๗. ปวารณาสูตร ว่าด้วยการทําปวารณา
โดย บ้านธัมมะ  30 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 36414

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 325

๗. ปวารณาสูตร

ว่าด้วยการทําปวารณา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 325

๗. ปวารณาสูตร

ว่าด้วยการทำปวารณา

    [๗๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับที่พระวิหารบุพพารามปราสาทของนางวิสาขาผู้เป็นมารดามิคารเศรษฐี กรุงสาวัตถี กับพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็นอรหันต์ทั้งหมด.

    ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้อันภิกษุสงฆ์แวดล้อม ประทับนั่งในที่แจ้ง เพื่อทรงปวารณาในวันอุโบสถที่ ๑๕ ค่ำ.

    ครั้นนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูเห็นภิกษุสงฆ์เป็นผู้นิ่งอยู่แล้ว จึงรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอปวารณาเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะไม่ติเตียนกรรมไรๆ ที่เป็นไปทางกายหรือทางวาจาของเราบ้างหรือ.

    [๗๔๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรลุกขึ้นจากอาสนะ. ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว ประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทางพระกายหรือทางพระวาจาของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้เลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังทางที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทรงยังทางที่ยังไม่เกิดขึ้นพร้อมให้เกิดขึ้นพร้อม ทรงบอกทางที่ยังไม่มีผู้บอก เป็นผู้ทรงรู้ทาง ทรงรู้แจ้งทาง ทรงฉลาดในทางข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สาวกทั้งหลายในบัดนี้เป็นผู้เดินตามทาง บัดนี้แลขอปวารณาพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจะไม่ทรงติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจาของข้าพระองค์บ้างหรือ.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 326

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สารีบุตร เราติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจาของเธอไม่ได้เลย สารีบุตร เธอเป็นบัณฑิต สารีบุตร เธอเป็นผู้มีปัญญามาก เป็นผู้มีปัญญาแน่นหนา สารีบุตร เธอเป็นผู้มีปัญญาชวนให้ร่าเริง เป็นผู้มีปัญญาไว เป็นผู้มีปัญญาหลักแหลม เป็นผู้มีปัญญาแหลมคม สารีบุตร โอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมยังจักรอันพระราชบิดาให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตามได้โดยชอบ ฉันใด สารีบุตร เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมยังธรรมจักรอันยอดเยี่ยม อันเราให้เป็นไปแล้วให้เป็นไปตามได้โดยชอบแท้จริง.

    ท่านพระสารีบุตรจึงกราบทูลอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ทรงติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทางกาย หรือทางวาจาของข้าพระองค์ไซร้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าจะไม่ทรงติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจาของภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้บ้างหรือ.

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สารีบุตร เราไม่ติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจา ของภิกษุ ๕๐๐ รูปแม้เหล่านี้ สารีบุตร เพราะบรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้ ภิกษุ ๑๐ รูป เป็นผู้ได้วิชชา ๓ อีก ๖๐ รูป เป็นผู้ได้อภิญญา ๖ อีก ๖๐ รูป เป็นผู้ได้อุภโตภาควิมุตติ ส่วนที่ยังเหลือเป็นผู้ได้ปัญญาวิมุตติ.

    ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะลุกขึ้นจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว ประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เนื้อความนี้ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ ข้าแต่พระสุคต เนื้อความนี้ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 327

    พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า เนื้อความนั้นจงแจ่มแจ้งกะเธอเถิด วังคีสะ.

    [๗๔๖] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ ได้สรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้าในที่เฉพาะพระพักตร์ด้วยคาถาทั้งหลายอันสมควรว่า

    วันนี้เป็นวันอุโบสถที่ ๑๕ ภิกษุ ๕๐๐ รูป มาประชุมกันเพื่อความบริสุทธิ์ ล้วนเป็นผู้ตัดกิเลสเครื่องประกอบและเครื่องผูกได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีความคับแค้น เป็นผู้มีภพใหม่สิ้นแล้ว เป็นผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐ พระเจ้าจักพรรดิห้อมล้อมด้วยอำมาตย์เสด็จเลียบพระมหาอาณาจักรนี้ ซึ่งมีสมุทรสาครเป็นขอบเขตโดยรอบ ฉันใด สาวกทั้งหลายผู้บรรลุไตรวิชชา ผู้ละมฤตยุราชเสียได้ ย่อมนั่งห้อมล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ชำนะสงความแล้ว เป็นผู้นำพวกอันหาผู้นำอื่นยิ่งกว่าไม่มี ฉันนั้น พระสาวกทั้งหมดเป็นบุตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ชั่วช้าไม่มีในสมาคมนี้ ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้หักลูกศรคือตัณหาเสียได้ ผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ ดังนี้.


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 328

อรรถกถาปวารณาสูตร

    ในปวารณาสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า ตทหุ ตัดเป็น ตสฺมึ อหุ ความว่า ในวันนั้น. ชื่อว่า อุโบสถ เพราะเป็นที่เข้าจำ. บทว่า อุปวสนฺติ ความว่า เป็นผู้เข้าจำอยู่ด้วยศีล หรือด้วยอดข้าว. ก็วันอุโบสถนี้นั้น มี ๓ อย่างโดยแยกเป็นวัน ๘ ค่ำ วัน ๑๔ ค่ำ และวัน ๑๕ ค่ำ เพราะฉะนั้น เพื่อจะห้ามวันทั้ง ๒ ที่เหลือจึงกล่าวว่า ปณฺณรเส. บทว่า ปวารณาย ได้แก่ ออกพรรษาปวารณาแล้ว. แม้คำว่า วิสุทฺธิปวารณา ดังนี้ ก็เป็นของปวารณานั้น. บทว่า นิสินฺโนโหติ ความว่า ในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมอันสมควรแก่กาล แก่บริษัทผู้มาประชุมกัน ทรงสรงพระวรกายที่ซุ้มน้ำ ทรงนุ่งห่ม ทำสุคตมหาจีวรเฉวียงบ่า ประทับนั่งชมสิริแห่งมณฑลพระจันทร์ ที่ตั้งขึ้นในปุริมทิศ บนบวรพุทธอาสน์ที่เขาจัดไว้ อิงเสากลาง. บทว่า ตุณฺหีภูตํ ความว่าเป็นผู้นิ่งแต่ทิศที่ทรงแลดู. ในหมู่ภิกษุเหล่านั้น แม้รูปเดียวก็มิได้มีความคะนองมือคะนองเท้า ทั้งหมดเงียบเสียงนั่งด้วยอิริยาบถสงบ. บทว่า อนุวิโลเกตฺวา ความว่า ทรงใช้พระเนตรที่มีประสาททั้ง ๕ ปรากฏชำเลืองดู. ศัพท์ว่า หนฺท เป็นนิบาต ลงในอรรถแห่งอุปสรรค. อักษรในคำว่า น จ เมกิญฺจิ ครหถ นี้ ใช้ในอรรถแห่งคำถามว่า น จ กิญฺจิ ดังนี้. อธิบายว่าพวกเธอจะติเตียนอะไรๆ เราหรือ ถ้าพวกเธอจะติเตียนว่ากล่าว เราต้องการให้พวกเธอว่ากล่าว. ด้วยคำว่า กายิกํ วา วาจสิกํ วา นี้ พระองค์ปวารณากายทวารและวจีทวารเท่านั้น มิได้ปวารณาถึงมโนทวาร. เพราะเหตุไร. เพราะปรากฏแล้ว. จริงอยู่ ในกายทวารและวจีทวารมีความผิดปรากฏ ในมโนทวาร


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 329

มิได้ปรากฏ แม้เมื่อนอนอยู่บนเตียงเดียวกัน ถามว่า เธอคิดอะไร จึงทราบวาระจิตได้. พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงปวารณาถึงมโนทวาร เพราะความไม่ปรากฏด้วยประการฉะนี้ มิใช่ไม่ทรงปวารณาเพราะไม่บริสุทธิ์. จริงอยู่ มโนทวารของพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เป็นพระโพธิสัตว์ ในคราวเป็นภูริทัตต์ฉัททันต์ สังขบาลและธรรมบาลเป็นต้น ก็บริสุทธิ์. บัดนี้ไม่มีคำที่จะต้องกล่าวในข้อนี้เลย.

    บทว่า เอตทโวจ ความว่า เพราะเธอดำรงอยู่ในตำแหน่งพระธรรมเสนาบดี เธอรับหน้าที่ปกครองภิกษุสงฆ์ จึงได้กราบทูลอย่างนี้ บทว่า น โข มยํ ภนฺเต ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ไม่ติเตียนอะไรๆ พระผู้มีพระภาคเจ้า. บทว่า กายิกํ วา วาจสิกํ วา นี้พระเถระกล่าวหมายเอาความบริสุทธิ์ ๔ อย่าง มีกายสมาจารที่บริสุทธิ์เป็นต้น ที่ไม่ต้องรักษา. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้ามิต้องทรงรักษาความบริสุทธิ์ ๔ อย่าง. ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความบริสุทธิ์ที่ตถาคตไม่ต้องรักษา ๔ อย่างเหล่านี้ ๔ อย่างอะไรบ้าง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมีกายสมาจารบริสุทธิ์ ตถาคตไม่มีกายทุจริตที่จะพึงรักษาว่า ผู้อื่นอย่าได้รู้สิ่งนี้ของเราเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมีวจีสมาจารบริสุทธิ์ ตถาคตไม่มีวจีทุจริตที่จะพึงรักษาว่า ผู้อื่นอย่าได้รู้สิ่งนี้ของเราเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลายตถาคตมีมโนสมาจารบริสุทธิ์ ตถาคตไม่มีมโนทุจริตที่จะพึงรักษาว่า ผู้อื่นอย่าได้รู้สิ่งนี้ของเราเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมีอาชีวะบริสุทธิ์ ตถาคตไม่มีมิจฉาชีวะที่จะพึงรักษาว่า ผู้อื่นอย่าได้รู้สิ่งนี้ของเราเลย ดังนี้.

    บัดนี้ พระเถระเมื่อสรรเสริญพระคุณตามเป็นจริงของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ภควา หิ ภนฺเต ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้นบทว่า อนุปฺปนฺนสฺส ความว่า อันสมณะอื่นไม่เคยให้เกิดขึ้น ตั้งแต่


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 330

พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า. บทว่า อสญฺชาตสฺส นี้ เป็นไวพจน์ของ บทว่า อนุปฺปนฺนสฺส นั่นเอง. บทว่า อนกฺขาตสฺส ได้แก่ คนอื่นมิได้แสดง. บทว่า ปจฺฉา สมนฺนาคตา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปก่อนแล้ว พระสาวกมาประชุมกันภายหลัง. ดังนั้น พระเถระอาศัยพระอรหัตตมรรคนั่นแล สรรเสริญพระคุณ เพราะเหตุที่พระคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้นของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหมดมาแล้ว เพราะอาศัยพระอรหัตตมรรคเท่านั้น. ด้วยเหตุนั้น พระคุณทั้งปวงย่อมเป็นอันท่านกล่าวแล้วแล. คำว่า อหญฺจ โข ภนฺเต นี้ พระเถระกล่าวปวารณาสมาจารทางกาย ทางวาจาทั้งของตนทั้งของสงฆ์ต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นอัครบุคคลในโลกพร้อมทั้งเทวโลก.

    บทว่า ปิตรา ปวตฺติตํ ความว่า เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิสวรรคตหรือทรงผนวชล่วงไป ๗ วัน จักรย่อมอันตรธาน ต่อจากนั้น เมื่อพระโอรสทรงนั่งบำเพ็ญจักรวัตติวัตรสิบอย่างหรือสิบสองอย่าง จักรอื่นย่อมปรากฏพระโอรสนั้นทรงให้จักรนั้นเป็นไป แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำจักรนั้นแหละให้เป็นวัตรเพราะมีอรรถอย่างเดียวกัน เหตุสำเร็จด้วยรัตนะ. ตรัสว่า ปิตรา ปวตฺติตํ ดังนี้. อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่พระโอรสนั้นตรัสว่า ขอพระองค์จงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด ข้าพระองค์จักปกครอง ดังนี้ ฉะนั้น จึงชื่อว่าย่อมปกครองอาณาจักรที่พระบิดาปกครอง. บทว่า สมฺมเทว อนุปวตฺเตสิ ความว่า จงให้เป็นไปตามโดยชอบ คือโดยนัย โดยเหตุ โดยการณะนั่นแล. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมคือ อริยสัจ ๔ พระเถระก็กล่าวตามธรรมคืออริยสัจ ๔ นั้นนั่นแหละ. เหตุนั้น จึงตรัสอย่างนี้. บทว่า อุภโตภาควิมุตฺตา ความว่า พ้นด้วยส่วนทั้ง ๒ คือพ้นจากรูปกายด้วยอรูปาวจรสมาบัติ พ้นจากนามกายด้วยอริยมรรค. บทว่า ปญฺาวิมุตฺตา ได้แก่หลุดพ้นด้วยปัญญา. คือ เป็นพระขีณาสพผู้ยังมิได้วิชชา ๓ เป็นต้น.


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 331

    บทว่า วิสุทฺธิยา ได้แก่ เพื่อต้องการความบริสุทธิ์. บทว่า สญฺโชนพนฺธนจฺฉิทา ได้แก่ ตัดกิเลส กล่าวคือเครื่องประกอบ และกิเลสกล่าวคือเครื่องผูกได้. บทว่า วิชิตสงฺคามํ ได้แก่ ชนะสงครามคือ ราคะ โทสะ โมหะ. แม้ชนะกองทัพมาร ก็ชื่อว่าชนะสงความ บทว่า สตฺถวาหํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่า สัตถวาหะ เป็นผู้นำหมู่ เพราะทรงนำหมู่เวไนยสัตว์ ยกขึ้นบนรถคือมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ให้ข้ามสังสารวัฏฏ์. ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้นำหมู่นั้น. บทว่า ปลาโป ได้แก่ ภายในว่างเปล่า คือทุศีล. ด้วยบทว่า อาทิจฺจพนฺธุนํ นี้ ท่านพระวังคีสะกล่าวว่า ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ เป็นศาสดาผู้ทรงทศพลญาณ ดังนี้.

    จบอรรถกถาปวารณาสูตรที่ ๗