อุปสีวปัญหาที่ ๖ ว่าด้วยสิ่งหน่วงเหนี่ยว
โดย บ้านธัมมะ  14 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 40231

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 917

สุตตนิบาต

ปารายนวรรคที่ ๕

อุปสีวปัญหาที่ ๖

ว่าด้วยสิ่งหน่วงเหนี่ยว


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 47]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 917

อุปสีวปัญหาที่ ๖

ว่าด้วยสิ่งหน่วงเหนี่ยว

[๔๓๐] อุปสีวมาณพทูลถามปัญหาว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยะ ข้าพระองค์เป็นผู้เดียว ไม่อาศัยธรรมหรือบุคคลอะไรแล้ว ไม่สามารถจะข้ามห้วงน้ำใหญ่คือกิเลสได้ ข้าแต่พระองค์ผู้สมันตจักษุ ขอพระองค์จงตรัสบอกที่หน่วงเหนี่ยว อันข้าพระองค์ พึงอาศัยข้ามห้วงน้ำคือกิเลสนี้ แก่ข้าพระองค์เถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพยากรณ์ว่า ดูก่อนอุปสีวะ

ท่านจงเป็นผู้มีสติ เพ่งอากิญจัญญายตนสมาบัติ อาศัยอารมณ์ว่า ไม่มีดังนี้แล้ว ข้ามห้วงน้ำคือกิเลสเสียเถิด ท่าน จงการละกามทั้งหลายเสีย เป็นผู้เว้นจากความ สงสัย เห็นธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหาให้แจ่มแจ้งทั้งกลางวันกลางคืนเถิด.

อุ. ผู้ใดปราศจากความกำหนัดยินดีในกามทั้งปวงละสมาบัติอื่นเสีย อาศัยอากิญ-


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 918

จัญญายตนสมาบัติ น้อมใจลงในสัญญาวิโมกข์ (คืออากิญจัญญายตนสมาบัติ ธรรมเปลื้องสัญญา) เป็นอย่างยิ่ง ผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหว พึงตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้นแลหรือ.

พ. ดูก่อนอุปสีวะ ผู้ใดปราศจากความกำหนัดยินดีในกามทั้งปวง ละสมาบัติอื่นเสีย อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ น้อมใจลงในสัญญาวิโมกข์เป็นอย่างยิ่ง ผู้นั้นเป็น ผู้ไม่หวั่นไหวพึงตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้น.

อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักษุ ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหว พึงตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้นสิ้นปีแม้มากไซร้ ผู้นั้นพึงพ้นจากทุกข์ต่างๆ ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้นแหละ พึงเป็นผู้เยือกเย็น หรือว่าวิญญาณของผู้เช่นนั้น พึงเกิดเพื่อถือปฏิสนธิอีก.

พ. ดูก่อนอุปสีวะ มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่ถึงการนับ ฉันใด เปรียบเหมือนเปลวไฟ อันถูกกำลังลมพัดไปแล้ว ย่อมถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่ถึงการนับ ฉันนั้น.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 919

อุ. ท่านผู้นั้นถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ท่านผู้นั้นไม่มี หรือว่าท่านผู้นั้นเป็นผู้ไม่มีโรค ด้วยความเป็นผู้เที่ยง ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี ขอพระองค์จงตรัสพยากรณ์ความข้อนั้นให้สำเร็จประโยชน์แก่ข้าพระองค์เถิด เพราะว่าธรรมนั้น พระองค์ทรงรู้แจ้งแล้วด้วยประการนั้น.

พ. ดูก่อนอุปสีวะ ท่านผู้ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่มีประมาณ ชนทั้งหลายจะพึงกล่าวท่านผู้นั้นด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้นใด กิเลสมีราคะเป็นต้นนั้นของท่านไม่มี เมื่อธรรม (มีขันธ์เป็นต้น) ทั้งปวง ท่านเพิกถอนขึ้นได้แล้ว แม้ทางแห่งถ้อยคำทั้งหมด ก็เป็นอันท่านเพิกถอนขึ้นได้แล้ว.

จบอุปสีวมาณวกปัญหาที่ ๖


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 920

อรรถกถาอุปสีวสูตร (๑) ที่ ๖

อุปสีวสูตร มีคำเริ่มต้นว่า เอโก อหํ ข้าพระองค์เป็นผู้เดียว ดังนี้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า มหนฺตโมฆํ คือ ห้วงน้ำใหญ่. บทว่า อนิสฺสิโต ไม่อาศัย คือไม่อาศัยธรรมหรือบุคคล. บทว่า โน วิสหามิ คือ ข้าพระองค์ไม่สามารถ. บทว่า อารมฺมณํ เครื่องหน่วงเหนี่ยวคือธรรมเป็นที่ อาศัย บทว่า ยํ นิสฺสิโต ได้แก่ อาศัยธรรมหรือบุคคล.

บัดนี้ เพราะพราหมณ์นั้นได้อากิญจัญญายตนะ จึงไม่รู้ธรรมเป็นที่อาศัยแม้มีอยู่นั้น ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงธรรมเป็นที่อาศัย และทางอันเป็นเครื่องนำออกไปให้ยิ่งขึ้นแก่เขา จึงตรัสคาถาว่า อากิญฺจญฺํ อากิญจัญญายตนสมาบัติ ดังนี้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า เปกฺขมาโน แปลว่าเพ่ง คือมีสติเข้าอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้น และออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติแล้วเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น. บทว่า นตฺถีติ นิสฺสาย อาศัยว่าไม่มี คือทำสมาบัติ ที่เป็นไปแล้วนั้นให้เป็นอารมณ์ว่า ไม่มีอะไร. บทว่า ตรสฺสุ โอฆํ ข้ามห้วงน้ำคือกิเลสเสียได้. คือข้ามโอฆะ ๔ อย่างตามสมควร ด้วยวิปัสสนาอันเป็นไปแล้วตั้งแต่นั้นมา. บทว่า กถาหิ คือจากความสงสัย. บทว่า ตณฺหกฺขยํ รตฺตมหาภิปสฺส เห็นธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหาให้แจ่มแจ้งทั้งกลางคืนกลางวัน คือจงเห็นนิพพานทำให้แจ่มแจ้งทั้งกลางคืนและกลางวัน. ด้วยบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถึงธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างเป็นสุขในปัจจุบันแก่ อุปสีวมาณพนั้น.


๑. บาลีเป็น อุปสีวปัญหา.


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 921

บัดนี้ อุปสีวมาณพครั้นได้ฟังว่า ละกามทั้งหลาย พิจารณาเห็นกามที่ตนละได้แล้วด้วยการข่มไว้ จึงกล่าวคาถาว่า สพฺเพสุ ในกามทั้งปวง ดังนี้.

บทว่า หิตฺวา มญฺํ (๑) ละสมาบัติอื่นเสียได้ คือละสมาบัติอื่น ๖ อย่าง ที่ต่ำกว่าอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้น. บทว่า สญฺาวิโมกฺเข ปรเม น้อมใจลงในสัญญาวิโมกข์เป็นอย่างยิ่ง คือน้อมใจลงในอากิญจัญญายตนสมาบัติ อันเป็นสัญญาวิโมกข์สูงสุดในบรรดาสัญญาวิโมกข์ ๗ อย่าง. บทว่า ติฏฺเ นุ โส ตตฺถ อนานุวายี (๒) อุปสีวมาณพทูลถามว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหว พึงตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกหรือหนอ.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงรับรองการตั้งอยู่ประมาณ ๖๐,๐๐๐ กัป ของบุคคลนั้นจึงตรัสคาถาที่สาม. อุปสีวมาณพได้ฟังการตั้งอยู่ ในคาถาที่สามของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแล้ว บัดนี้ เมื่อจะทูลถามความเป็นสัสสตทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐิ จึงกล่าวคาถาว่า ติฏฺเ เจ หากพึงตั้งอยู่ ดังนี้ เป็นต้น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า ปูคมฺปิ วสฺสานํ สิ้นปีแม้มาก คือสิ้นปีแม้นับได้ไม่น้อย. ปาฐะว่า ปูคมฺนิ วสฺสานิ บ้าง. ในบทนั้นพึงทำฉัฏฐีวิภัตติให้เป็นปฐมาวิภัตติ โดยเปลี่ยนแปลงวิภัตติ. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปูคํ นี้ ควรแปลว่า มาก. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ปคานิ บ้าง. ปาฐะ ก่อนดี กว่าปาฐะทั้งหมด. บทว่า ตตฺเถว โส สีติ สิยา วิมุตฺโต ผู้นั้นพึงพ้น จากทุกข์ต่างๆ ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้นแล พึงเป็นผู้เย็น ความว่า บุคคลนั้นพึงพ้นจากทุกข์ต่างๆ ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้นแล พึงเป็นผู้ถึงความเย็น เป็นผู้เที่ยงที่จะบรรลุนิพพานตั้งอยู่. บทว่า ภเวถ


๑. บาลีเป็น หิตฺวามญฺํ, ๒. ม.ยุ. อนานุยายี.


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 922

วิญฺาณํ ตถาวิธสฺส วิญญาณของผู้เช่นนั้นพึงเกิด คือ อุปสีวมาณพ ถามถึงความขาดสูญ ด้วยคำว่า หรือว่าวิญญาณของบุคคลเช่นนั้นพึงดับ เพราะไม่ยึดมั่น, ถามถึงแม้ปฏิสนธิของบุคคลนั้น ด้วยคำว่า หรือว่าวิญญาณพึงมีเพื่อถือปฏิสนธิอีก.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงถึงการปรินิพพาน เพราะไม่ยึดมั่นของพระอริยสาวกผู้เกิดแล้วในอากิญจัญญายตนภพนั้นว่าไม่เข้าไปอาศัยอุจเฉททิฏฐิ และสัสสตทิฏฐิ แก่อุปสีวมาณพนั้น จึงตรัสคาถาว่า อจฺจิ ยถา เหมือนเปลวไฟ ดังนี้เป็นต้น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อตฺถํ ปเลติ คือถึงการตั้งอยู่ไม่ได้. บทว่า น อุเปติ สงฺขํ ไม่ถึงการนับ คือพูดไม่ได้ว่า ไปสู่ทิศโน้น. บทว่า เอวํ มุนิ นามกายา วิมุตฺโต มุนีพ้นแล้วจากนามกายฉันนั้น คือ พระเสกขมุนี ก็ฉันนั้น เกิดขึ้นแล้วในอากิญจัญญายตนภพนั้น พ้นจากรูปกายในกาล ก่อนตามปกติแล้วยังมรรคที่ ๔ ให้เกิดขึ้นในภพนั้น จึงพ้นแล้วแม้จากนามกายอีก เพราะกำหนดรู้นามกายเป็นพระขีณาสพผู้อุภโตภาควิมุต ย่อมเข้าถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ คือปรินิพพานด้วยอนุปาทาปรินิพพาน ย่อมไม่เข้าถึงการนับว่า เป็นกษัตริย์ ดังนี้เป็นต้นฉันนั้น.

บัดนี้ อุปสีวมาณพได้ฟังว่า มุนีย่อมถึงการตั้งอยู่ไม่ได้แล้วเมื่อไม่เข้าใจความโดยแยบยลของบทนั้น จึงกล่าวคาถาว่า ตฺถํ คโต โส ท่านผู้นั้น ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้.

บทนั้นมีความดังนี้ ท่านผู้นั้นถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ท่านผู้นั้นไม่มี หรือว่าท่านผู้นั้นเป็นผู้ไม่มีโรค เป็นผู้มีความไม่แปรปรวนไปเป็นธรรมดา


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 923

ด้วยความเป็นผู้เที่ยงเพราะเป็นสัสสตทิฏฐิ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี ขอพระองค์ได้โปรดตรัสพยากรณ์ความข้อนั้นให้สำเร็จประโยชน์แก่ข้าพระองค์เถิด. เพราะอะไร. เพราะว่าธรรมนั้นอันพระองค์ทรงรู้แจ้งแล้วแท้จริง.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงถึงเรื่องที่อุปสีวมาณพ ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น จึงตรัสคาถาว่า อตฺถํ คตสฺส ท่านผู้ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ดังนี้เป็นต้น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อตฺถํ คตสฺส ได้แก่ปรินิพพานเพราะไม่ถือมั่น. บทว่า น ปมาณมตฺถิ ไม่มีประมาณ คือไม่มีประมาณแห่งรูปเป็นต้น. บทว่า เยน นํ วชฺชุ คือชนทั้งหลายพึงกล่าวท่านผู้นั้นด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้นใด. บทว่า สพฺเพสุ ธมฺเมสุ ได้แก่ธรรมมีขันธ์เป็นต้นทั้งปวง. บทที่เหลือในทุกบทชัดดีแล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรแม้นี้ด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัต ด้วยประการฉะนี้.

จบเทศนา ได้มีผู้ตรัสรู้ธรรม เช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วนั่นแหละ ดังนี้แล.

จบอรรถกถาอุปสีวสูตรที่ ๖ แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย

ชื่อปรมัตถโชติกา