ เขาจะไม่ไปติดในคำ แต่จะรู้ตามความเป็นจริงว่า ชีวิตประจำวันของเขาที่ได้ฟังพระธรรมมา เขามีความนอบน้อมที่จะบูชาด้วยการปฏิบัติอย่างไร บูชาสูงสุดในการปฏิบัติ ก็คือประพฤติตามคำสอนที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่นอกจากนั้น ทรงแสดงพระธรรมอีกด้วยไม่ใช่เฉพาะเรื่อง สติปัฏฐาน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องปรมัตถธรรม เพราะรู้ว่ายิ่งได้ยินได้ฟังมาก ยิ่งเห็นโทษของอกุศลมาก จิตใจของคนที่พิจารณาถึงจิตของตนเอง ก็เริ่มปฏิบัติบูชาแม้ในขั้นของศีล ในขั้นของความสงบของจิต และการอบรมเจริญปัญญาด้วย ดังนั้นจริงๆ แล้ว ชีวิตของเราจะศึกษาธัมมะโดยเปล่าประโยชน์ โดยไร้ประโยชน์ ไม่ได้อะไรเลยนอกจากชื่อ หรือว่าเป็นผู้ได้ยิน ได้ฟังแล้วก็เป็นผู้ที่บูชาพระองค์ ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามเท่าที่จะทำได้ ไม่ใช่ตัวตนปฏิบัติตาม แต่เป็นธัมมะที่ทำหน้าที่ปฏิบัติตาม
อนุโมทนาค่ะ
ควรศึกษาพระธรรมด้วยความจริงใจ เพื่อความเข้าใจนะคะ ศึกษาพระธรรมเพื่อเป็นผู้ที่รู้มาก หรือเพื่อเป็นผู้ที่หมดจากกิเลส การรู้มาก จดจำมาก เป็นสัญญา หรือปัญญา ในพระสูตรมีกล่าวไว้ว่า "การศึกษาพระธรรมผิด เปรียบเสมือนการจับงูพิษที่ข้างหาง"
ท่านอาจารย์สุจินต์จะย้ำกับพวกเราเสมอๆ ว่า ให้ฟังให้เข้าใจสภาพธรรมะที่มีจริงและกำลังปรากฏ เช่น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียง ฯลฯ ซึ่งอวิชชาไม่สามารถรู้ได้ว่า เป็นธรรมะ นอกจากจะค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาทีละเล็กทีละน้อย เหมือนการจับด้ามมีดจนกว่ามีดจะค่อยๆ สึก
ตราบใดที่ยังมีความไม่รู้ ในสภาพธรรมตามที่เป็นจริง ไม่รู้ว่าแท้จริง "ตน" นั้นไม่มี และไม่เคยศึกษาพระธรรมเพื่อละคลายความเห็นผิดว่ามีตัวตน การรู้สภาพธรรมตามที่เป็นจริงเท่านั้นที่จะละโลภะ โทสะ และโมหะได้
แน่นอนค่ะ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ตรัสรู้เองโดยชอบ ก็ต้องเริ่มจากการฟังเรื่องราวของธรรมจนกว่าจะรู้จักตัวจริงของธรรม "รู้ชื่อเพื่อให้รู้ตัวจริงของธรรม"
แรกๆ ก็อาจต้องอาศัยชื่อไปก่อน ฟัง และ อ่านไปเรื่อยๆ พิจารณาไปเรื่อยๆ ก็จะมีวันที่เรารู้สึกว่าไม่สนใจชื่อ และเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ เมื่อมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น จิตจะพิจารณาได้เอง เมื่อนั้นก็สามารถ ระงับยับยั้งอกุศลได้ แม้ว่าจะไม่สามารถทำได้ทุกครั้ง แม้จะมีสักครั้งก็ภูมิใจ
ขออนุโมทนา
รายการที่ออกอากาศตอน 6.00 น. am 675 และ 18.00 น. am 945 เป็นรายการที่ฟังประจำในรถค่ะ ขอขอบพระคุณมูลนิธิ เป็นอย่างมาก ที่ช่วยสร้างปัญญา
การรู้ปริยัติเพื่อไปถึงปฏิบัติ ไม่ใช่รู้ชื่อเฉยๆ ว่ามีจิต เท่าไหร่ พระสูตรเรื่องอะไรบ้าง แต่ปริยัติ (มีปัญญาเกิดร่วมด้วย) คือ เข้าใจว่าสภาพธัมมะมีอยู่ในขณะนี้ ไม่ได้มีอยู่ในตำรา เมื่อเข้าใจถูกต้องอย่างนี้ แล้วจึงจะนำไปสู่ปฏิบัติ (คือ สติระลึกรู้สภาพธัมมะที่มีในขณะนี้) แต่ถ้าเข้าใจปริยัติว่า คือ เข้าใจแต่เรื่องราว หรือชื่อต่างๆ เพลินไปกับชื่อโดยลืมว่า ลักษณะสภาพธัมมะที่อยู่ในตำรา ก็มีอยู่ในขณะนี้เอง ก็จะไม่สามารถที่สติจะระลึกสภาพธัมมะที่มีในขณะนี้ได้เลยครับ ดังนั้น ความเข้าใจที่มั่นคงว่า สภาพธัมมะมีอยู่ในขณะนี้ (สัจญาณ) จึงเป็นทางที่จะไปสู่การปฏิบัติ (กิจญาณ) และการศึกษาธัมมะที่ถูกต้องครับ
ข้อความจาก screen saver ของเครื่องคอมพิวเตอร์ ม.ศ.พ เครื่องหนึ่ง น่าจะเป็นประโยชน์ ลองอ่านดูนะ ..
บางครั้งเราก็เพลินไปกับเรื่องชื่อธรรม อยากรู้เยอะๆ แต่ลืมจุดประสงค์ที่แท้จริงคือ เพื่อขัดเกลากิเลส อบรมบารมีในชีวิตประจำวัน และอบรมเจริญสติปัฏฐาน
เพื่อนๆ ลองพิจารณาดูนะครับ
เคยได้ฟังผู้เปรียบเทียบว่าศึกษาปริยัติ เหมือนศึกษาแผนที่ก่อนจะเดินทาง และการได้เดินทางจริงๆ คือ การปฏิบัติธรรม ซึ่งถ้าฟังดูเผินๆ เหมือนว่าจะเป็นจริงตามนั้น แต่ .... ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะถ้าเป็นไปตามคำเปรียบเทียบนั้น แสดงว่าแยก ปริยัติ ออกจากปฏิบัติโดยสิ้นเชิง การศึกษาปริยัตินั้น เมื่อมีความเข้าใจ ก็เป็นปัญญาที่เข้าใจขณะนั้นปัญญา ก็ทำหน้าที่เข้าใจ เป็นความเข้าใจขั้นการฟัง (สัจจญาณ) ปัญญาเจตสิก ปฏิบัติกิจของปัญญาแล้ว (ไม่ใช่เราปฏิบัติ) และสติปัฏฐานก็เกิดได้ในขณะที่ฟังด้วย เป็นปัญญาขั้น กิจญาณ นั่นเอง ไม่แยกจากกัน ปริยัติ กับ ปฏิบัติ จึงไม่แยกจากกัน ครับ
ขอนอบน้อมพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบท่านอจ. ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ ขอบพระคุณ...
ขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร
ขอเชิญศึกษาพระธรรม...
รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์
พระไตรปิฎก
ฟังธรรม
วีดีโอ
ซีดี
หนังสือ
กระดานสนทนา