ช่วยอธิบายคำว่า ภพ และ ภวังจิต
โดย Maxwell  25 ส.ค. 2563
หัวข้อหมายเลข 32698

ภพ และ ภวังจิต คืออะไร



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 26 ส.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ภพ ตามที่อรรถกถาอธิบายไว้ คือ เพราะ มี เพราะ เป็น จึงชื่อว่าภพ ดังนั้น ภพ คือ การเกิด การเป็นไป และการมี การเป็น ซึ่ง ก็ต้องพิจารณาครับว่า เป็นการเกิด การเป็นไปของอะไร และ อะไรที่มี ที่เป็น

ในความเป็นจริงนั้น สิ่งที่มีจริง คือ สภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูปและนิพพาน และ การที่ มีสัตว์ บุคคล มี สวรรค์ นรก มีสิ่งต่างๆ เพราะ อาศัยการเกิดเป็นไปของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น มี ปรมัตเกิดขึ้น จึงมีบัญญัติเรื่องราว

ดังนั้น คำว่า ภพ จึงหมายถึง ความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม ทั้งที่เป็น จิต เจตสิกและรูปด้วย อย่างเช่น ภพ คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปของจิตที่เกิดขึ้น ก็ชื่อว่าภพ และ แม้ที่อยู่ของสัตว์โลก ที่เป็นรูปธรรม ก็ชื่อว่า ภพ เพราะมีการเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม

ซึ่ง ภพ ยังแบ่งเป็นอีกหลายนัยดังนี้ ครับ

๑. สัมปัตติภพ

๒. สมบัติสมภพ

๓. วิปัตติภพ

๔. วิปัตติสมภพ

สัมปปัติภพ คือ สุคติโลกสวรรค์

สมบัติสมภพ หมายถึง กรรมดีที่เป็นกุศลกรรม ที่ทำให้เกิดในสุคติ

วิปัตติภพ คือ อบายภูมิ มี นรก เป็นต้น

วิปัตติสมภพ คือ อกุศลกรรมที่ทำให้เกิดในอบายภูมิ

จากที่กล่าว จะเห็นได้ครับว่า ภพ แสดงถึง ความมี ความเป็น ของสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิกและรูปที่เกิดขึ้นเป็นไป ดังนั้น โดยมากเราจะคิดถึงภพ ที่หมายถึงภพนี้ คือ ที่อยู่ของหมู่สัตว์เท่านั้น ภพหน้า ก็เป็นเทวโลก นรก เป็นต้น แต่ในความเป็นจริง กุศลกรรมที่กำลังทำอยู่ ก็ชื่อว่าเป็นภพแล้ว ที่จะทำให้เกิดในภพภูมิที่เป็นที่อยู่ของหมู่สัตว์ที่ดี และ การทำชั่ว อกุศลกรรม ก็เป็นภพในขณะนั้น ที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิ เป็นภพหน้าที่ไม่ดีได้

แต่เมื่อว่าโดยละเอียดแล้ว การเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมในขณะนี้ ก็เป็นการแสดงถึงความมี ความเป็น ของใคร ไม่ใช่ของสัตว์ บุคคล แต่เป็นการแสดงถึงความมี ความเป็นของสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา อยู่แต่ละขณะจิต

ดังนั้น ผู้ที่จะไม่มีภพเลยจริงๆ แม้ในภพนี้ คือ สภาพธรรมในขณะนี้ คือ พระอรหันต์ผู้ที่ปรินิพพาน ก็ไม่มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรม อันแสดงว่ายังมี ยังเป็น ยังมีภพอยู่ ครับ

เพราะฉะนั้น กำลังมีภพกันอยู่ และตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็ยังจะต้องมีภพหน้า ที่หมายถึง ขณะจิตต่อๆ ไป ไม่ใช่เพียงความหมายที่ยาวไกลที่เป็นภพหน้า มี นรก สวรรค์เท่านั้น ขณะจิตที่เกิดต่อๆ ไป ก็เป็นภพหน้าอยู่

ดังนั้น การจะดับภพ ดับการเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่เป็นไป ก็ด้วยการดับเหตุ คือ กิเลสที่เป็นต้นเหตุให้มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรม มีภพไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด ซึ่งก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้น ย่อมค่อยๆ ละกิเลสไปตามลำดับ จนถึงการไม่มีภพในที่สุด

เพราะฉะนั้น เมื่อฟังเรื่องภพแล้ว จึงย้อนกลับมาที่ตนเองว่า ตนเอง เป็นผู้ประกอบ สมบัติสมภพ คือ กรรมดีที่เป็นให้เกิดสุคติ หรือว่า ประกอบ วิปัตติสมภพ ที่เป็นกรรมชั่ว ที่ทำให้เกิดในอบาย เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว จึงอบรมเหตุที่จะทำให้ สมบัติสมภพ กุศลกรรมเจริญ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม

ภวังคจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้จนกว่าจะจุติ ในชีวิตประจำวันมีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ สลับกับภวังคจิต (ที่เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยทวารทั้ง ๖) เพราะเหตุว่า ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับแล้ว ตั้งแต่ขณะแรกในภพนี้ชาตินี้ ส่วนจุติจิต ซึ่งเป็นจิตขณะสุดท้ายของภพนี้ชาตินี้ ยังไม่เกิดขึ้น แต่ต้องเกิดแน่ๆ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถจะทราบได้ว่าจะเป็นที่ไหน เวลาใด

ทุกขณะของชีวิต ก็คือ การเกิดดับสืบต่อกันของจิตแต่ละขณะๆ เป็นไปอย่างไม่ขาดสาย จิต เมื่อจำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆ แล้ว มี ๒ ประเภท คือ จิตที่เป็นวิถีจิต กับจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ซึ่งก็ต้องกล่าวถึงความหมายของจิต ๒ ประเภทนี้เป็นเบื้องต้นก่อนว่าวิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ในการรู้แจ้งอารมณ์

จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์โดยไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวารเลย จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต มี ๓ ประเภท คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต จะเห็นได้ว่าปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว เป็นจิตขณะแรกในภพนี้ชาตินี้ จะไม่มีปฏิสนธิจิต ๒ หรือ ๓ ขณะในชาติเดียวกัน ส่วนจุติจิตยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตในชีวิตประจำวันนี้ ก็คือ ภวังคจิต นั่นเอง

ในชีวิตประจำวัน วิบากจิต (จิตที่เป็นผลของกรรม) ที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น สำหรับผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด นอกจากจะมีวิบาก อันเป็นผลของกุศล ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เช่น ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ที่ดี ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แล้ว ยังมีวิบากจิตอีกประเภทหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเป็นไป ทำกิจหน้าที่ดำรงรักษาความเป็นบุคคลนี้ไว้จนกว่าจะจุติ นั่นก็คือภวังคจิต ขณะนี้ก็มีภวังคจิตเกิดขึ้นเป็นไป จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย

จิตทุกขณะเมื่อเกิดขึ้นย่อมทำกิจหน้าที่ เช่น ภวังคจิต เกิดขึ้นก็ทำกิจหน้าที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) เกิดขึ้นก็ทำหน้าที่เห็น เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นธรรมที่มีจริงทั้งหมด ก็ต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย khampan.a  วันที่ 26 ส.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญคือความเข้าใจถูกเห็นถูกต้องแต่ต้นจริงๆ คำว่า ภพ มาจากภาษาบาลีว่า ภว (ว่าโดยศัพท์แล้ว มีหลายความหมาย หมายถึง ความมีความเป็น ความเจริญ ความเกิดขึ้นเป็นไป)

ภพ หมายถึง สถานที่เกิดของหมู่สัตว์ มี ๓๑ ภพภูมิ ได้แก่ อบายภูมิ ๔ มนุษย์ภูมิ ๑ สวรรค์ ๖ ชั้น รูปพรหมภูมิ ๑๖ อรูปพรหมภูมิ ๔ หรือ หมายถึง ความบังเกิดขึ้นเป็นบุคคลต่างๆ

ภพ ในปฏิจจสมุปบาท ภพมี ๒ ความหมาย คือ

กรรมภพ หมายถึง เจตนาเจตสิก (อกุศลเจตนา โลกียกุศลเจตนา) และ

อุปปัตติภพ หมายถึง ผลของเจตนา (โลกียวิบาก รวมทั้งเจตสิกที่ประกอบ และกัมมชรูป) ด้วย

ในอรรถกถา โลกสูตร แสดงไว้ว่า ไม่ว่าจะเป็นภพใดๆ ก็ตาม ไม่พ้นไปจาก ขันธ์ คือ ความเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไป


ภวังคจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ จนกว่าจะจุติ ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสทั้งหมดได้อย่างหมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์แล้วดับขันธปรินิพพาน ก็ยังมีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ยังมีจิต เจตสิก และ รูป เกิดขึ้นเป็นไป จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น เมื่อจุติจิต เกิดขึ้นแล้วดับไป จิตขณะต่อไป คือ ปฏิสนธิจิตในภพต่อไป ก็จะเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีจิตอื่นคั่น แต่จะเกิดเป็นใครในภพไหนนั้น ขึ้นอยู่กับกรรม เป็นสำคัญ ว่า กรรมใด จะให้ผลนำเกิด กล่าวคือ ถ้าเป็นผลของกุศล ก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิ เกิดเป็นมนุษย์ หรือเกิดเป็นเทวดา ถ้าเป็นผลของอกุศล ก็ทำให้เกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิ ถ้าเป็นผลของรูปฌาน ก็ทำให้เกิดเป็นรูปพรหมบุคคล ในรูปพรหมภูมิ และถ้าเป็นผลของอรูปฌาน ก็ทำให้เกิดเป็นอรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิ เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว จิตที่กระทำปฏิสนธิ มีทั้งหมด ๑๙ ดวง คือ มหาวิบาก ๘ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ อุเบกขาสันตรีณอกุศวิบาก ๑ รูปาวจรวิบาก ๕ และ อรูปาวจรวิบาก ๔ ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นวิบากจิตประเภทใดที่ทำกิจปฏิสนธิ ในภพนั้น เมื่อวิบากจิตใดที่ทำกิจปฏิสนธิ วิบากจิตนั้น ก็ทำกิจภวังค์และทำกิจจุติ ในภพนั้นๆ ด้วย ครับ

ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ ครับ

ภวังคจิตคืออะไร

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 3    โดย chatchai.k  วันที่ 26 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย arin  วันที่ 26 ส.ค. 2563

อธิบายได้ดีมากเลยครับ ได้รับความเข้าใจมากกว่าผู้บรรยายใน ซีดี อีกครับ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย arin  วันที่ 26 ส.ค. 2563

อยากให้มีการรวบรวมคำถาม และคำตอบ ออกมาเป็นหนังสือ จะได้ประโยชน์มากเลยครับ เพราะ คุณ paderm และคุณ khampan อธิบายได้ ละเอียดและเข้าใจ กว่า ฟังจาก ซีดี

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ